กระแสดราม่าคดี "บอส อยู่วิทยา" ขับรถชนตำรวจเสียชีวิต โดยมีคำสั่งไม่ฟ้อง และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเห็นชอบแล้วนั้น สังคมวอนให้ให้มีการชี้แจงให้กระจ่างถึงความโปร่งใสในการดำเนินการทางคดี และเปรียบเทียบถึงคดีของเสี่ยเบนซ์นั้น
วันที่ 27 ก.ค. 63 นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ข้อความในเพจเฟซบุ๊ก ระบุว่า เรื่องอัยการสั่งไม่ฟ้อง อัยการสรุปว่าเป็นความประมาทของผู้ตายเพียงฝ่ายเดียว เพราะขับรถจักรยานยนต์ตัดหน้ารถยนต์กะทันหัน ตอนแรกอัยการสั่งฟ้อง แต่หลังจากพิจารณามานานถึง 8 ปี ก็กลับคำสั่งเดิมเป็นสั่งไม่ฟ้อง
โดยนายนิพิฏฐ์มีข้อโต้แย้งทางวิชาการ ดังต่อไปนี้ 1. ผมไม่เชื่อความเห็นของพยานที่ให้การกลับคำในภายหลัง และไม่เชื่อคำให้การของพยาน ที่ให้การหลังเกิดเหตุหลายปี ที่ให้การแตกต่างกันในเรื่องความเร็วรถถึง 100 กม./ชม. ต้องให้ผู้เชี่ยวชาญที่เป็นกลาง มาพิสูจน์ว่า ความเร็วรถ ว่าน่าจะ 177 กม./ชม หรือ 76 กม./ชม. หากเป็น 177 กม./ชม. พยานที่ให้การในตอนหลังว่า 76 กม./ชม. ก็น่าจะมีปัญหา
2. ผมเห็นว่า สภาพรถยนต์หลังเกิดเหตุ ยับเยิน กระโปรงหน้ายุบ กระจกหน้าแตก น้ำมันเครื่องไหลเป็นทาง รถยนต์คันนี้ ราคาจำหน่ายในประเทศไทย คันละ 32 ล้านบาท ถ้ารถราคา 32 ล้านชนด้วยความเร็ว 80 กม/ชม. สภาพรถยับเยินขนาดนี้ เสียชื่อผู้ผลิตหมดครับ
3. จากจุดชนจุดแรก ถึงจุดที่รถจักรยานยนต์ผู้ตายไปตกอยู่ห่างกัน 163.6 เมตร หากความเร็วรถยนต์ 76 กม./ชม. น่าจะหยุดรถได้เร็วกว่านั้น ไม่น่าจะลากยาวไปถึง 163.6 เมตร
4. ผมไม่ให้น้ำหนักพยานบุคคลอีก 2 คน ที่มาให้การเมื่อ 4 ธันวาคม 2562 หลังเกิดเหตุถึง 7 ปี ว่าพยานขับรถตามหลังรถลูกกระทิงแดง และเห็นว่า ลูกกระทิงแดงขับไม่เกิน 80 กม/ชม. น่าสงสัยว่า พยาน 2 ปากนี้ รออะไรอยู่ถึง 7 ปี จึงเข้าให้การ และเป็นการให้การก่อนที่อัยการจะสั่งไม่ฟ้องไม่กี่เดือน เป็นพิรุธอย่างยิ่งครับ กล่าวโดยสรุป เรื่องนี้ต้องทำให้ชัดปราศจากข้อสงสัย ไม่งั้นกระบวนการยุติธรรมของประเทศพังครับ
ด้านนายสมชาย เวโรจน์พิพัฒน์ อายุ 56 ปี เปิดใจหลังจากมีกระแสข่าวเปียบเทียบคดีที่เมาแล้วขับรถเบนซ์ พุ่งชนรถเก๋งของ พ.ต.ท.จตุพร งามสุวิชชากุล รอง ผกก.2 บก.ป.เสียชีวิตว่า คดีนี้พนักงานอัยการสำนักงานคดีศาลสูงธนบุรี พิจารณาเเล้วมีคำสั่งยื่นอุทธรณ์คดี ขอให้ศาลไม่รอการลงโทษต่อศาลอุทธรณ์ ข่าวที่ออกไปนั้นไม่เป็นความจริง
โดยท่านอัยการมีการยื่นอุทธรณ์จริง ตามหน้าที่ของท่าน แต่ศาลอุทธรณ์ก็พิพากษาแล้วว่าให้ยืนตามศาลชั้นต้น คือ จำคุก 3 ปี ปรับ 100,000 บาท และโทษจำคุกรอลงอาญา โดยระหว่างนี้ให้ไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ 8 ครั้ง ใน 2 ปี รวมทั้งบริการสังคมและสาธารณประโยชน์ 48 ชั่วโมงในเวลา 1 ปี พร้อมทั้งห้ามดื่มสุราของมึนเมา
ตนไม่อยากให้มีการรื้อฟื้นเรื่องนี้มาอีก เพราะว่าตอนนี้สภาพจิตใจของเด็ก ๆ ลูกตำรวจและทุกคนกำลังดีขึ้น เราติดต่อกันตลอด ส่งขนมที่เด็ก ๆ ชอบทานให้เป็นประจำ พอมีข่าวแบบนี้ออกมาทำให้เด็ก ๆ คิดถึงพ่อแม่ นอกจากนี้ ขออย่านำคดีของตนเองไปโยงกับกรณีของบอส เพราะเป็นคนละคดีกัน
Advertisement