นายอัจฉริยะ เรืองรัตนพงษ์ ประธานชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม นำเอกสารหลักฐานที่อ้างว่าได้จากการจำลองเหตุการณ์การตกเรือ และพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้อง เข้าร้องกรมสอบสวนคดีพิเศษ ให้ดำเนินคดีกับกลุ่มเจ้าหน้าที่รัฐที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำสำนวนคดีการเสียชีวิตของนางสาวนิดา หรือ แตงโม โดยอ้างว่าการทำสำนวนคดีพบข้อพิรุธ มีลักษณะให้ความช่วยเหลือฝ่ายจำเลย เข้าข่ายปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ
นายอัจฉริยะ เปิดเผยว่า หลังจากเมื่อวานที่ผ่านมาได้มีการจำลองเหตุการณ์การตกเรือ มีคำถามมากมายเกิดขึ้น โดยตัวเองจะนำข้อมูลทั้งหมด มาใช้ในคดีใหม่ ซึ่งตัวเองจะขอให้กรมสอบสวนคดีพิเศษรับคดีนี้เป็นคดีพิเศษ อ้างอิงจากคดีของนายวรยุทธ อยู่วิทยา หรือ บอส และคดีของนายพอละจี รักจงเจริญ หรือ บิลลี่ ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษเคยรับไว้เป็นคดีพิเศษก่อนหน้านี้ เนื่องจากมีความคล้ายคลึงกัน ซึ่งสาเหตุที่เดินทางมาร้องดีเอสไอก่อนแผนการไปร้องที่กองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ หรือ ปปป. เนื่องจากไม่เชื่อมั่นการทำงานหน่วยงานดังกล่าว เพราะเป็นองค์กรตำรวจ ส่วนที่ไม่ไปร้องสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. เพราะมองว่าต้องการให้มีการสืบสวนสอบสวนข้อเท็จจริงก่อน โดยหากไปร้องทั้งที่ยังไม่มีการสอบสวน ก็ไม่มีประโยชน์อะไร
ด้าน พันตำรวจตรี วรณัน ศรีล้ำ ผู้อำนวยการกองคดีธุรกิจการเงินนอกระบบ และในฐานะโฆษกกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) เปิดเผยว่า คดีนี้เป็น 2 ส่วน ส่วนแรกคือมีคดีนี้อยู่ในการพิจารณาของศาล ซึ่งเป็นสิ่งที่ก้าวล่วงไม่ได้ ส่วนที่ 2 คือทางผู้ร้องได้เข้ามาร้องให้สอบสวนเจ้าหน้าที่รัฐ ที่เกี่ยวข้องกับคดีนี้เป็นคดีใหม่ ซึ่งส่วนนี้ทางกรมสอบสวนคดีพิเศษต้องนำข้อมูลทั้งหมดไปพิจารณา ว่าสามารถดำเนินการอะไรได้บ้าง เนื่องจากคดีนี้เข้าสู่กระบวนการของศาลแล้ว ทำให้ต้องระมัดระวังและตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อน รวมถึงดูว่ากรมสอบสวนคดีพิเศษมีอำนาจหน้าที่อะไรที่จะสามารถ เข้าไปทำอะไรได้บ้าง
สำหรับเรื่องที่นำมาร้องจะใช้เวลาในการพิจารณาว่าเข้าข่ายเป็นคดีพิเศษได้หรือไม่ ขณะนี้ยังไม่สามารถตอบได้เพราะต้องให้เวลาพนักงานสอบสวนตรวจสอบข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานที่ได้มาก่อน
ส่วนเมื่อวานที่ “ดีเอสไอ” ส่งทีมไปร่วมสังเกตการณ์การจำลองเหตุการณ์แตงโมตกเรือนั้น เบื้องต้นทางเจ้าหน้าที่ได้รับข้อมูลไปแล้วและจะเอามาประกอบกับคำร้องต่อไป พร้อมยอมรับว่าเราต้องดำเนินการด้วยความระมัดระวัง เพราะคดีนี้มีผู้กระทำความผิด ซึ่งตามหลักการโดยปกติแล้ว คดีอยู่ในมือของศาล ทางพนักงานสอบสวนจะไม่มีอำนาจหน้าที่แล้ว เว้นแต่จะมีข้อเท็จจริงที่จะนำไปสู่การสอบสวนต่อได้ โดยมองว่า การจำลองเมื่อวานนี้ ถือเป็นปรากฏการณ์ที่ดีที่ภาคประชาชนให้ความสำคัญกับการทำงานกับภาครัฐ แต่ในเรื่องข้อเท็จจริงก็ต้องมาดูกันอีกที ซึ่งยังไม่สามารถตอบได้ว่าจะใช้ระยะเวลาเท่าไหร่
Advertisement