วันนี้ (26 มี.ค 68) เมื่อเวลา 15.30 น. พล.ต.ต. จรูญเกียรติ ปานแก้ว รองผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง นำแถลงข่าวปฏิบัติการ "สยบนาคี ล้างบางเส้นทางยาเถื่อน" บุกจับแพทย์ พยาบาลทหาร พร้อมพวก ทุจริตยาโรงพยาบาลทหารผ่านศึก โดยแถลงร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง หลังเมื่อเช้านี้มีปฏิบัติการเจ้าตรวจค้น 17 จุด จับกุมผู้ต้องหาตามหมายจับ 8 คน และยังเข้าตรวจค้นร้านยาที่ต้องสงสัยอีก 11 จุด พร้อมยึดของกลางเป็นกล่องลังที่ใช้บรรจุยา , เงินสดมูลค่า 10.9 ล้านบาท , โฉนดที่ดินที่พบในบ้านพัก ซอยแสงจันทร์ เขตคลองเตย , ถุงซิปล็อคใส่ยาที่มีการแกะฉลากชื่อออกแล้ว จำนวนมาก , สมุดบัญชี , ถุงพลาสติกสีฟ้าที่ใช้บรรจุยาหลังนำมาพัก แล้วส่งต่อไปที่จังหวัดปราจีนบุรี , ยาป้องกันการเกิดลิ่มเลือดยี่ห้อ Pradaxa อีกหลายกล่อง ก่อนนำมาแถลงข่าว ที่ กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง
โดย พล.ต.ต.จรูญเกียรติ กล่าวว่า การจับกุมในครั้งนี้ ต้องขอบคุณผู้แจ้งเบาะแส คือ คุณก้อย-พัชนีย์ ที่พบเห็นการทุจริตแล้วไม่นิ่งดูดาย ใช้ความรู้และทรัพย์สินส่วนตัวเก็บข้อมูลภาพคลิปหลักฐานทุกอย่าง ซึ่งทางผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลางจะมอบโล่ทำความดีเพื่อสังคมให้
สำหรับผู้ต้องหากลุ่มนี้ยังเป็นแค่กลุ่มแรก ซึ่งยังมีอีกหลายกลุ่มที่มีแผนประทุษกรรมแบบนี้ เป็นขบวนการใหญ่ ทำกันหลายที่ หลายโรงพยาบาล หลังจากนี้ จะต้องไปตามเช็คบิล โดยตอนนี้ตำรวจได้รับข้อมูลจากกรมบัญชีกลางแล้ว กำลังตรวจสอบว่ามีใครเข้าข่ายความผิดอีก โดยหากใครรู้ตัวว่ามีส่วนเกี่ยวข้อง ขอให้รีบเข้ามาพบเจ้าหน้าที่ ถ้าช้าจะถูกออกหมายจับ
พล.ต.ต.ประสงค์ เฉลิมพันธ์ ผู้บังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ กล่าวว่า หลังมีการเปิดประเด็นเรื่องนี้ทางโซเชียลเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ตำรวจได้ประสานรับข้อมูลและทำการสืบสวน จนสามารถระบุตัวผู้กระทำผิดได้ทั้งหมด 12 ราย และได้ขอออกหมายจับ 8 รายส่วนอีก 4 ราย ได้เรียกมารับทราบข้อกล่าวหาแล้ว
