จากกรณีที่อาคารสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินถล่มขณะกำลังก่อสร้าง หลังเกิดเหตุแผ่นดินไหว เมื่อวันนี้ 28 เม.ย.ที่ผ่านมา
ล่าสุดทีมข่าวอมรินทร์ทีวีได้พูดคุยกับนายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส อดีตผู้ว่าการสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน โดยทางด้านของ นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส เปิดใจกับทีมข่าวว่า ตนเองดำรงตำแหน่งเป็น “ผู้ว่าการสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน” ช่วงปี 2557-2560 ซึ่งในช่วงนั้นทางสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน มีความจำเป็นที่จะต้องหาสถานที่ในการสร้างตึกของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน เนื่องจากว่าที่อยู่เดิมที่อยู่ร่วมกับกระทรวงการคลัง กำลังจะถูกไล่ที่ เนื่องจากทางกระทรวงการคลัง ต้องการพื้นที่คืน และเปลี่ยนตึกแห่งนั้นเป็นศูนย์ราชการใหญ่ๆ ทางสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน จึงจำเป็นที่จะต้องหาที่ดินเพื่อสร้างตึกทำการของตนเอง ซึ่งพื้นที่หลวงในกรุงเทพนั้นไม่มี สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน จึงจำเป็นที่จะต้องไปเช่าที่ของการรถไฟแห่งประเทศไทย บริเวณที่เกิดเหตุ ในราคาปีละ 35 ล้านบาท ซึ่งก็มีการตั้งงบประมาณ และจ่ายค่าเช่าให้ทางการรถไฟ
ส่วนในเรื่องของการสร้างอาคารว่าทำไมถึงต้องสูงถึง 30 ชั้น ตนเองต้องบอกว่าการสร้างอาคารของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินนั้น ต้องคำนวณว่ามีคนเข้ามาทำงานที่ตึกสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินทั้งหมดกี่คน ซึ่งบุคลากรของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินมีอยู่ประมาณ 2,000 คน หลังจากนั้นก็ให้มีผู้เสนอแบบมาว่าเป็นแบบแนวตั้ง หรือแนวราบ ซึ่งในตอนนั้นตนเองก็ไม่ทราบว่ามีผู้มาเสนอแบบในการสร้างตึกจำนวนกี่เจ้า แต่เท่าที่ตนรู้คือที่แบบตึกนี้ถูกเลือก เนื่องจาก “แบบโดนใจ” จึงถูกเลือกมา ซึ่งตนมองว่าที่แบบตึกแห่งนี้ ถูกเลือกเนื่องจากว่าถ้าหากสร้างตึกโดดเด่น ก็จะเป็นหน้าตาของประเทศ
ทีมข่าวจึงสอบถามว่าแล้วการสร้างตึกแห่งนี้ ผู้ลงนามในการสร้างตึกเป็นใคร ทางด้าน นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส เผยว่า เรื่องการก่อสร้าง และตรวจรับงาน สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน ไม่มีผู้ประกอบวิชาชีพ ที่จะควบคุมงานด้านนี้โดยตรง แต่มีคนตรวจรับคนคุมงานอีกที ซึ่งบุคคลนี้จะต้องดูว่าการก่อสร้างเป็นไปตามหล้กหรือไม่ ตามแบบหรือไม่ ซึ่งคนคุมงานจะต้องส่งมอบงานให้กับทาง สตง. เพื่อที่จะเบิกเงินค่าก่อสร้าง และค่าคุมงาน ซึ่งคนที่จะเซ็นอนุมัติในการเบิกจ่ายได้ก็คือ “ผู้ว่าการสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน” แต่การจ่ายเงินต้องมีหลักเกณฑ์ หลักฐาน ที่มีการตรวจมาแล้ว และมีคนที่ทำวิชาชีพยืนยันว่าการก่อสร้างถูกต้อง ถึงจะเบิกจ่ายได้ ซึ่งในเมื่อตึกถล่มลงมาแบบนี้แล้วตัวของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน ก็ไม่ต้องจ่ายในส่วนที่เหลือ แต่การตรวจสอบนั้น สตง. ก็ต้องตรวจสอบภายในตัวเอง แล้วในหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องก็จะต้องช่วยกันตรวจสอบว่าใครจะต้องมารับผิดชอบในกรณีนี้
ทีมข่าวจึงได้สอบถามว่าแล้วในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ สตง. จะต้องรับผิดหรือไม่ ทางด้านของ นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส เผยว่า เรื่องนี้ต้องแบ่งช่วงเวลา ถ้าหากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอยู่ในช่วงของการสรรหาผู้รับเหมา สตง. ต้องรับผิดชอบ แต่ในเมื่อ สตง. ได้ผู้รับเหมา มีแบบแล้ว มีคนคุมงานแล้ว ความรับผิดชอบก็ต้องอยู่ใน 3 ตำแหน่งนี้ โดยเฉพาะคนคุมงาน อาจจะต้องดูแลในส่วนของงานก่อสร้าง ให้มีความราบรื่น ซึ่งเมื่ออาคารพังลงมาในลักษณะนี้ตัวของคนคุมงานก็จะต้องถูกตรวจสอบ และดูว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นเกิดจากวัสดุไม่ถูกต้อง ไม่ตรงตามที่ตกลงกัน คนคุมงานปล่อยปะละเลย หรือการก่อสร้างผิดวิธี แต่ในส่วนของ สตง. นั้น ก็ต้องถูกตรวจสอบว่าในการตรวจรับทาง สตง. ประมาท บกพร่องหรือไม่ ซึ่งจริงๆแล้ว ทาง สตง. ตั้งใจจะบอกเลิกสัญญากับบริษัทรับเหมา เนื่องจากการก่อสร้างค่อนข้างเป็นไปอย่างล่าช้า และเลยเวลามากกว่า 100 วัน แต่ก่อนจะมีการยกเลิกสัญญาก็มาเกิดเหตุก่อน
