รู้จัก โรคอะเฟเซีย (aphasia) ภาวะสูญเสียการสื่อความจนไม่สามารถสื่อารได้ตามปกติ คืออะไร มีอาการอย่างไรบ้าง และสามารถรักษาได้หรือไม่
ทำความรู้จัก โรคอะเฟเซีย (aphasia) โรคสูญเสียการสื่อความ ทำให้ไม่สามารถฟัง-พูด-อ่าน-เขียน ได้ตามปกติ สาเหตุที่ทำให้นักแสดงฮอลลีวูดชื่อดัง “บรู๊ซ วิลลิส” วัย 67 ปี เจ้าของบทบาทพระเอกภาพยนตร์ดังอาทิ Die Hard และ The Sixth Sense ต้องประกาศยุติชีวิตนักแสดงเมื่อวันที่ 30 มี.ค.65 ที่ผ่านมา
โรคอะเฟเซีย ภาวะเสียการสื่อความหรืออะเฟเซีย (Aphasia) หมายถึง ความผิดปกติทางภาษาที่เกิดจากความผิดปกติของระบบประสาทโดยมีพยาธิสภาพในสมอง ภาวะเสียการสื่อความจะมีความผิดปกติของความเข้าใจและการใช้ภาษา มักมีความผิดปกติในความสามารถทางภาษาทุกด้าน คือ ความผิดปกติในการฟัง การพูด การอ่านและการเขียน โดยอาจมีความรุนแรงในแต่ละทักษะไม่เท่ากัน
ผู้ป่วยอาจมีความลำบากในการฟังเข้าใจ คำพูด วลีและประโยค มีความลำบากในการนึกหาคำศัพท์หรือคำพูดที่ถูกต้อง เช่น ชื่อคน สถานที่สิ่งของ ทำให้พูดผิดหรือใช้คำอื่นมาแทน โดยอาจเป็นคำหรือเสียงใหม่ในภาษา
มีความลำบากในการจำคำพูด ทำให้ไม่สามารถเข้าใจคำพูด และ การตอบสนองอาจผิดพลาดความผิดปกติของไวยากรณ์ในภาษาทำให้การเรียงลำดับและการจัดรูปประโยคผิดได้ หรือพูดคำที่ไม่มีความหมายเลย มีความผิดปกติในการใช้ภาษา ทั้งภาษาพูด และภาษาเขียน พูดลำบาก พูดได้ช้า พูดเป็นประโยคสั้น ๆ เป็นภาษาโทรเลข
หากพบอาการแสดงจากภาวะอะเฟเซีย และจัดการรักษาตั้งแต่แรกๆ จะให้ผลการรักษาดีกว่าการปล่อยอาการไว้ในระยะเวลานาน ทั้งนี้แนวทางการรักษาจะดำเนินไปพร้อมกับการรักษาตามอาการหลอดเลือดสมอง ประกอบด้วย
1.การรักษาตามอาการและสาเหตุที่เกิด เช่น ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง (CVA) รักษาด้วยการได้รับยา rt-PA, mechanical thrombectomy หรือ Carotid endarterectomy ผู้ป่วย hemorrhagic CVA, TBI, brain tumors รักษาด้วยการผ่าตัดเพื่อลดแรงดันภายในกะโหลก (Surgical decompression) หรือสาเหตุจากการติดเชื้อ รักษาโดยการให้ยาสเตียรอยด์ (Steroids) ยาต้านไวรัส (Antivirals) หรือยาปฏิชีวนะ (Antibiotics)
2.การรักษาด้วยยา: ในช่วงระยะเฉียบพลันที่มีอาการ เพื่อช่วยเพิ่มการไหลเวียนของเลือดภายในสมอง ช่วยการฟื้นฟูการทำงานของสมอง ทดแทนสารสื่อประสาทที่ถูกทำลายไป
3.การรักษาด้วยเครื่องมือ: การกระตุ้นสมองด้วยกระแสไฟฟ้าอย่างอ่อนผ่านกะโหลกศีรษะ (transcranial direct current stimulation (tDCS)), การกระตุ้นสมองด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าผ่านกะโหลกศีรษะ (transcranial magnetic stimulation (rTMS))
4.วิธีการบำบัดการพูดและภาษา (Speech and language therapy): ฝึกและทบทวนการใช้คำ การใช้ประโยคหรือการสร้างประโยคที่ถูกต้อง การพูดทวน หรือการถาม-ตอบคำถาม รวมถึงการเรียนรู้คำศัพท์และการออกเสียงของคำต่าง ๆ
5.การแนะนำและให้ความรู้เกี่ยวกับตัวโรคที่ถูกต้องแก่ญาติและผู้ดูแล เพื่อกระตุ้นให้เกิดความตระหนักและเข้าใจผู้ป่วยมากยิ่งขึ้น รวมถึงการจัดสภาพแวดล้อมให้เอื้ออำนวยต่อการฟื้นฟู เช่น การพูดช้า ๆ ชัด ๆ การไม่เร่งเร้าให้ผู้ป่วยพูด หรือการให้ผู้ป่วยเขียนเพื่อช่วยในการสื่อสาร ถ้ายังนึกคำไม่ออก
6.การรักษาเพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้ เช่น ภาวะเครียด หรืออาการซึมเศร้า
บทบาททางกายภาพบำบัด
ในขณะที่ทำการรักษาทางกายภาพบำบัด นอกเหนือจากการฟื้นฟูศักยภาพทางกายแล้ว จะคำนึงถึงการกระตุ้นการสื่อความหมายของผู้ป่วยที่มีปัญหาภาวะนี้ร่วมด้วย เช่น การฝึกให้พูดทวนประโยคหรือคำสั่งที่ให้ทำตาม การฝึกถามตอบคำถามง่าย ๆ ที่ไม่ซับซ้อน รวมถึงการฝึกอ่านหรือเขียนร่วมด้วย เพราะภาวะนี้อาจเป็นสาเหตุสำคัญที่อาจทำให้ผู้ป่วยเกิดภาวะเครียดหรือภาวะซึมเศร้าได้ เนื่องจากผู้ป่วยไม่สามารถสื่อสารกับคนรอบข้างหรือคนในครอบครัวได้เหมือนเดิม ไม่สามารถบ่งบอกถึงความต้องการหรือสิ่งที่อยากทำได้ ซึ่งผู้ป่วยควรได้รับการรักษาให้เร็วที่สุด เพราะยิ่งรักษาเร็วเท่าไหร่ประสิทธิภาพในการฟื้นฟูยิ่งดีมากขึ้นเท่านั้น โดยระยะเวลาในการฟื้นฟูขึ้นอยู่กับประเภท ความรุนแรง และแรงจูงใจในการฝึกของผู้ป่วย
อ้างอิง - ศูนย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู สภากาชาดไทย / คณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยมหิดล
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- "บรูซ วิลลิส" พระเอก Die Hard ประกาศ ยุติบทบาทนักแสดง หลังป่วยโรคอาเฟเซีย
Advertisement