กรมพัฒนาที่ดิน ผลักดัน “น้ำหมักชีวภาพปลาหมอคางดำ” พร้อมสร้างการรับรู้
จากปัญหาการแพร่กระจายและการรุกรานของปลาหมอคางดำ ได้สร้างความเดือดร้อนให้เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและชาวประมงในพื้นที่เป็นอย่างมาก เนื่องจากปลาหมอคางดำมีความต้องการอาหารอยู่ตลอดเวลา ทำให้สัตว์น้ำขนาดเล็ก และปลาชนิดอื่นๆ ในพื้นถิ่นสูญพันธ์ลง ถือเป็นเรื่องสำคัญ และถูกยกเป็นวาระแห่งชาติ ซึ่งกรมพัฒนาที่ดิน เป็นหนึ่งในหน่วยงานที่ดำเนินการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ ซึ่งปลาหมอคางดำ เป็นสิ่งมีชีวิตที่ปรับตัวให้เข้ากับทุกสภาพแวดล้อม สามารถอาศัยอยู่ในสภาพน้ำที่มีความเค็มสูง และในน้ำจืดได้ รวมทั้งสามารถปรับตัวกับอาหารได้ภายใน 1 ชั่วโมง ทำให้ปลาหมอคางดำเจริญเติบโต และแพร่ขยายพันธุ์ได้อย่างรวดเร็ว โดยสามารถขยายพันธุ์ได้ทุกๆ 22 วัน จึงเป็นสาเหตุที่ปลาชนิดนี้มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว และเป็นอันตรายต่อระบบนิเวศในปัจจุบัน
นายอธิวัฒน์ สิทธิภิญญาพัฒน์ ผู้อำนวยการกองเทคโนโลยีชีวภาพทางดิน กรมพัฒนาที่ดิน กล่าวว่า จากนโยบายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ให้ความสำคัญถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรชาวประมง ผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ทั้งในแหล่งน้ำธรรมชาติและบ่อเลี้ยงสัตว์น้ำ เนื่องจากปลาชนิดนี้ สามารถปรับตัวกับสภาพแวดล้อมที่อาศัยอยู่ได้อย่างดี แพร่พันธุ์เร็ว มีพฤติกรรมการกินปลาและสัตว์น้ำอื่น ๆ ที่อาศัยอยู่ในแหล่งน้ำ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกร ผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ จึงมีข้อสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน ซึ่งกรมพัฒนาที่ดิน เป็นหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายให้ดำเนินการส่งเสริมให้ความรู้การผลิตน้ำหมักชีวภาพจากปลาหมอคางดำ ด้วยสารเร่งซุปเปอร์ พด.2 กับหมอดินอาสาและกลุ่มเกษตรกร นำไปใช้ในไม้ผลและสวนยางพารา
ทั้งนี้ น้ำหมักชีวภาพจากปลาหมอคางดำ เป็นน้ำหมักชีวภาพชนิดที่มีคุณภาพ เนื่องจากมีธาตุอาหารสูง ซึ่งช่วยเพิ่มธาตุอาหารหลักและธาตุอาหารรอง ซึ่งกรมพัฒนาที่ดิน โดยสำนักวิทยาศาสตร์เพื่อการพัฒนาที่ดิน ได้มีการศึกษาวิจัยสูตรในการผลิตน้ำหมักชีวภาพจากปลาหมอคางดำ ที่ได้มาตรฐาน จำเป็นต่อการเจริญเติบโต และการให้ผลผลิตพืช ซึ่งสามารถเพิ่มคุณภาพของน้ำหมักได้โดยเพิ่มกรดฮิวมิก เพื่อให้ได้น้ำหมักชีวภาพคุณภาพสูงที่มีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น และส่งเสริมให้เกษตรกรผลิต รวมถึงใช้น้ำหมักชีวภาพจากปลาหมอคางดำ ด้วยสารเร่งซุปเปอร์ พด.2 ลดการใช้สารเคมี ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และผลกระทบต่อระบบนิเวศ
นายอธิวัฒน์ สิทธิภิญญาพัฒน์ ผู้อำนวยการกองเทคโนโลยีวภาพทางดิน กรมพัฒนาที่ดิน กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมพัฒนาที่ดิน มีการส่งเสริมให้เกษตรกรผลิตน้ำหมักชีวภาพโดยใช้ผลิตภัณฑ์จุลินทรีย์ สารเร่งซุปเปอร์ พด.2 ซึ่งเป็นกลุ่มจุลินทรีย์ที่มีคุณสมบัติ เพิ่มประสิทธิภาพการย่อยโปรตีน ไขมัน ช่วยลดกลิ่นเหม็นระหว่างการหมัก และเพิ่มการละลายธาตุอาหารในการหมักเปลือกไข่ ก้าง และกระดูกสัตว์ในระยะเวลาสั้น ให้มีและสิทธิภาพ โดยมีคำแนะนำและสูตรในการผลิตน้ำหมักชีวภาพจากปลาหมอคางดำของกรมพัฒนาที่ดินรวมทั้งวัสดุอินทรีย์ต่าง ๆ เมื่อหมอดินอาสาได้ปลาไปดำเนินการผลิตน้ำหมักชีวภาพจากปลาหมอคางดำ จะใช้เวลาหมักจำนวน 21-25 วัน และเมื่อหมักครบตามระยะเวลาที่กำหนด จะมีการสุ่มเก็บตัวอย่างเพื่อวิเคราะห์คุณลักษณะตามสูตรการผลิต ติดฉลากคำแนะนำวิธีการใช้ จากนั้น ส่งมอบแก่ การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ซึ่ง กยท. รับซื้อน้ำหมักชีวภาพจากปลาหมอคางดำ จากหมอดินอาสา ในราคา 27 บาท/ลิตร นำไปแจกจ่ายแก่เกษตรกร เพื่อนำไปใช้ในสวนยางพารา ช่วยลดต้นทุน และเพิ่มผลผลิตในพื้นที่สวนยางพาราโครงการแปลงใหญ่กว่า 200,000 ไร่และพืชประเภทอื่น เช่น พืชสวน พืชไร่
กรมพัฒนาที่ดิน โดยกองเทคโนโลยีชีวภาพทางดิน มีคำแนะนำและสูตรในการผลิตน้ำหมักชีวภาพจากปลาหมอคางดำ และจากวัสดุอินทรีย์ต่าง ๆ รวมทั้งสนับสนุนสารเร่งซุปเปอร์ พด.2 ให้กับเกษตรกร และประชาชนผู้สนใจทั่วประเทศ สามารถรับบริการได้ ณ กรมพัฒนาที่ดิน กรุงเทพมหานคร ส่วนภูมิภาค รับบริการ ณ สำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 1 – 12 สถานีพัฒนาที่ดิน 77 จังหวัด และหมอดินอาสา ทั่วประเทศ หรือ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วน 1760
Advertisement