ปิดภารกิจ 19 วัน ปฏิบัติการค้นหาและปลดวัตถุอันตราย เรือหลวงสุโขทัย กู้สิ่งสำคัญกลับขึ้นมาได้ 11 รายการ ก่อนปล่อยจมใต้ทะเลตลอดกาล
พลเรือเอก อะดุง พันธุ์เอี่ยม ผู้บัญชาการทหารเรือ พร้อมด้วยเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทยได้เดินทางไปตรวจเยี่ยมการค้นหาและตรวจวัตถุอันตรายเรือหลวงสุโขทัยบนเรือ Ocean Valor โดยมีพลเรือเอก ชาติชาย ทองสะอาด ผู้บัญชาการกองเรือยุทธการ ให้การต้อนรับ โดยภายหลังการตรวจเยี่ยมฯ ผู้บัญชาการทหารเรือได้มอบหมายให้ผู้บัญชาการกองเรือยุทธการ ในฐานะผู้อำนวยการ กองอำนวยการค้นหาและปลดวัตถุอันตรายเรือหลวงสุโขทัยเป็นผู้แถลงข่าวปิดการปฏิบัติการค้นหาและปลดวัตถุอันตราย เรือหลวงสุโขทัย บนเรือหลวงอ่างทอง กลางอ่าวไทย โดยมีผู้ร่วมแถลงข่าว ประกอบด้วย พลเรือตรี วิชชุ บำรุง ผู้บังคับหมวดเรือปฏิบัติการค้นหาและปลดวัตถุอันตราย เรือหลวงสุโขทัย เรือเอก Will Rittenhouse ผู้อำนวยภารกิจ (Mission Commander) ของชุดประดาน้ำผสม ทร. - ทร.สหรัฐฯ เรือตรี ธงบุญ เพ็งแก้ว นักประดาน้ำ ทร.และทำหน้าที่นายทหารติดต่อในชุดประดาน้ำผสม ทร. - ทร.สหรัฐฯ
สำหรับ เรือหลวงสุโขทัย จมอยู่ที่ความลึก 50 เมตร ในทางทิศตะวันออกของท่าเรือประจวบ อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ระยะทาง 22 ไมล์ทะเล หรือ 39.6 กิโลเมตร จากการตรวจสอบ ไม่พบการรั่วไหลของน้ำมันหรือสารเคมีต่างๆ ทั้งนี้กองทัพเรือ ได้จัดตั้งกองอำนวยการค้นหาและปลดวัตถุอันตราย เรือหลวงสุโขทัย ที่อาคารสำนักงานท่าเรือประจวบ อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ มีกำลังประกอบด้วย เรือของ กองทัพเรือ จำนวน 7 ลำ เฮลิคอปเตอร์ 2 เครื่อง เรือกู้ซ่อม Ocean Valor ของสหรัฐฯ
ชุดประดาน้ำจำนวน 2 ชุดได้แก่ ชุดประดาน้ำผสม ทร. - ทร.สหรัฐฯ ประกอบด้วยนักดำฝ่ายละ 7 นาย รวม 14 นาย ใช้เรือ Ocean Valor เป็นฐานปฏิบัติการ และใช้อุปกรณ์การดำระบบ Surface Supply Air Equipment หรืออุปกรณ์ส่งอากาศจากผิวน้ำให้นักดำที่สวมหัวครอบดำน้ำ และชุดประดาน้ำ กองทัพเรือ จำนวน 40 นาย ใช้ เรือหลวงมันใน เป็นฐานปฏิบัติการ และใช้อุปกรณ์ดำน้ำแบบ SCUBA ผลการค้นหาผู้สูญหายที่อาจติดอยู่ในเรือ จำนวน 11 ห้อง รวมถึงทุกจุดที่นักประดาน้ำจะสามารถดำน้ำเข้าไปตรวจสอบได้ และพื้นที่โดยรอบเรือ