พ.ต.อ.เพิ่มวุฒิ ประทุมราช ผู้กำกับการ 1 กองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ อธิบายขบวนการทุจริตยานี้ว่า เริ่มขึ้นเมื่อประมาณปี 2561 โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือกลุ่มเจ้าหน้าที่รัฐ ได้แก่ แพทย์หญิงบรินดา ที่สั่งจ่ายยา และกลุ่มผู้สนับสนุน คือ พันเอกหญิงกัญยารัตน์ ที่ดำเนินการเกณฑ์คนผ่านแม่ทีม จากจังหวัดลพบุรี 6 ทีม รวมกว่า 600 คน ขึ้นรถตู้มาพบแพทย์หญิงที่โรงพยาบาลทหารผ่านศึก โดยทุกคนมีสิทธิเบิกจ่ายตรงจากกรมบัญชีกลาง ซึ่งจะได้รับค่าตอบแทนหัวละ 1,000 บาทในครั้งแรก หลังจากนั้นได้หัวละ 500 บาท และได้เปอร์เซ็นต์อีก 10% จากค่ายาที่เบิกได้ ส่วนแม่ทีมได้ค่าตอบแทนหัวละ 1,500 บาท
จากนั้น จะมารวมยากันที่ปั๊มน้ำมันข้างโรงพยาบาลและนัดหมายนำยาไปส่งในที่ต่างๆ ทั้งที่พักย่านเกียกกาย และคอนโดย่านพระราม 4 ของพันเอกหญิงกัญยารัตน์ ซึ่งใน 1 สัปดาห์แพทย์หญิงรายนี้จะลงตรวจทั้งหมด 3 วัน ดังนั้น ทุกวันอาทิตย์จะมีรถแท็กซี่มารับยาจากที่พักนำไปส่งให้ นายสมปราช ที่จังหวัดปราจีนบุรี ก่อนจะส่งกลับมาที่กรุงเทพมหานคร ให้นางสาวสุรีย์ และนายสมพงศ์ ซึ่งจะกระจายยาไปตามร้านขายยา จากการตรวจค้นที่จังหวัดปราจีนบุรี ได้พบถุงสีฟ้าที่ใช้บรรจุยาตรงกันกับที่พบในคอนโดย่านพระโขนงและพระราม 4 ด้วย
ด้านเภสัชกรเลิศชาย เลิศวุฒิ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ระบุถึงการเข้าตรวจสอบร้านยา 11 ร้านว่า พบ 5 ร้านที่ดำเนินการอย่างถูกต้อง แต่อีก 6 ร้าน พบว่ามีความสุ่มเสี่ยงที่จะรับยามาจากแหล่งไม่ถูกต้อง และมีการขายยาโดยที่เภสัชกรไม่อยู่ อีกทั้งยังขายยาในกลุ่มที่เป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท โดย 1 ใน 6 ร้าน พบสภาพไม่ได้เป็นร้านขายยา เป็นตึกปิดมิดชิด และไม่มีใบอนุญาตขายยาด้วย ซึ่งจะต้องไปตรวจสอบต่อด้วยว่ายาในกลุ่มวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทนั้นมีการนำมาจากที่ใด
นางแพตริเซีย มงคลวนิช อธิบดีกรมบัญชีกลาง กล่าวว่า กรมบัญชีกลางเป็นหน่วยงานกลางที่ดูแลค่ารักษาพยาบาลของข้าราชการและครอบครัว ซึ่งที่ผ่านมามีการเข้าไปตรวจสอบสถานพยาบาลต่างๆ ว่ามีการเบิกจ่ายยาอย่างถูกต้องหรือไม่ ซึ่งก็มีการเรียกเงินคืนอยู่บ้าง แต่กรณีเหล่านั้นเกิดจากการเบิกจ่ายที่ใช้เกิน หรือใช้สิทธิผิดประเภท รวมถึงมีบางกรณีที่คนไข้คนเดียวไปเบิกจ่ายยาจากหลายโรงพยาบาลในวันเดียวกัน ก็จะถูกระงับสิทธิและตรวจสอบ
