กลายเป็นเรื่องเป็นราวขึ้นมาอีกครั้งเมื่อกรมที่ดิน กระทรวงมหาดไทย ประกาศเพิกถอนโฉนดที่ดิน สนามกอล์ฟ อัลไพน์
ขณะที่นายทักษิณ ชินวัตร ก็ออกมายอมรับว่าตนเองเป็นเจ้าของสนามกอล์ฟ แห่งนี้ ต้องบอกว่าเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องที่เพิ่งเกิด แต่เป็นปัญหาตั้งแต่สมัยนายทักษิณ เป็นนายกรัฐมนตรีสมัยแรก
เราจะพามาย้อนดูว่า ทำไมที่แห่งนี้ถึงเป็นปัญหาคาราคาซัง และเคยทำให้คนติดคุกมาแล้ว
เริ่มแรกที่ดินผืนนี้กว่า 700 ไร่ ที่ จ.ปทุมธานี เป็นของ “คุณยายเนื่อม” นางเนื่อม ชำนาญชาติศักดา โดยคุณยายเป็นอุปัฏฐายิกา หรือโยมอุปัฏฐาก ผู้สนับสนุนวัดธรรมิการามวรวิหาร จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
หลายคนอาจสงสัยว่า “คุณยายเนื่อม” อยู่ปทุมธานี แล้วทำไมไปเป็นโยมอุปปัฏฐากวัดที่ประจวบคีรีขันธ์ ทั้งนี้ก็เพราะ วัดดังกล่าวสร้างโดย พระยาดำรงธรรมสาร และ คุณหญิงดำรงธรรมสาร ภริยา และที่สร้างก็เนื่องจากบุตรคนหนึ่งเสียชีวิต ทั้งคู่จึงมาสร้างวัดแห่งนี้
ขณะที่ “คุณยายเนื่อม” เป็นน้องต่างมารดาของ “คุณหญิงดำรงธรรมสาร” โดยเธอได้สมรสกับ ร้อยเอกหลวงชำนาญชาติศักดา นายแพทย์ทหารบก ซึ่งต่อมาได้รับพระราชทานยศครั้งสุดท้ายเป็น พันโท พระชำนาญชาติศักดา
แต่ทั้งคู่ไม่มีลูก “คุณยายเนื่อม” จึงเน้นการทำบุญ และบำรุงพระพุทธศาสนา ซึ่งวัดธรรมิการามวรวิหารไม่ได้รับเฉพาะที่ดินที่เป็นสนามกอล์ฟอัลไพน์ แต่ ยังได้รับบริจาคทรัพย์สินอีกหลายอย่างจาก “คุณยายเนื่อม” ซึ่งมีทั้งเงินทอง ตึกห้องแถวในกรุงเทพฯ พร้อมทั้งที่ดินหลายร้อยไร่
ต่อมาเธอได้ทำ “พินัยกรรม” เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2512 ยกกรรมสิทธิ์ที่ดินตามโฉนดเลขที่ 20 ตำบลคลองซอยที่ที่ 5 ฝั่งตะวันออก (บึงตะเคียน) อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี เนื้อที่ 730 ไร่ 1 งาน 51 ตารางวา ถวายเป็นกรรมสิทธิ์ให้แก่วัดธรรมมิการามวรวิหาร ซึ่งก็คือที่ดิน “อัลไพน์” ในปัจจุบันนั่นเอง
ต่อมาคุณยายเนื่อมได้ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2514 แต่ก็ยังไม่มีการโอนให้เป็นที่ดินของวัด และมีผู้จัดการมรดกถึงสามคน ซึ่งตอนนั้น อดีตเจ้าอาวาสของวัดไม่ต้องการที่จะได้ที่ดิน และมีความประสงค์ที่จะขาย
มีการอ้างว่าที่ดังกล่าวอยู่ห่างไกล อีกทั้งถูกลักลอบตักหน้าดินไปขาย หากจะทำประโยชน์ก็ต้องเสียค่าถมที่อีกจำนวนมา แต่ผู้จัดการมรดกเดิมที่มีจำนวน 3 คนไม่ยอม
ต่อมาในปี 2533 มีการตั้งผู้จัดการมรดกใหม่คือมูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัยฯ และก็ได้โอนที่ดินทั้งสองแปลงให้แก่มูลนิธิมหามกุฏฯ และจดทะเบียนขายในวันที่ 31 สิงหาคม 2533 โดยแบ่งเป็นสองแปลง แปลงแรกขายให้บริษัท อัลไพน์ เรียลเอสเตท ที่มีชื่อ “นพ.บุญ วนาสิน” เป็นประธานกรรมการ กับ บริษัท อัลไพน์ กอล์ฟแอนด์สปอร์ตคลับ โดยมีนางอุไรวรรณ เทียนทอง และนายชูชีพ หาญสวัสดิ์เป็นผู้ถือหุ้น
