"ครูดอย พ่อพิมพ์บนยอดเขา" อีกหนึ่งอาชีพที่ต้องเสียสละความสบาย เพื่อมอบโอกาสทางการศึกษาให้กับเด็กๆ บนดอย อมรินทร์ทีวี ลงพื้นที่ไปพูดคุยใน แต่ละวันครูและนักเรียนเหล่านั้นทำอะไรบ้าง
กระสอบใส่อาหารแห้งน้ำหนักราว 20 กิโลกรัม ถูกแพ็กอย่างดีวางไว้ท้ายรถ วิถีชีวิตครูดอยช่วงหน้าฝนแสนลำบาก ต้องขับรถมอเตอร์ไซค์แบกน้ำหนักหน้าหลัง ทั้งกระสอบและกระเป๋าเสื้อผ้า ขับรถทางไกลกว่า 100 กิโลเมตร ไปโรงเรียน หลายครั้งเจออุปสรรค รถมีปัญหาต้องจอดซ่อม เสียเวลาหลายชั่วโมง ใช้เวลาเป็นวันกว่าจะไต่เขาหลาย 10 ลูกขึ้นไปถึงโรงเรียน
ห้องพักครูหนูหลังห้องเรียนกลายเป็นบ้าน ครูดอยใช้ชีวิตกินนอนที่นี่ แต่ละเดือนต้องสอนต่อเนื่องยาวถึง 20 วัน เหมือนตัดขาดครอบครัวเพราะไร้สัญญาณโทรศัพท์ หลังสอนเสร็จมีเวลาได้พัก 10 วันถึงได้กลับบ้าน ไปหาลูกเมีย เป็นเวลาร่วม 10 ปีที่
ครูวา สอนหนังสือที่ศูนย์การเรียนรู้ชุมชนชาวไทยภูเขาแม่ฟ้าหลวงบ้านทีหลึคี มองภาพสะท้อน ชีวิตตัวเองไม่ต่างจากศิษย์ เกิดเป็นชาวเขาโตมาอย่างยากลำบาก ต้องดิ้นรนจนมีโอกาสร่ำเรียนถึง ม.6 อาสาเป็นครูสอนเด็กชายขอบ สุดท้ายได้ทุนเรียนต่อถึงปริญญาตรี ตัดสินใจกลับมาเป็นครูดอยด้วยเข้าใจหัวอกเด็กที่แร้นแค้น เงินเดือน 20,000 บาท ไม่มากมาย อยู่ได้เพราะใช้อย่างมัธยัด
โรงเรียนเล็กๆ แห่งนี้มี ครู 2 คน แบ่งกันดูแลเด็ก ตั้งแต่สอนหนังสือ ไปจนถึงดูแลผม เล็บ สุขอนามัย พักเที่ยงยังต้องทำกับข้าวแจกจ่าย เหมือนพ่อดูแลลูกๆ นักเรียนส่วนใหญ่จบแค่ ป.6 ด้วยสภาพพื้นที่ติดชายแดน ครูสุดกังวลห่วงลูกศิษย์ขาดความรู้ ตกเป็นเหยื่อเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดสิ่งผิดกฏหมาย
สิ่งที่ขาดแคลนคือ คอมพิวเตอร์ เทคโนโลยี เด็กขาดโอกาสหาข้อมูลจากอินเทอร์เน็ต ไร้โอกาสเปิดโลกกว้าง เป้าหมายสูงสุด อยากให้ศิษย์เข้าถึงการศึกษา โตมาเป็นคนดี ไม่สร้างปัญหาให้กับสังคม
ศูนย์การเรียนรู้ชุมชนชาวไทยภูเขาแม่ฟ้าหลวงบ้านทีหลึคี อยู่ในสังกัดกรมส่งเสริมการเรียนรู้ หรือ กศน. เก่า ภายใต้กระทรวงศึกษาธิการ ผอ.ศูนย์ ยืนยันแต่ละปีมีงบประมาณจัดสรรค่าอุปกรณ์การเรียน เสื้อผ้า อาหารเพียงพอ ตอนนี้มีโครงการขยายโอกาสให้นักเรียนชั้น ป.6 เรียนต่อมัธยมที่โรงเรียนเดิม หรือหาทุนสนับสนุน แต่เด็กเรียนต่อน้อยเพราะทุนไม่ได้ครอบคลุม และความขัดสนของครอบครัว
ชีวิตครูดอย หัวใจสำคัญคือความเสียสละ น้อยคนที่จะอดทนอยู่ในโรงเรียนห่างไกลไร้ความเจริญได้ ส่วนเด็กที่ขาดโอกาส การเรียนเป็นเรื่องรองจากปากท้อง เมื่อชีวิตไม่เอื้อให้ออกจากบ้านไปหาความรู้ สุดท้ายนักเรียนชายขอบขาดการศึกษาไม่สามารถพัฒนาชีวิตตัวเองได้ กลายเป็นวัฏจักรความยากจน หาเช้ากินค่ำไปวันๆ
Advertisement