สธ.ประเมิน ไทยรับมือโควิด-19 ตามสมรรถนะของ WHO พบอยู่ในระดับ "ดีมาก" คาดปรับสู่การเป็นโรคประจำถิ่น ได้ในเดือน ก.ค.นี้
วันที่ 5 มี.ค.65 นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ หัวหน้าที่ปรึกษาระดับกระทรวง ประธานคณะกรรมการ MIU และโฆษกกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยที่มีทิศทางลดความรุนแรงลง นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข จึงให้มีการวางแผน เตรียมความพร้อมในการบริหารจัดการเพื่อเข้าสู่การเป็น “โรคประจำถิ่น" อย่างดีสุด โดยเน้นการนำข้อมูลด้านระบาดวิทยาและวิชาการ การระดมความเห็นผู้ทรงคุณวุฒิทั้งภายในและนอกกระทรวงสาธารณสุข การติดตามประเมินผลและถอดบทเรียนทั้งในระดับชาติและพื้นที่ มาใช้ในการพัฒนาการบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพ
ล่าสุด ทีมวิจัยกระทรวงสาธารณสุข มหาวิทยาลัยต่างๆ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ประเมินผลการรับมือสถานการณ์โควิด-19 โดยลงพื้นที่จริงทั้งในระดับประเทศ และในระดับพื้นที่ จำนวน 8 พื้นที่หลัก และ 44 พื้นที่ย่อย เพื่อจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบาย การเตรียมความพร้อมและมาตรการสำคัญในการรับมือสถานการณ์ในระยะถัดไปจนเข้าสู่การยุติการระบาด โดยประเมินตามสมรรถนะหลักขององค์การอนามัยโลก (WHO) และถอดบทเรียน ทบทวนหลังปฎิบัติงาน (After Action Review : AAR) พบว่า
- ประเทศไทยและกระทรวงสาธารณสุขมีสมรรถนะและการรับมือสถานการณ์อยู่ในระดับดีมาก ใน 7 องค์ประกอบหลัก เช่น ภาวะผู้นำ การบริหารจัดการ กำลังคน ยา เวชภัณฑ์ วัคซีน ระบบบริการ การมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่างๆ
- ขณะนี้ สถานการณ์ส่วนใหญ่ทั่วโลกและประเทศไทย อยู่ในระยะการปรับตัวเข้าสู่การยุติการระบาดใหญ่ (Pandemic Ending) เป็น “โรคประจำถิ่น (Endemic)” จากปัจจัยของเชื้อที่ลดความรุนแรงลงมาก โดยขณะนี้สถานการณ์อยู่ในระยะทรงตัวและชะลอการเพิ่มจำนวน คาดว่าจะดีขึ้นตามลำดับและเข้าสู่การเป็นโรคประจำถิ่นในต้นเดือนกรกฎาคม 2565 นี้
อย่างไรก็ตาม ปัจจัยสำคัญในการยุติการระบาดใหญ่ คือ ระดับภูมิคุ้มกันต่อโควิด 19 ของประชาชน ดังนั้น ต้องขอความร่วมมือประชาชน เข้ารับวัคซีนเข็มกระตุ้น เพื่อลดจำนวนผู้ป่วยอาการรุนแรงและผู้เสียชีวิตลงให้มากที่สุด โดยเฉพาะผู้สูงอายุ
ข้อมูลกรมควบคุมโรคพบว่า การได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้น จะลดโอกาสเสียชีวิตลงได้ถึง 41 เท่า รวมถึงยังต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการติดเชื้ออย่างเคร่งครัด เพื่อลดและชะลอจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ ซึ่งจะช่วยลดการแพร่ระบาดโรคทางเดินหายใจอื่นๆ ด้วย เช่น วัณโรค ไข้หวัดใหญ่ - ระบบบริการการแพทย์และสาธารณสุข เช่น ระบบป้องกันควบคุมโรค บุคลากร ยา เวชภัณฑ์ และจำนวนเตียงรองรับผู้ป่วย มีความพร้อมในการรับสถานการณ์ แต่ต้องปรับการดูแลรักษาผู้ป่วย ในลักษณะเดียวกับการดูแลผู้ป่วยโรคติดต่อทั่วไป เช่น ไข้หวัดใหญ่
