วันที่ 17 มกราคม 2568 ผู้สื่อข่าวรายงานจาก จ.อุดรธานี ว่าที่โรงงานน้ำตาลไทยอุดรธานี และโรงงานนำไฟฟ้าไทยอุดรธานีเพาเวอร์ ต.คำบง อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี สมาชิกสมาคมชาวไร่อ้อยอีสานเหนือไทยอุดรบ้านผือ ยังคงนำรถบรรทุกอ้อยกว่า 2,000 คัน ปักหลักค้างแรมอยู่ลานจอดรถของโรงงาน ท่ามกลางอากาศหนาว อุณหภูมิต่ำสุด 13 องศา จนต้องก่อไฟผิงตามวิถีชาวอีสาน
โดยเมื่อคืนที่ผ่านมา (16 มกราคม2568) นายธีระชัย แสนแก้ว สส.อุดรธานี พรรคเพื่อไทย และนายกสมาคมชาวไร่อ้อยอีสานเหนือ หรือ อีโต้อีสาน พร้อมกับ นางเทียบจุฑา ขาวขำ สส.อุดรธานีพรรคเพื่อไทย เขตพื้นที่โรงงานน้ำตาลไทยอุดรธานี เดินทางมาพบปะให้กำลังใจชาวไร่อ้อยที่ปักหลักนอนค้างแรมกับรถบรรทุกอ้อยที่โรงงาน โดยบ่นว่า “ชาวบ้านต้องมาทุกข์ยากเพราะเพียงแค่ข้อกฎหมาย” และมีชาวไร่เข้ามาพูดคุยระบายความเดือนร้อน จากนั้นไปรวมตัวกันที่ป้อม รปภ.ระหว่างลานจอดรถบรรทุก 1 และลานจอดรถบรรทุก 2 ที่มีเครื่องขยายเสียง เพื่อพูดคุยกับชาวไร่อ้อยด้วย
นายธีระชัย แสนแก้ว กล่าวว่า จากการที่เขาส่งรายงานเข้าไปเรื่องอ้อยไฟไหม้ของเราก็แยกกัน ระหว่างทั้งอ้อยไฟไหม้และอ้อยสด กระทรวงอุตสาหกรรมก็ส่งคนเข้ามาควบคุมกำกับดูแล จากนั้นก็มีมาตรการของกระทรวงออกมาก็ขอให้มีการแก้ไขในวันที่ 12 มกราคม 2568 หลังจากวันเด็กที่ผ่านมา ตนซึ่งเป็นตัวแทนของพี่น้อง ก็ไปร่วมกันเจรจาหาทางออกเบื้องต้น ก็ขอให้ใช้อำนาจของอนุกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ซึ่งตนรู้เรื่องข้อกฎหมายอันนี้ดีพอสมควร
สมาคมฯได้เสนอไปยังผู้ว่าฯขอให้หีบอ้อยไฟไหม้ชุดนี้ให้หมด จากนั้นชาวไร่อ้อยจะตัดอ้อยสดมาส่งโรงงานเรายอมรับแล้วใช่ไหมว่าจะตัดอ้อยสด นายธีระชัย ถามชาวไร่ว่า พร้อมจะตัดอ้อยสดใช่ไหมครับ ชาวไร่อ้อยก็ตะโกนเป็นเสียงเดียวกันว่า “จะตัดอ้อยสดพร้อมยกมือ” นายธีระชัย ย้ำถามอีกหลายครั้งว่า เราพร้อมจะตัดอ้อยสดใช่ไหมครับ ก็ได้ยินเสียงตอบรับเช่นเดิม นายธีระชัยบอกว่า นี่คือเสียงการันตีว่าเราจะปฏิบัติตามกติกาแล้วมีเงินมาเพิ่มให้ด้วย
"ก็ขอให้โรงงานให้เปิดหีบ แต่ถ้ามันยังไม่เลื่อนไหล ตนจะพาพ่อแม่พี่น้องบุกกรุงเทพ"
ต่อมาเวลา 09.30 น.วันที่ 17 มกราคม นายวรพจน์ บุรุษภักดี เลขาธิการสมาคมชาวไร่อ้อยอีสานเหนือไทยอุดรบ้านผือพา ผู้สื่อข่าวไปที่ลานจอดรถบรรทุกอ้อยหน้าโรงงานน้ำตาลไทยอุดรธานี เพื่อดูรถบรรทุกอ้อยกว่า 2,000 คันที่จอดรอเข้าโรงงาน ซึ่งส่วนมากจะเป็นรถบรรทุกอ้อยไฟไหม้ จอดรอมา 5 วันแล้ว หากรวมกับตัดกองอยู่ไร่อีก 2 วันรวมแล้วเป็น 7 วัน อ้อยส่วนมากเริมจะเน่า สังเกตได้จากมีกลิ่นเปรี้ยวและมีเชื้อรา น้ำหนักจะลดลงเมื่อเอาเข้าหีบ น้ำตาลก็จะไม่ได้คุณภาพ เพราะอ้อย 1 ตัน จะได้น้ำตาลประมาณ 110 กิโลกรัม อ้อยที่จอดรถเข้าโรงงานน้ำหนักก็ลด ความหวานก็จะน้อย อ้อย 1 ตัน จะได้น้ำตาลประมาณ 70-80 กิโลกรัมเท่านั้น หากยังไม่ได้รับคำตอบในวันนี้ตนและชาวไร่อ้อยก็จะลงถนนในเวลา 15.00 น.วันนี้
นายวรพจน์ เปิดเผยอีกว่า วันนี้ได้ยินข่าวดีจากนายกสมาคมชาวไร่อ้อยอีสานเหนือ นายธีระชัย แสนแก้วสส.อุดรธานี พรรคเพื่อไทย ว่าจะได้รับข่าวดีว่าวันนี้โรงงานจะเปิดให้มีการหีบอ้อย ถ้าเจรจาประสบความสำเร็จ สมาคมชาวไร่อ้อยก็จะยุติการลงถนน ชาวไร่ดีใจมากเป็นความหวังของชาวไร่อ้อย ถ้าวันนี้ไม่สำเร็จอ้อยก็จะเสียหาย พวกตนก็จะลงถนน เพราะวันนี้เตรียมเครื่องเสียง เตรียมป้าย เตรียมรถไว้แล้ว จะเคลื่อนรถบรรทุกไปถึงศาลากลางจังหวัดอุดรธานี.
Advertisement