แต่ขบวนการที่จับกุมในวันนี้มีความแตกต่าง คือมีการตั้งต้นจากตัวแพทย์เอง และมีคนใช้สิทธิมาเป็นลูกข่าย ซึ่งแพทย์หญิงคนนี้มีการสั่งจ่ายยาเป็นจำนวนมากที่สุดในโรงพยาบาลระหว่างปี 2560-2567 มีมูลค่าการสั่งจ่ายยา 84.7 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็น 33.17% ของแพทย์ทั้งหมดในโรงพยาบาลประมาณ 100 คน ดังนั้น หลังจากนี้จะต้องร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการไปไล่ตรวจสอบว่ามีขบวนการที่มีลักษณะเดียวกันนี้ เกิดขึ้นที่ไหนบ้าง
พลเอกเดชนิธิศ เหลืองงามขำ ผู้อำนวยการองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก เปิดเผยว่า ตนได้รับเข้าตำแหน่งเมื่อช่วงต้นปี พ.ศ.2567 ก็ได้พบจุดสงสัยของขบวนการทุจริตยาเวชภัณฑ์ โรงพยาบาลทหารผ่านศึก 4 ข้อ คือ 1.โรงพยาบาลทหารผ่านศึกขาดทุนปีละ 100 กว่าล้านบาท 2. พบชื่อผู้ป่วยซ้ำๆเข้ามารับยานอกบัญชีในระยะเวลาสั้นๆหลายครั้ง โดยเฉพาะการรักษที่ชั้น 12 ของโรงพยาบาล ซึ่งพบว่า มีคน 10 คนที่มารถคันเดียวกัน ให้หมอหญิง บ.ใบไม้ตรวจและสั่งจ่ายยา 3. เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลที่ทราบว่ามีขบวนการดังกล่าวอยู่ในโรงพยาบาล และมาแจ้งให้ทราบ และ 4. พบเห็นรถต้องสงสัยมาคอยรอรับ-ส่งผู้ป่วยบ่อยครั้ง
ตนจึงได้จัดตั้งคณะกรรมการตรวจสอบเส้นทางการเงินภายในโรงพยาบาลทหารผ่านศึก ซึ่งทำได้แค่เพียงในระดับหนึ่ง ไม่สามารถเข้าลึกไปถึงข้อมูลตัวบุคคลสำคัญได้ แต่ตอนนี้ได้มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างเช่น บก.ปปป. , ป.อ.ท. , ป.ป.ช. , อย. และ กรมบัญชีกลาง เข้ามาร่วมในการตรวจสอบการทุจริตยาและเวชภัณฑ์ในโรงพยาบาลทหารผ่านศึก จนเป็นที่มาของภารกิจ "สยบนาคี ล้างบางเส้นทางยาเถื่อน" ซึ่งเรื่องดังกล่าวตนจะไม่ปล่อยปะละเลยกับทุจริตในครั้งนี้ และไปกระทบต่อทหารผ่านศึกทุกคน ที่ยอมเสียสละเป็นบุคคลสำคัญของประเทศชาติ
ต่อมา ในปีงบประมาณ 2567 ได้เข้มงวดกับเงื่อนไขการเบิกจ่ายยา ส่งผลให้งบการเงินกลับมาเป็นบวก มีกำไร 70 ล้านบาท จึงขอยืนยันว่าจะให้ความร่วมมือ ควบคุมระเบียบร่วมกับกรมบัญชีกลาง ไม่ให้เงินภาษีประชาชนรั่วไหลอีก แม้แต่บาทเดียว
ส่วนอดีตผู้อำนวยการโรงพยาบาลทหารผ่านศึกกจะมีส่วนเกี่ยวข้องหรือไม่นั้น ตรงนี้ต้องให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย โดยจะต้องทำการตรวจสอบและรวบรวมพยานหลักฐานในทุกมิติ หากมีความเกี่ยวข้องจริงก็ จะดำเนินการตามขั้นตอนกฎหมาย
