เมื่อวันที่ 26 ก.ย.64 กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ประสาน 12 จังหวัดลุ่มน้ำเจ้าพระยา ได้แก่ อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี ปทุมธานี นนทบุรี สมุทรปราการ และสมุทรสาคร รวมถึงกรุงเทพมหานคร ให้เตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำหลาก จากพื้นที่ตอนบนของลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาไหลลงเหนือเขื่อนเจ้าพระยา และแจ้งเตือนหน่วยงานที่ประกอบกิจการในแม่น้ำเจ้าพระยา และประชาชนที่อาศัยอยู่ริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ให้เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ ระดับน้ำ และประกาศเตือนภัยอย่างใกล้ชิด
นายบุญธรรม เลิศสุขีเกษม อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ในฐานะผู้อำนวยการกลาง กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) เปิดเผยว่า จากการติดตามสถานการณ์น้ำกับกรมชลประทาน พบว่าในห้วงเวลาที่ผ่านมา ประเทศไทยมีฝนตกสะสมอย่างต่อเนื่องบริเวณประเทศไทยตอนบน และคาดการณ์ว่าในช่วงวันที่ 26-30 ก.ย.2564 ร่องมรสุมจะเลื่อนลงไป พาดผ่านภาคกลางตอนล่าง ทำให้ยังคงมีฝนตกหนักบางพื้นที่ บริเวณภาคกลาง ส่งผลให้มีปริมาณน้ำไหลลงเหนือเขื่อนเจ้าพระยาในอัตราเพิ่มมากขึ้น
โดยคาดการณ์ปริมาณน้ำไหลผ่านสถานีวัดน้ำ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอยู่ในเกณฑ์ประมาณ 2,400-2,500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งจะส่งผลให้ระดับน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยาสูงเพิ่มขึ้น ประมาณ 0.30-1.00 เมตร ระหว่างวันที่ 26-29 ก.ย.2564 ในบริเวณลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำ
ปภ.จึงได้ประสาน 12 จังหวัดลุ่มน้ำเจ้าพระยา เตรียมพร้อมรับสถานการณ์น้ำเอ่อล้นตลิ่งจากระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาที่เพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง รวมถึงเตรียมพร้อมในการขนย้ายสิ่งของขึ้นที่สูง ให้พ้นจากแนวน้ำท่วม
หากได้รับความเดือดร้อน แจ้งเหตุและขอความช่วยเหลือทางไลน์ ปภ.รับแจ้งเหตุ1784 โดยเพิ่มเพื่อน Line ID @1784DDPM และแอปพลิเคชัน พ้นภัย รวมถึงสายด่วนนิรภัย1784 ตลอด 24 ชั่วโมง
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ชาวนนท์เฝ้าระวัง น้ำท่วม กรมชลฯ ออกหนังสือด่วนที่สุด แจ้งทุกหน่วยเตรียมรับมือ 24 ชม.
- สภาพอากาศวันนี้ (27 ก.ย.64) ไทยยังมีฝนฟ้าคะนอง เตือน 33 จังหวัดตกหนัก
- แตกตื่น! อ่างเก็บน้ำลำเชียงไกร แตก ผอ.ชลประทาน โคราช ยันไม่จริง สถานการณ์น้ำยังคุมได้
Advertisement