วันที่13 ม.ค. 68 ที่สนามยิงปืนตำรวจภูธรภาค 4 ต.ในเมือง อ.เมือง จ.ขอนแก่น ผศ.พนม กรขวา ภาควิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ และอาจารย์สุธา ลอยเดือนฉาย อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นทีมนักวิจัยจากภาควิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) ได้นำแผ่นกันกระแทกจากกัญชงกับพลาสติกมามอบให้เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดสืบสวนจาก กก.สส.ภ.จว.หนองบัวลำภู และสืบสวนภาค 4 จำนวน 30 ตัว
โดยมีดีไซน์แตกต่างจากเสื้อเกราะทั่วไปซึ่งทางทีมนักวิจัยได้ดีไซน์ออกมาในรูปแบบของกระเป๋าเป้สะพายหลังพกพาง่ายและเหมาะกับงานสืบสวนที่จะต้องแฝงตัวปฏิบัติหน้าที่ ไม่ให้ใครรู้ว่าเป็นตำรวจ พร้อมกันนี้ได้นำแผ่นกันกระแทกจากกัญชงกับพลาสติกไปติดไว้ที่เป้ายิงเพื่อเริ่มการทดสอบประสิทธิภาพของแผ่นกันกระแทกจากกัญชงกับพลาสติก โดยทดลองใช้กระสุนจริงยิงใส่ ซึ่งในการทดสอบนั้นมาตรฐานของแผ่นกันกระแทกโดยทั่วไปตามมาตรฐานสากลหากภายใน 5 นัดชุดเกราะไม่ทะลุ หรือมีรอยนูนขนาดใหญ่จนเข้าถึงร่างกายผู้สวมใส่ ถือว่ามีประสิทธิภาพป้องกันที่สามารถใช้งานในสถานการณ์ได้จริง
โดยการทดสอบนั้น ได้ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้อาวุธปืนบรรจุกระสุนขนาด 9 มม. ยิงที่เป้า จำนวน 3 นัด และใช้อาวุธปืนบรรจุกระสุนขนาด .45 มม. ยิงใส่อีกจำนวน 2 นัดโดยกระสุนเข้าเป้าทุกนัด ซึ่งนัดแรกนั้นเป็นกระสุนขนาด 9 มม.พบว่าไม่ทะลุ และไม่มีรอยนูนที่ด้านหลังของแผ่นดังกล่าว และนัดที่2เป็นกระสุนขนาด .45 มม. ซึ่งมีขนาดใหญ่กว่าขนาด 9 มม.
จากการทดสอบพบว่า กระสุนเข้าไปประมาณ 3 มม. แต่ไม่ทะลุ และไม่มีรอยนูนจากแผ่นด้านหลัง หลังทดลองยิงจำนวน 5 นัด แต่กระสุนไม่ทะลุ และรอยนูนที่แผ่นดังกล่าวเกิดขึ้นเพียงเล็กน้อย แต่ไม่สร้างความเสียหาย หรือบาดเจ็บให้กับผู้สวมใส่
ผศ.พนม กล่าวว่า งานวิจัยสื้อเกราะกันกระสุนจากกัญชงกับพลาสติกนั้น เป็นงานวิจัยใหม่มาจากการใช้วัสดุใหม่คือกัญชงกับพลาสติก ซึ่งมีกรดเพชรที่สามารถเอามาทำเสื้อเกราะได้ เส้นใยกัญชงมีความเหนียวค่อนข้างมาก แต่จะเปราะ แต่เมื่อผสมกับเรซิ่นจะมีความแข็งแรงค่อนข้างสูงเหมือนเหล็ก ส่วนตัวพีอีทีที่ใช้ข้างหลังจะมีความพิเศษ คือยืดก่อนขาดรับการกระจายของแรงได้แล้ว เมื่อนำมาทักทอเป็นแผ่นประกบเป็นชิ้นหลังก็จะกระจายได้ดี แผ่นแรกทำลายหัวกระสุนหยุดหัวกระสุนชะลอหัวกระสุน ส่วนตัวพีอีทีเป็นตัวกระจายแรงไปทั่วแผ่น
การใช้เส้นใยกัญชงในการผลิตเกราะกันกระสุน เป็นแนวคิดที่มีศักยภาพสูง เนื่องจากคุณสมบัติของเส้นใยมีความแข็งแรง และน้ำหนักเบา ผู้ใช้งานจะมีความคล่องตัวแล้วก็ป้องกันกระสุนได้ รวมทั้งรอยยุบตัวก็ไม่เกินมาตรฐาน 4.4 ซม. เพราะถ้ายุบตัวมากจะส่งผลต่อร่างกายที่อาจจะซี่โครงหัก ปอดม้ามช้ำที่ต้องพักรักษาตัวนาน ซึ่งข้อดีของเสื้อเกราะกันกระสุนชิ้นนี้ จะไม่มีผลกระทบเหล่านี้ เพราะเสื้อเกราะจากใยกัญชง และพลาสติกที่ทีมวิจัยทำขึ้นมาสำเร็จนั้น จากการทดลองตามมาตรฐานนั้นสามารถป้องกันผลกระทบเหล่านี้ได้
