อนุทิน ยัน ไม่มีภาพคนป่วยติดโควิดนอนรอเตียงข้างถนน ย้ำ ระบบ สธ. รับได้ แจง ผู้ป่วยสีเขียวกักตัวที่บ้าน สีเหลือง-แดง ยังเข้าระบบฉุกเฉินได้
เมื่อเวลา 08.40 น. วันที่ 22 ก.พ. 65 ที่ ทำเนียบรัฐบาล นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงสถานการณ์ผู้ติดเชื้อโควิด ที่ปรากฏเป็นข่าวและมีภาพ ผู้ป่วยโควิดนอนข้างถนน ระหว่างรอเข้ารับการรักษา
อนุทิน ยัน ไม่มีเหตุการณ์เช่นนั้น ยืนยันว่าไม่มีตามภาพที่ออกมา ตรวจสอบกับปลัดกระทรวงสาธารณสุข ทุกวัน และจำนวนเตียงที่มีอยู่ตามโรงพยาบาลต่างๆ ทั่วประเทศ ยังมีความพร้อม
"เรื่องที่มาถามว่ามีคนมานอนอยู่ข้างถนน ผมเห็นข่าวก็ไม่ได้อยู่เฉยๆ ทั้งปลัดกระทรวงฯ อธิบดีฯ เช็กแล้วเช็กอีกก็ไม่มี เพราะเตียงยังพอมีอยู่ ยังครองไม่ถึงครึ่ง ส่วนยาก็มีเต็มที่ และเวลานี้เราเน้นการรักษาตัวที่บ้านเป็นหลัก"
ผู้สื่อข่าวถามว่าจะปรับระบบของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เพื่อรองรับจำนวนผู้ติดเชื้อ ที่เพิ่มมากขึ้นอย่างไร นายอนุทิน กล่าวว่า "ปรับแล้ว โดยเรื่องของสิทธิการรักษาตามนโยบายรัฐบาล เพื่อคุ้มครองผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต (ยูเซป) ยืนยันว่าไม่ได้ยกเลิกการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 แต่รักษาตามสมมติฐานของโรค เช่น ผู้ป่วยโควิดส่วนใหญ่ ที่ไม่แสดงอาการ ไม่มีอาการรุนแรง หรือผู้ป่วยสีเขียว จะใช้การรักษาแบบรักษาตัวที่บ้าน หรือที่ศูนย์พักคอยชุมนุม
ส่วนผู้ป่วยที่มีอาการสีเหลืองขึ้นไปจนถึงสีแดง คือตั้งแต่ปานกลางถึงรุนแรง สามารถเข้ารับการรักษาพยาบาลภายใต้ระบบยูเซปได้ และสามารถรักษาที่โรงพยาบาลเอกชนได้โดยไม่มีกำหนดเวลา 72 ชั่วโมง ที่จำแนกประเภทของผู้ป่วย เพื่อให้เตียงมีจำนวนว่างมากที่สุด รวมถึงอุปกรณ์การแพทย์ เวชภัณฑ์ ทรัพยากรบุคคลทางการแพทย์ให้มีเพียงพอ หากผู้ป่วยสีเขียวที่ไม่มีอาการ ถ้าทุกคนแห่ไปที่โรงพยาบาล ก็จะมีปัญหาเพราะไม่ได้มีเฉพาะแค่โควิดอย่างเดียว ยังมีโรคอื่น ดังนั้นเราต้องบริหารจัดการระบบสาธารณสุขให้ดี
เมื่อถามถึงความชัดเจนการประกาศยกระดับแจ้งเตือนของกระทรวงสาธารณสุข เป็นระดับ 4 นายอนุทิน กล่าวว่า ไม่ได้ยกระดับ อยู่ระดับนี้มาตั้งนานแล้ว และเมื่อเดือน ม.ค. ที่ผ่านมาประกาศลดระดับจาก 5 เหลือ 4 โดยการแจ้งเตือนระดับ 4 เป็นแนวทางสำหรับปฏิบัติ หากเราสามารถเว้นระยะห่าง ทำงานจากที่บ้าน ลดการสังสรรค์ ก็จะเป็นเรื่องดี เปรียบเหมือนเป็นการเตือนว่าเริ่มมีอาการความดัน แล้วให้ลดอาหารเค็ม แต่ถ้ายังกินต่อ ก็จะออกอาการเป็นโรคไต หรือความดันสูง นำไปสูงการห้ามหรือควบคุมอาหาร
เมื่อถามย้ำว่า เริ่มมีข้อสงสัยว่าอาจจะต้องล็อกดาวน์หรือต้องเพิ่มมาตรการอะไรหรือไม่ นายอนุทิน กล่าวว่า "ใจเย็นๆ ประเทศอื่นทั่วโลก กราฟผู้ติดเชื้อโควิด-19 พุ่งสูงกว่าประเทศเรา แต่เขาผ่อนคลาย ส่วนเราก็ต้องหาทางที่ดีที่สุด เดินทางสายกลาง ซึ่งเชื้อโอมิครอนติดง่าย หายเร็ว ความรุนแรงของโรคไม่เหมือนสายพันธุ์อื่น"
ผู้สื่อข่าวถามว่าในการประชุม ศบค.ชุดใหญ่ในวันที่ 23 ก.พ.นี้ทางกระทรวงสาธารณสุข จะเสนอเพิ่ม หรือปรับ มาตรการอย่างไรหรือไม่ นายอนุทิน กล่าวว่า "เรื่องมาตรการต่างๆ ทางศูนย์ปฏิบัติการกระทรวงสาธารณสุขจะเป็นผู้นำเสนอ โดยพิจารณาให้เกิดความสะดวกกับประชาชนทุกคน เป็นการเสนอตามวาระปกติ และอาจจะมีการเสนอเรื่องมาตรการการเข้าประเทศที่ต้องตรวจ RT-PCR ในวันที่ 5 ยังมีความจำเป็นอยู่หรือไม่ โดยแนวโน้มอาจจะลดการตรวจ RT-PCR ในวันที่ 5 เพราะดูแล้วอาจจะไม่เกิดประโยชน์ ขณะที่การควบคุมโรคยังดีอยู่และการติดเชื้อส่วนใหญ่ยังอยู่ในประเทศไม่ได้มาจากต่างประเทศ"
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- เพจเส้นด้าย รุดช่วย ชายติดโควิดนอนข้างถนน เผย รพ.หลายแห่งเตียงเต็ม ฮอสพิเทล งดรับเคส
- เส้นด้าย รุดช่วยชายไร้บ้าน ป่วยโควิด อาการทรุดระดับวิกฤต กว่า 2 ชม. ถึงหา รพ. รับรักษาได้
- ปลัด สธ.ออกหนังสือ ด่วนที่สุด ถึง รพ.ทั่วประเทศ รับมือผู้ป่วยโควิดพุ่ง