ซึ่งน่าสนใจว่า วันที่ขายเป็นวันเดียวกับที่มูลนิธิมหามงกุฎฯ รับโอนที่ดินมาเป็นของตน โดยขายในราคาไร่ละ 1.5 แสนบาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 130 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม ตามประมวลกฎหมายที่ดิน ผู้ใดจะถือครองที่ดินของวัดเกิน 50 ไร่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยจะต้องอนุมัติก่อน ซึ่งในการนี้ผู้ทำหน้าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยในสมัยนั้นคือ นายเสนาะ เทียนทอง ก็ได้อนุมัติที่ดินแปลงดังกล่าว
ต่อมาในปี 2540 ที่ดินแปลงนี้ถูกขายต่อในราคา 500 ล้านบาท ให้กับคุณหญิงพจมาน ชินวัตร ภริยา พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร (ในขณะนั้น) เวลาผ่านไป 7 ปี ที่ดังกล่าวราคาขึ้นจาก 130 ล้านกลายเป็น 500 ล้าน
และ 4 ปีต่อมา “นายทักษิณ” ก็เป็นนายกรัฐมนตรี โดยมีนายเสนาะ เทียนทองร่วมรัฐบาล
อย่างไรก็ตามตามกฎหมายระบุว่าหากมีพินัยกรรมยกให้วัดที่ดินดังกล่าวก็จะกลายเป็นที่ดิน “ธรณีสงฆ์” ซึ่งไม่สามารถจำหน่ายได้
แต่นาทีนั้นก็มีข้อโต้แย้งว่า ตามกฎหมายที่ดิน บอกว่าหากวัดจะได้ที่ดินเกิน 50 ไร่ ต้องได้รับการอนุมติจาก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
อย่างไรก็ตามสุดท้ายคณะกรรมการกฤษฎีกาเมื่อปี 2543 ก็ได้ระบุชัดว่าที่ดินดังกล่าวถือเป็นที่ “ธรณีสงฆ์” มูลนิธิฯ ในฐานะผู้จัดการมรดกต้องโอนที่ดินมรดกตามพินัยกรรมที่ระบุไว้ให้ตกแก่วัดเท่านั้น จะโอนให้แกบุคคลอื่นนอกเหนือจากวัดฯไม่ได้ กรมที่ดินจึงมีคำสั่งเพิกถอนรายการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมและโฉนดที่ดินดังกล่าว
แต่ต่อมา นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ์ รักษาการปลัดกระทรวงมหาดไทยในสมัยนั้นในฐานะประธานคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ของกระทรวงมหาดไทยกลับมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งของกรมที่ดิน(ที่ให้เพิกถอนรายการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมและโฉนดที่ดิน) ก่อนเกษียณอายุราชการเพียงไม่กี่วัน
ซึ่งต่อมาเขาก็ได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยในยุครัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แต่สุดท้ายเขาก็ถูกตัดสินจำคุกเมื่อปี 2563 หลังถูกฟ้องจากกรณีดังกล่าวว่าเป็นการใช้อำนาจมิชอบ แต่ก็ถูกปล่อยตัวหลังรับโทษ 8 เดือน
แต่คำสั่งเพิกถอน และเรื่องที่ดินสนามกอล์ฟอัลไพน์ ก็ยังคาราคาซัง ก่อนที่จะถูกเพิกถอนในรัฐบาลปัจจุบัน โดยผู้เซ็นคำสั่งคือนายชํานาญวิทย์ เตรัตน์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทยเมื่อวันที่ 16 ม.ค. 2568 ที่ผ่านมา และมีการระบุว่า ก่อนที่นายชำนาญวิทย์จะเซ็น ได้มีการเซ็นคำสั่งจาก นายชาดา ไทยเศรษฐ์ เพื่อให้กรมที่ดินปฏิบัติตามข้อกฎหมายอย่างเคร่งครัด ก่อนที่นายชาดาจะพ้นจากตำแหน่ง รมช. มหาดไทยเพียง 3 วัน โดยเขาลงนามวันที่ 3 ก.ย. 2567 และพ้นตำแหน่งวันที่ 6 ก.ย. 2567
Advertisement