นายอิทธิ ศิริลัทธยากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวภายหลังเป็นประธานพิธีเปิด โครงการรณรงค์ฉีดวัคซีนป้องกันโรคลัมปี สกิน และมอบวัคซีนป้องกันโรคลัมปี สกิน แก่อาสาปศุสัตว์ รวมทั้งปล่อยขบวนรถเจ้าหน้าที่และอาสาปศุสัตว์ เพื่อรณรงค์ประชาสัมพันธ์และสร้างการตระหนักรู้เกี่ยวกับวัคซีนป้องกันโรคลัมปี สกินให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงโค กระบือ ณ ลานทองฟาร์ม ต.ป่าตึง อ.แม่จัน จ.เชียงราย
ระบุว่า รัฐบาลให้ความสำคัญในการพัฒนาปศุสัตว์ของประเทศไทยให้มีขีดความสามารถในการผลิตและการแข่งขันทางด้านการส่งออก จึงได้จัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2567 งบกลางรายการสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นเพื่อควบคุมโรคลัมปี สกินในโค กระบือ ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2567 ให้กับกรมปศุสัตว์ เพื่อดำเนินการจัดซื้อวัคซีนป้องกันโรคลัมปี สกิน จำนวน 7,850,000 โดส ซึ่งจะเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดการระบาดรุนแรงและสร้างความเสียหายให้กับพี่น้องเกษตรกร และเป็นการเตรียมความพร้อมสินค้าปศุสัตว์ สร้างความเชื่อมั่นให้กับประเทศคู่ค้า
สำหรับ จ.เชียงราย เป็นพื้นที่นำร่องการสร้างพื้นที่ปลอดโรค (Regionalization) และการสร้างคอกกักเพื่อการส่งออกตามแผนของกรมปศุสัตว์ เพื่อผลักดันการส่งออกโค กระบือมีชีวิตไปยังสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนค่าขนส่งและโลจิสติกส์ของเกษตรกร และเป็นการเปิดช่องทางการค้าเส้นทางใหม่ โดย จ.เชียงราย ได้รับการจัดสรรวัคซีน จำนวน 78,330 โดส ครอบคลุมจำนวนประชากรโคและกระบือทั้งหมดในจังหวัด นอกจากนี้ กามปศุสัตว์ยังมีแผน Kick Off โครงการฯ ครั้งที่ 2 ในวันที่ 28 ก.พ. 68 ณ จ.ตาก อีกด้วย
"โรคระบาดในสัตว์ยังเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการส่งออกสินค้าปศุสัตว์ของประเทศไทย โดยเฉพาะโรคปากและเท้าเปื่อยและโรคลัมปี สกิน ดังนั้นการป้องกันและควบคุมโรคที่มีประสิทธิภาพไม่ให้มีการเกิดโรคภายในประเทศ ร่วมกับการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันต่อโรคลัมปี สกินให้กับโค กระบือในพื้นที่ นับเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้ต่างประเทศยอมรับและเชื่อมั่นในสินค้าปศุสัตว์ของประเทศไทยเพิ่มขึ้น"รมช.อิทธิ กล่าว
รมช.อิทธิ กล่าวอีกว่า กระทรวงเกษตรฯ เร่งเดินหน้าเจรจาเปิดตลาดส่งออกโคมีชีวิตและผลิตภัณฑ์จากไทยไปสาธารณรัฐประชาชนจีนมาอย่างต่อเนื่อง โดยขณะนี้อยู่ระหว่างพิจารณาของสำนักงานศุลกากรแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (GACC) และคาดว่าจะได้รับข่าวดีในเร็วนี้ เชื่อมั่นว่าหากสามารถส่งออกไปจีนสำเร็จ จะเป็นการกระตุ้นราคาโคเนื้อให้เกษตรกร ทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น มีอาชีพที่มั่นคง
สำหรับสถานการณ์การผลิตโคเนื้อ ปี 2567 มีโคเนื้อทั้งสิ้น 9.9 ล้านตัว เพิ่มขึ้นจาก 9.65 ล้านตัว ของปี 2566 หรือคิดเป็นร้อยละ 2.58 ด้านผลผลิตโคเนื้อ มีจำนวน 1.18 ล้านตัว ลดลงจาก 1.29 ล้านตัว ของปี 2566 หรือร้อยละ 9.04 ในด้านการตลาด ส่งออกโคมีชีวิตรวม 133,416 ตัว มูลค่า 3,242.56 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 87,144 ตัว ของปี 2566 ร้อยละ 53.10 โดยส่งออกไปประเทศเวียดนาม 43.64% มาเลเซีย 28.64% ลาว 27.34% และอื่นๆ 0.38%
ทั้งนี้ เกษตรกรสามารถขอรับบริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคดังกล่าวได้ที่สำนักงานปศุสัตว์จังหวัด หรือสำนักงานปศุสัตว์อำเภอใกล้บ้าน หรือหน่วยงานอื่นๆ ที่ให้ความร่วมมือและสนับสนุนการดำเนินงานดังกล่าวของกรมปศุสัตว์ในพื้นที่ เช่น สหกรณ์โคนม/ศูนย์รับน้ำนม องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นต้น
/////
Advertisement