โดยผู้ที่ไม่มีอาการหรืออาการน้อย ให้รักษาตัวแบบผู้ป่วยนอก (OPD) ดูแลตนเองที่บ้าน และรับเป็นผู้ป่วยใน (IPD) ในกรณีที่มีอาการรุนแรง หรือเสี่ยงที่จะมีอาการรุนแรง การเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรค จะเน้นการสอบสวน ควบคุมการระบาดที่เป็นกลุ่มก้อน เฝ้าระวังสายพันธุ์โควิด-19 ที่กลายพันธุ์และเพิ่มความรุนแรง และพิจารณาการให้วัคซีนในระยะถัดไป เป็นการให้วัคซีนประจำปีในกลุ่มเสี่ยงคล้ายการให้วัคซีนไข้หวัดใหญ่
นอกจากนี้ ต้องเร่งพัฒนาระบบสาธารณสุขในเขตเมืองขนาดใหญ่ เช่น กทม. โดยเฉพาะระบบการดูแลสุขภาพระดับปฐมภูมิที่เข้มแข็ง จิตอาสา อาสาสมัครสาธารณสุขระดับพื้นที่ ให้เหมาะสมกับบริบท ส่งเสริมพัฒนากลไกการบริหารจัดการ ความร่วมมือในการดำเนินงานจากทุกภาคส่วนให้เป็นทิศทางเดียวกันอย่างมีประสิทธิภาพ - ระบบเวชภัณฑ์ ยา วัคซีน สามารถบริหารจัดการได้ดี มีจำนวนเพียงพอ นโยบายรัฐบาลมีความต่อเนื่องในการพัฒนาความมั่นคงด้านสุขภาพ โดยส่งเสริมสนับสนุนให้เกิดการผลิตและสามารถพึ่งตนเองได้เองภายในประเทศ เช่น โรงงานผลิตวัคซีน ยา และเวชภัณฑ์ เพื่อพร้อมรับมือวิกฤติการณ์ด้านสุขภาพ และการระบาดของโรคติดต่ออุบัติใหม่อื่นๆ ในอนาคต
- ต้องเร่งพัฒนาระบบการสื่อสารสร้างความเข้าใจที่ทันสมัยและเป็นเชิงรุก ทั้งในสื่อสังคมออนไลน์ และสื่ออื่นๆ ให้เข้าถึงประชาชนทุกกลุ่ม รวมถึงบริหารจัดการข่าวปลอมอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงเร่งเตรียมความพร้อมเข้าสู่การเป็น “โรคประจำถิ่น” โดยสร้างความรู้ ความเข้าใจ การปรับตัว ทั้งในภาคประชาชน สังคม วัฒนธรรม การใช้ชีวิตรูปแบบวิถีใหม่ (New Normal) มาตรการทางสังคมที่ดีและเหมาะสม เช่น การป้องกันตนเองและผู้อื่น ความรับผิดชอบต่อสังคมเพื่อไม่ให้เกิดการระบาดหรือการแพร่เชื้อ เป็นต้น
“หากเทียบเคียงกับการระบาดใหญ่ของโรคไข้หวัดใหญ่ 2019 เมื่อพ.ศ. 2552 ขณะนี้เป็นการเข้าสู่การยุติการระบาดใหญ่ และปรับตัวไปเป็นโรคประจำถิ่น ซึ่งวิกฤตโรคโควิด 19 ครั้งนี้จะสิ้นสุดลงได้ ก็ด้วยความร่วมมือของทุกฝ่าย ทั้งการบริหารจัดการและมาตรการในระดับชาติและพื้นที่ พลังความร่วมมือของหน่วยงานภาครัฐและเอกชน และที่สำคัญคือ การสร้างความรู้ ความเข้าใจ และความร่วมมือจากประชาชน” นพ.รุ่งเรือง กล่าว
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- เปิดแนวทาง Home Isolation สำหรับเด็กติดโควิด และอาการแบบใดต้องไป รพ.
- ผู้ป่วยโควิด รักษาตัวที่บ้าน สังเกต 9 อาการ ส่งสัญญาณของอาการ ปอดอักเสบ
- เจอ-แจก-จบ คืออะไร? เปิดแนวทาง รักษาโควิด แบบผู้ป่วยนอก