ผลปฏิบัติการค้นหาและปลดวัตถุอันตรายวันที่ 19 ซึ่งเป็นวันสุดท้าย ปรากฏว่าไม่พบร่องรอยของกำลังพลผู้สูญหาย ทั้ง 5 นายแต่อย่างใด ส่วนผลการปลดวัตถุอันตรายและการทำให้ยุทโธปกรณ์ที่สำคัญของสหรัฐ หมดขีดความสามารถ จำนวน 3 รายการคือ อาวุธปล่อยนำวิถีพื้นสู่พื้นฮาร์พูน และ ตอร์ปิโด MK-309 โดยทำให้ระบบควบคุม รวมทั้งท่อยิงหมดขีดความสามารถ และเครื่องมือสื่อสาร จำนวน 21 รายการ ในห้องวิทยุ หมดขีดความสามารถ
นอกจากนั้น ยังสามารถนำวัตถุของเรือขึ้นมาได้จำนวน 11 รายการ ได้แก่ ป้ายชื่อเรือหลวงสุโขทัย พญาครุฑประจำเรือ พุทธรูปประจำเรือ พระบรมรูปสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช แผ่นนูนรูปเสด็จเตี่ย ระฆังเรือ ธงราชนาวีผืนใหญ่ เสากระโดงเรือ สมอเรือ ป้ายขึ้นระวางประจำการเรือ และป้ายรายนามผู้บังคับการเรือ
สำหรับเรือหลวงสุโขทัย ในปัจจุบันอยู่ในสถานะที่ไม่มีผลกระทบต่อการเดินเรือ หลังจากที่ได้ตัดเสากระโดงเรือความสูง 10 เมตรออก ทำให้ความสูงของเรือลดลงส่งผลให้มีความปลอดภัยต่อการเดินเรือเพิ่มขึ้นจากเดิมที่ความลึกจากผิวน้ำถึงส่วนที่สูงที่สุดของเรือระยะ 27 เมตร เพิ่มเป็นระยะ 37 เมตร ทำให้เรือหลวงสุโขทัย ไม่มีวัตถุและสิ่งที่มีผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ ไม่มีวัตถุอันตรายต่อคนและสิ่งมีชีวิตใต้ทะเล รวมทั้งไม่มีขีดความสามารถทางทหารที่จะสามารถนำไปใช้ได้อีก
สรุปผลการปฏิบัติการค้นหาและปลดวัตถุอันตราย เรือหลวงสุโขทัย บรรลุภารกิจและวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ 4 ประการ ได้แก่ การค้นหาผู้สูญหาย การตรวจสอบวัตถุพยาน การปลดวัตถุอันตราย และการนำวัตถุที่มีคุณค่าทางจิตใจของเรือหลวงสุโขทัย ขึ้นมา ซึ่งการปฏิบัติการจำนวน 19 วัน นักดำทั้งหมดมีความปลอดภัย ถือเป็นความสำเร็จในการปฏิบัติงานร่วมกันของ ทร.ไทย และ ทร.สหรัฐฯ ซึ่ง ทร.ไทย ต้องขอขอบคุณ ทร.สหรัฐฯ เป็นอย่างยิ่ง ที่ได้ให้การสนับสนุนและช่วยเหลือ ทร. ในครั้งนี้
ทั้งนี้ กองทัพเรือยังไม่มีแผนนำเรือหลวงสุโขทัยขึ้นเหนือผิวน้ำ อาจจอดสงบนิ่งใต้ทะเลลึกตลอดไป หลังจากปฏิบัติการค้นหาและปลดวัตถุอันตรายเสร็จสิ้น อย่างไรก็ตาม กองทัพเรือจะดำเนินการจัดสร้างอนุสรณ์สถาน เรือหลวงสุโขทัย โดยใช้อุปกรณ์และชิ้นส่วนของเรือที่ถอดถอนและนำขึ้นมาได้จากการปฏิบัติการครั้งนี้ เพื่อรำลึกถึง เรือหลวง สุโขทัย รวมทั้งความกล้าหาญและความเสียสละของกำลังพลที่เสียชีวิตและสูญหาย
Advertisement