เปิดหลักฐาน "นางเชื่อม" ผู้เป็นแบบปั้นใบหน้าอนุสาวรีย์ "ย่าโม" ศูนย์รวมใจชาวโคราช ได้ค่าจ้าง 3 บาท ชาวเน็ตแห่ชื่นชมพร้อมคำนวณค่าเงินเสร็จสรรพ
ผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อ Tanin Soontranon ได้เปิดเผยเอกสารสำคัญชิ้นหนึ่งเกี่ยวกับการปั้นอนุสาวรีย์ย่าโม โดยเขียนแคปชั่นว่า "ทีนี้ ..เราก็รู้แล้วว่า ใครเป็นแบบ ปั้น ย่าโม อาจารย์ศิลป พีระศรี ปั้นดูแบบอยู่ 3 วัน นางเชื่อม ได้ค่าจ้างไป 3 บาท" ซึ่งเอกสารที่เอามาเผยแพร่ระบุว่า
"เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2477 ข้าพเจ้าผู้มีนามข้างท้ายนี้ ได้รับเงินค่าจ้างนั่งเป็นแบบสำหรับการปั้นรูปในการทำอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี ของกองประณีตศิลปกรรม รวม 1 วัน เป็นเงิน 1 บาท ได้รับเงินจำนวนนี้ไปเสร็จแล้ว" พร้อมกับมีการลงชื่อ "นางเชื่อม" เป็นผู้รับเงินเอาไว้
หลังโพสต์นี้เผยแพร่ออกมาก็มีคนเข้ามาแสดงความเห็นจำนวนมาก หลายคนบอกว่า "นางเชื่อม" ผู้เป็นต้นแบบหน้าตาสวย สง่างามมาก บางคนก็ตั้งข้อสังเกตว่า นางเชื่อมสามารถเขียนชื่อตัวเองได้ ในสมัยนั้นคงเป็นสตรีที่ไม่ธรรมดา
นอกจากนี้ยังมีผู้ที่เข้ามาลองคำนวณค่าจ้างการเป็นแบบของ "นางเชื่อม" ว่า 3 บาทในสมัยนั้น เทียบกับค่าเงินบาทไทยในปัจจุบันจะประมาณเท่าไร ซึ่งจากการคำนวณแบบคร่าวๆ จะตกอยู่ราว 2,400 บาท
ทั้งนี้เว็บไซต์ สำนักศิลปากรที่ ๑๐ นครราชสีมา ระบุว่า อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี สร้างขึ้นในปี 2476 โดยมี ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี เเละพระเทวาภินิมมิต ซึ่งพื้นเพเป็นชาวนครราชสีมา ร่วมกันออกแบบ อนุสาวรีย์หล่อด้วยทองแดงรมดำสูง 185 เซนติเมตร หนัก 325 กิโลกรัม ประดิษฐานอยู่บนไพทีสี่เหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสองสูง 250 เซนติเมตร หน้าประตูชุมพล (ประตูเมืองนครราชสีมาด้านทิศตะวันตก) เเละทำพิธีเปิดในช่วงต้นปี 2477 เเละได้มีการซ่อมแซมส่วนฐานอนุสาวรีย์เพื่อบรรจุอัฐิของท่าน ในปี 2510 โดยมีสภาพดังปรากฏให้เห็นในปัจจุบัน
กรมศิลปากร ได้กำหนดให้ อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี เเละประตูชุมพล พร้อมด้วยแนวกำแพงเมืองนครราชสีมาใบเสมาข้างละ 10 ใบ ที่ยืดออกจากประตูชุมพล เป็นโบราณสถานสำหรับชาติ ในปี 2480 ในเขตพื้นที่เมืองเก่านครราชสีมา ยังมีโบราณสถานที่กรมศิลปากร ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานอีก 3 แห่ง ได้แก่ วัดพระนารายณ์มหาราชวรวิหาร สถานพระนารายณ์ เเละศาลหลักเมือง
Advertisement