ยอดอุบัติเหตุปีใหม่ 4 วัน 1,570 ครั้ง เจ็บ 1,574 ราย ดับแล้ว 190 ราย ขณะที่ กทม.เสียชีวิตสะสมสูงสุด 19 จังหวัดตายเป็นศูนย์
วันที่ 2 ม.ค. 67 ที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมการแพทย์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมควบคุมโรค ในฐานะประธานแถลงสรุปผลการดำเนินงานของ ศูนย์อำนวยการป้องกัน และลดอุบัติเหตุทางถนน (ศปถ.) ช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ. 2567 ว่า
สถิติอุบัติเหตุทางถนนประจำวันที่ 1 ม.ค. 67 ซึ่งเป็นวันที่สี่ของการรณรงค์ “ขับขี่ปลอดภัย เมืองไทยไร้อุบัติเหตุ” เกิดอุบัติเหตุ 419 ครั้ง ผู้บาดเจ็บ 422 คน ผู้เสียชีวิต 62 ราย สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ขับรถเร็ว ร้อยละ 39.14 ดื่มแล้วขับ ร้อยละ 30.55
ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 86.51 ส่วนใหญ่เกิดบนเส้นทางตรง ร้อยละ 85.44 ถนนกรมทางหลวง ร้อยละ 39.86 ถนนใน อบต./หมู่บ้านร้อยละ 33.17 ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ช่วงเวลา 00.01 – 01.00 น. ร้อยละ 10.26 ผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตสูงสุด อยู่ในช่วงอายุ 20 - 29 ปี ร้อยละ 17.36 จัดตั้งจุดตรวจหลัก 1,785 จุด เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน 51,672 คน
โดยจังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ประจวบคีรีขันธ์ และสงขลา (จังหวัดละ 15 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด ได้แก่ ประจวบคีรีขันธ์ (22 คน) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร (5 ราย)
นพ.ธงชัย กล่าวต่อว่า สรุปอุบัติเหตุทางถนนสะสมในช่วง 4 วันของการรณรงค์ (29 ธ.ค. 66 – 1 ม.ค. 67) เกิดอุบัติเหตุรวม 1,570 ครั้ง ผู้บาดเจ็บ รวม 1,574 คน ผู้เสียชีวิต รวม 190 ราย จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุดได้แก่ กาญจนบุรี (57 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด ได้แก่ กาญจนบุรี (56 คน) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร (13 ราย) จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิต (ตายเป็นศูนย์) มี 19 จังหวัด
อย่างไรก็ตาม วันนี้ (2 ม.ค. 67) ประชาชนบางส่วนเดินทางถึง กทม. และจังหวัดเขตเศรษฐกิจในภาคต่างๆ แล้ว บางส่วนยังอยู่ระหว่างการเดินทางกลับจากภูมิลำเนาและท่องเที่ยวเข้าสู่ก กทม. ทำให้ถนนสายหลักในบางจุดมีปริมาณการจราจรหนาแน่น ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนจึงได้ประสานจังหวัดปรับแนวทางการดูแลความปลอดภัยให้สอดคล้องกับการเดินทางและปัจจัยเสี่ยง โดยสนธิกำลังเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการในจุดตรวจและบริการประชาชนในเส้นทางสายหลัก ทางลัด และทางเลี่ยงเมือง เพื่อดูแลความปลอดภัยและอำนวยการจราจรให้มีความคล่องตัว ควบคู่กับการคุมเข้มพฤติกรรมเสี่ยงที่เป็นสาเหตุหลักของการเกิดอุบัติเหตุ โดยเฉพาะการขับรถเร็วในเส้นทางตรงที่ผู้ขับขี่สามารถใช้ความเร็วสูงได้ต่อเนื่อง
อีกทั้งเพิ่มความถี่ในการเรียกตรวจยานพาหนะและรถโดยสารสาธารณะทั้งประจำทางและไม่ประจำทาง เพื่อชะลอความเร็วรถและประเมินความพร้อมของผู้ขับขี่ โดยเฉพาะเส้นทางตรงที่มีระยะทางยาวที่มักเกิดอุบัติเหตุจากการง่วงหลับใน นอกจากนี้ให้เตรียมความพร้อมการช่วยเหลือผู้ประสบเหตุ ทั้งบุคลากรทางการแพทย์ โรงพยาบาล อาสาสมัคร กู้ชีพกู้ภัย ให้พร้อมเข้าถึงจุดเกิดเหตุและรับส่งผู้ประสบเหตุอย่างรวดเร็ว
Advertisement