ด้านอาจารย์สุธา กล่าวว่า แผ่นกันกระแทก และเสื้อเกราะกันกระสุนที่ทำสำเร็จครั้งนี้ มีขนาด 10x12 ถือเป็นขนาดมาตรฐานที่ออกแบบมาป้องกันส่วนสำคัญของร่างกาย โดยทีมวิจัยมองการทำวิจัยในครั้งนี้ว่าทำจากการนำของทิ้ง โดยทีแรกจะเอากัญชามาทำ แต่ติดปัญหาในเรื่องของกฏหมายของกัญชาที่ยังไม่ลงตัว จึงมาตกลงที่การใช้ต้นกัญชง และพลาสติก ซึ่งเมื่อการทำวิจัยสำเร็จก็ได้ทำการทดลองของแผ่นเสื้อเกราะจากใยกัญชง และพลาสติก โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจทดลองยิงจำนวน 5 นัด ไม่มีทะลุ ถือว่ามีผลสำเร็จที่น่าพอใจ
การบริจาคให้พื้นที่ภาค 4 เพราะภาค 4 เป็นศูนย์กลางที่รับผิดชอบหลายจังหวัดจึงมอบให้ตำรวจชุดสืบสวนที่เป็นตำรวจผู้เผชิญเหตุ เพื่อให้ตำรวจมีความปลอดภัยมากขึ้นหากมีตำรวจภาคอื่นๆ ต้องการเสื้อเกราะรุ่นนี้ ต้องตั้งงบประมาณมา เพราะเสื้อเกราะรุ่นนี้มีกระเป๋าอย่างดี ที่บรรจุแผ่นกันกระสุน ประเมินราคาที่ตัวละ 8,000 บาท ถือว่าเสื้อเกราะจากใยกัญชง และพลาสติกที่ทีมวิจัยภาควิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ มข. ทำสำเร็จเป็นทีมแรกของประเทศไทย
ขณะที่ พ.ต.ท.สุรัตน์ วันทะมาตร รองผกก.สส.สภ.ท่าพระ ที่เดินทางมาชมการทดลองการใช้อาวุธปืน 2 ชนิดยิงแผ่นกันกระแทกจากกัญชงกับพลาสติกที่นำมาใช้เป็นเสื้อเกราะกันกระสุน และรับมอบเสื้อเกราะกันกระสุนจากทีมอาจารย์นักวิจัย กล่าวว่า เห็นการทดสอบอาวุธปืน 2 ขนาด ได้แก่ ขนาด 9 มม.และ .45 ซึ่งได้ดำเนินการทดสอบและประเมินในครั้งที่ 1 ด้วยกระสุนขนาด 9 มม. พบว่าด้านหลังของแผ่นเกราะไม่มีการทะลุของกระสุน และมีข้อดีสำคัญคือการปูดออกของแผ่นเกราะมีปริมาณน้อย ส่งผลให้เจ้าหน้าที่มีความปลอดภัยมากขึ้น เนื่องจากสรีระร่างกายของเจ้าหน้าที่ตำรวจแต่ละคนมีความแตกต่างกันเมื่อแผ่นเกราะไม่มีการปูดออกมากก็ช่วยลดความเสี่ยงที่กระสุนจะกระแทกบริเวณซี่โครงของเจ้าหน้าที่ซึ่งส่งผลให้เกิดความปลอดภัยสูงขึ้น
ในฐานะผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่จริงการทดลองนี้แสดงให้เห็นว่าการใช้แผ่นเกราะช่วยเพิ่มความปลอดภัยระหว่างปฏิบัติหน้าที่ โดยแผ่นเกราะที่ได้มาตรฐานสามารถใส่ลงในกระเป๋าเกราะได้อย่างคล่องตัว อีกทั้งในสถานการณ์ที่มีการตอบโต้กับคนร้าย หากเจ้าหน้าที่ถูกยิงแล้ว แผ่นเกราะสามารถป้องกันกระสุนไม่ให้ทะลุเจ้าหน้าที่จะสามารถหลบ เพื่อหาที่กำบังใหม่ได้ลดความเสี่ยงจากการถูกยิงซ้ำในนัดที่สอง หรือนัดที่สาม ดังนั้นการที่แผ่นเกราะสามารถป้องกันกระสุนได้ตั้งแต่นัดแรก ถือว่าเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าในการรักษาชีวิตของเจ้าหน้าที่
นอกจากนี้จากการอบรมเจ้าหน้าที่ตำรวจเกี่ยวกับการสวมใส่เสื้อเกราะ พบว่าการใส่เสื้อเกราะมีความปลอดภัยมากกว่าการไม่ใส่ ถือเป็นข้อดีที่มหาวิทยาลัยขอนแก่นได้พัฒนาแผ่นเกราะที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของตำรวจช่วยเพิ่มทางเลือกในการเข้าถึงอุปกรณ์ป้องกันที่มีประสิทธิภาพ และสนับสนุนการปฏิบัติหน้าที่ในภารกิจที่ต้องเผชิญความเสี่ยงได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
Advertisement