อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เผย ไทยพบผู้ป่วย โอมิครอน 4 ราย เข้าข่ายติดเชื้อสายพันธุ์ย่อย BA.2.2
วันนี้ (14 มี.ค.65) นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แถลงการเฝ้าระวังสายพันธุ์และการกลายพันธุ์ของเชื้อโควิด 19 โดยกล่าวว่า ขณะนี้ การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทย เหลือผู้ติดเชื้อสายพันธุ์เดลตาเพียง 0.3% ที่เหลือเป็นสายพันธุ์โอมิครอน 99.7%
สำหรับสายพันธุ์โอมิครอนที่ระบาดอยู่ในขณะนี้นั้น นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า แนวโน้มสายพันธุ์โอมิครอน สายพันธุ์ย่อย BA.2 พบมากขึ้น ร้อยละ68 ส่วน BA.1 พบร้อยละ 32.4
โดยขณะนี้ ประเทศไทยได้พบผู้ติดเชื้อสายพันธุ์ย่อย BA2.2 เป็นต่างชาติ 1 ราย คนไทย 3 ราย พบการกลายพันธุ์ในตำแหน่งเดียวกันกับที่พบในประเทศฮ่องกง โดยทั้ง 4 เป็นการพบจากระบบเฝ้าระวังตรวจตราสายพันธุ์ในประเทศ แต่ทั้งนี้ต้องรอข้อมูลอย่างเป็นทางการจากระบบจีเซทก่อน ในการวิเคราะห์ข้อมูล และนำสายพันธุ์นี้เข้าระบบ เบื้องต้นจำนวน 4 ราย ที่พบในไทยอาการรุนแรงไม่รุนแรงและรักษาหายแล้ว
“อยากให้มั่นใจระบบที่เราวางไว้ เราตรวจโดยการรหัสพันธุกรรมทั้งตัว และส่งข้อมูลเข้าระบบฐานข้อมูลโลก GISAID ทุกสัปดาห์ 500-600 ตัวอย่าง ดังนั้น ถ้ามีอะไรผิดปกติเราเจอแน่นอน อย่างสัปดาห์ล่าสุดวันที่ 7-13 มี.ค. เราส่งผลการถอดรหัสพันธุกรรมทั้งตัว 673 ตัวอย่าง ส่วนใหญ่ยังเป็นโอมิครอน BA.1.1 มากที่สุด 333 ตัวอย่าง รองลงมาคือ BA.2 จำนวน 135 ตัวอย่าง ขณะที่ข้อมูล GISAID จากทั่วโลก ยังเป็นสายพันธุ์ BA.1 มากที่สุด ส่วน BA.2 ยังเจอประมาณ 2.5 แสนราย ขณะที่ BA.3 ยังอยู่ระดับ 500 กว่าตัวอย่าง” นพ.ศุภกิจ กล่าว
ส่วนกรณีที่ประเทศฮ่องกงพบสายพันธุ์โอมิครอน สายพันธุ์ย่อย BA.2.2 ว่า เบื้องต้นยังไม่ถูกประเมินให้เป็นสายพันธุ์น่ากังวลหรือสายพันธุ์ที่ต้องเฝ้าระวังจากข้อมูลที่มีในปัจจุบัน เนื่องจากยังไม่มีข้อมูลที่เพียงพอจะประเมินความสามารถในการแพร่กระจายความรุนแรงของโรคหรือการหลีกหนีวัคซีนได้ ส่วนสายพันธุ์โอมิครอน สายพันธุ์ BA.3 เบื้องต้นยังไม่พบในประเทศไทย ส่วน BA.2.2 และ BA.2.3 ยังต้องรอข้อมูลที่ชัดเจนก่อน
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
-สยอง! โอมิครอน กลายพันธุ์ใหม่ BA.2.2 ฮ่องกง ทำสถิติตายสูงสุดในโลก ไทยยังไม่เจอ-เร่งพัฒนาชุดตรวจ
- โอมิครอน BA.2 จ่อระบาดแทน BA.1 สธ.พบ แพร่เร็วกว่า 1.4 เท่า ดื้อวัคซีนเพิ่ม ยาที่ใช้รักษา โควิดเดลตา ไม่ค่อยได้ผล
- หมอมนูญ เผย โอมิครอน ระยะฟักตัวสั้น แพร่เชื้อได้ตั้งแต่วันที่ 2 กว่าจะรู้ตัวคนในบ้านก็อาจติดไปด้วยแล้ว