หลังจากนั้นทีมข่าวจึงได้สอบถามว่า เก้าอี้ที่ใช้ในสำนักงานทำไมต้องซื้อในราคาถึง 90,000 บาท ทางด้าน นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส อดีตผู้ว่า สตง. พูดต่อว่าการซื้อข้าวของที่ใช้ภายในสำนักงานนั้นมีที่มาที่ไป ไม่ใช่ว่าใครอยากได้ แล้วถึงจะสั่งออกแบบ แต่ทางผู้รับเหมาจะมีการเทียบว่าผู้บริหารของ สตง. เทียบแล้วจะมีตำแหน่งเท่ากับหน่วยงานรัฐในตำแหน่งใด หลังจากนั้นก็มาคิดว่าต้องใช้เก้าอี้แบบใด คุณภาพขนาดไหน ซึ่งเมื่อสั่งทำมาแล้วก็ต้องดูดี สมฐานะกับตำแหน่ง ซึ่งตนเองก็มองว่าประชาชนอาจจะไม่พอใจในข้อนี้ แต่ในเมื่อยังดำเนินการไม่เสร็จสิ้น ก็ให้ย้อนกลับไปคิดทบทวนใหม่อีกครั้ง ว่าเก้าอี้ต้องราคาสูงถึง 90,000 บาทหรือไม่
ทีมข่าวจึงได้สอบถามว่าแล้วในเรื่องของฝักบัว จำเป็นจะต้องมีอยู่ในสำนักงานด้วยหรือไม่ ทางด้านของนายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส เผยว่า ตัวของฝักบัว ก็ต้องดูว่าจำเป็นต้องใช้กี่อัน และราคาเท่าไหร่ แต่ส่วนตัวมองว่าหากว่าฝักบัวอยู่ในห้องของเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย หรือคนขับรถ อาจจะเป็นไปได้ เพราะเจ้าหน้าที่อาจจะต้องอาบน้ำ แต่ในส่วนของผู้บริหารนั้นจำเป็นจะต้องมีหรือไม่ ตนเองมองว่าก็อยู่ที่มุมมอง ซึ่งในส่วนของผู้บริหารเองอาจจะออกไปติดต่องาน แล้วกลับมาก็จำเป็นจะต้องอาบน้ำเปลี่ยนเสื้อผ้า แต่การอาบน้ำทำทุกวันหรือไม่ก็ต้องมาดู ซึ่งตนมองว่าเรื่องแบบนี้สามารถปรับเปลี่ยนได้ แต่ก็ต้องมาดูว่าทำไมถึงต้องมีสูงถึง 44 อัน ซึ่งตรงนี้ตนเองมองว่าโชคดีที่ผู้ออกแบบไม่ออกแบบให้ห้องอาบน้ำมีอ่างอาบน้ำด้วย ถ้าอย่างนั้นน่าเกลียดมาก
ถามว่าในเมื่อ สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน เป็นองค์กรอิสระ เมื่อเกิดเหตุในลักษณะนี้เกิดขึ้นแล้วใครจะต้องเป็นคนตรวจสอบ ทางด้านของ นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส เผยว่า สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินเป็นองค์กรตรวจสอบอิสระ ไม่ขึ้นกับกรม หรือกระทรวงไหน ทำให้ไม่มีนักการเมืองคนไหนเข้ามายุ่ง แต่ สตง. ไม่ได้อิสระจากการตรวจสอบ ซึ่งตัวของ สตง. เองจะต้องถูกตรวจสอบจากกรมบัญชีกลาง ซึ่งในตอนนี้เท่าที่ตนทราบสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินเองมีการเตรียมเอกสารพร้อมที่จะให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาตรวจสอบ
สอบถามกับ นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ในมุมมองเรื่องหลังจากที่เกิดเหตุทำไมสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน ถึงไม่ออกมาขอโทษครอบครัวของผู้เสียชีวิต หรือผู้สูญหายเลย ทางด้านของ นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส เผยว่า ตนเองมองว่าสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินในยุคนี้ อาจจะไม่เก่งในเรื่องของการประชาสัมพันธ์ แต่อาจจะเก่งในเรื่องของการตรวจสอบ แต่ยอมรับว่าตนเองเห็นในไลน์กลุ่มที่ทางสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินได้มีการเปิดบัญชีรับบริจาค เชิญชวน จากข้าราชการที่ทำงานอยู่ในสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน เพื่อนำเงินดังกล่าวไปเยียวยาให้กับครอบครัวของผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บ ตนเองจึงมองว่าในส่วนนี้อาจจะเป็นการแสดงความเสียใจอย่างเป็นรูปธรรมแล้ว
Advertisement