ขณะที่ทาง นายเทพสุ บวรโชติดารา เลขาธิการคณะกรรมการ ปปง. กล่าวว่า หลังจากนี้จะเสนอต่อคณะกรรมการธุรกรรม ให้มีมติมอบหมายในการตรวจสอบเชิงลึกอย่างเร่งด่วน ซึ่งนอกจากการยึดทรัพย์ จะทำการตรวจสอบธุรกรรมทางการเงินทั้งหมด โดยเฉพาะของแพทย์หญิงที่สั่งจ่ายยา ซึ่งหากพบว่าเกี่ยวข้องกับข้อหาฟอกเงิน ก็จะต้องดำเนินคดีต่อไป
พ.ต.ท.สิริพงษ์ ศรีตุลา ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรม ป.ป.ท. เปิดเผยการดำเนินคดีกับผู้ต้องหายืนยันว่า วันนี้ถือเป็นดำเนินคดีเครือข่ายทั้งหมด 12 คนแล้ว ครบทั้งขบวนการไม่เหลือใครตกขบวนแล้ว ซึ่งผู้ต้องหาทั้งหมด 12 คน ให้การปฏิเสธในข้อกล่าวหาทั้งหมด
ส่วนนายสมปราช ที่เป็นคนรับยามาจาก พันเอกหญิงกัญยารัตน์ และถูกจับกุมในจังหวัดปราจีนบุรี นั้น ยอมรับแค่ในพฤติการณ์ที่ทำ แต่ปฏิเสธข้อกล่าวหา
ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่า นายสมปราช หลังจากรับยามาจาก พันเอกหญิงกัญยารัตน์ จากนั้นนางสาวสุรีย์ ได้ซื้อต่อมา แล้วนำมากระขายส่งต่อที่ร้านขายยา นายสมปราช กับ นางสาวสุรีย์ รู้จักกันผ่านทางโซเชียล และค้าขายยากันมา 6-7 ปีแล้ว
พ.ต.ท.สิริพงษ์ ยังอธิบายถึงการได้ผลประโยชน์ของขบวนการนี้ด้วยว่า ยามี 2 ชนิด คือ ยาในบัญชีที่ผลิตในประเทศไทย ส่วนยานอกบัญชีคือยาที่นำเข้ามาจากประเทศ มีราคาแพง ซึ่งจากการพบในเคสนี้ เป็นยานอกบัญชี 90% ผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นห่างกัน 2-10 เท่าตัว และเคสนี้ยาไม่มีต้นทุน เพราะทุกบัตรประชาชนที่ถือมาคนที่จ่ายเงินคือกรมบัญชีกลาง
จากการตรวจสอบก็พบเป็นยาในกลุ่มเรื้อรัง ยาเบาหวาน ความดัน และยาที่พบมากที่สุดในขบวนการนี้ คือ ยาลดไขมันในเลือด ซึ่งมีราคาเกือบ 1,000 บาทต่อกล่อง ต้นทุนอาจจะ 3 บาทต่อเม็ด แต่พอไปถึงร้านขายยาเพิ่มขึ้นเป็น 20-21 บาทต่อเม็ด ซึ่งจากขบวนการนี้ สร้างความเสียหายต่อรัฐทั้งหมด 50-60 ล้านบาท
ส่วนพยานหลักฐานในคดี ที่สามารถเอาผิดได้นั้น เริ่มจากการใช้ดุลพินิจที่ผิดปกติ จากการไปตรวจสอบเวชระเบียน พบการกรอกเอกสารเท็จ นอกจากนี้ยังมีพยานหลักฐานที่เข้ามายืนยันเรื่องการรับประโยชน์ เส้นทางการเงิน รวมถึงการตรวจสอบการทำหน้าที่ของแพทย์หญิง ซึ่งได้ตรวจสอบไป 5 ปีย้อนหลัง พบว่าแพทย์หญิงท่านนี้มีคนไข้ที่อยู่ในความดูแล 2,000 กว่าคน และเครือข่ายพวกนี้ จะแวะมาโรงพยาบาล 4 ครั้งต่อปี เท่ากับจะรักษาคนไข้และจ่ายให้หมื่นกว่าครั้งต่อปี จึงเป็นความผิดปกติทั้งหมด.
Advertisement