ทำความรู้จัก "วันนอร์" นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาคนใหม่ นักการเมืองรุ่นเก๋า ส.ส. 11 สมัย อยู่มาแล้วทุกยุค!
จากกรณี พรรคก้าวไกล และ พรรคเพื่อไทย ได้ร่วมแถลงเรื่องตำแหน่ง ประธานสภาฯ โดยได้ข้อสรุปตรงกันว่าจะเสนอชื่อของ "วันนอร์" หรือ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา พรรคประชาชาติ นั่งเก้าอี้ประธานสภาฯ ส่วน พรรคก้าวไกล เป็นรองประธานคนที่ 1 พรรคเพื่อไทย รองประธานคนที่ 2 และจะร่วมกันสนับสนุน นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกรัฐมนตรี
ล่าสุด วันนี้ (4 ก.ค.) นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) แบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาชาติ และถูกเสนอชื่อโดยนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล โดยระหว่างการเสนอชื่อ ไม่มีผู้ใดเสนอชื่อคนอื่นมาแข่งขัน ทำให้นายวันมูหะมัดนอร์ได้รับเลือกเป็นประธานสภาโดยไม่ต้องลงมติ
>> "วันนอร์" นั่งประธานสภาฯ ราบรื่น ไม่มีพรรคใด เสนอชื่อแข่งขัน
>> ดีลลงตัว? เพื่อไทย-ก้าวไกล ส่งเทียบเชิญ "วันนอร์" นั่ง ประธานสภาฯ
นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวแสดงวิสัยทัศน์ว่า ตนยืนยันที่จะทำหน้าที่อย่างเป็นกลาง โปร่งใส สุจริต และจะทำงานร่วมกับรองประธานสภาฯ ทั้ง 2 คน ในการกำหนดแนวทางการพิจารณาร่างกฎหมาย ญัตติ และกระทู้ถามต่างๆ อย่างเป็นระบบ จะให้ความสำคัญกับคณะกรรมาธิการทุกคณะ จะร่วมทำงานกับสมาชิกในด้านการต่างประเทศเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของสภาฯ และการแลกเปลี่ยนข้อมูล และจะสนับสนุนการทำงานของสถาบันพระปกเกล้าและสถานีโทรทัศน์รัฐสภา
ทั้งนี้ นายวันมูหะมัดนอร์ ถือเป็นนักการเมืองที่มีประสบการณ์โชกโชน เคยดำรงตำแหน่งประธานรัฐสภามาแล้ว นับเป็นประธานสภาผู้แทนราษฎรคนแรกในประวัติศาสตร์ที่เป็นชาวไทยมุสลิม เป็น ส.ส.มาถึง 11 สมัย และผ่านเก้าอี้รัฐมนตรีกระทรวงใหญ่ เรียกได้ว่าพร้อมทั้งวัยวุฒิและคุณวุฒิ
วันมูหะมัดนอร์ มะทา เป็นชาวจังหวัดยะลา เกิดเมื่อวันที่ 11 พ.ค. 2487 จบปริญญาตรีด้านครุศาสตร์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก่อนเริ่มทำงานเป็นครูใหญ่ โรงเรียนอัตตัรกียะห์อิสลามียะห์ จ.นราธิวาส เมื่อปี 2507 เข้าสู่วงการเมืองครั้งแรกในสังกัด พรรคกิจสังคม เป็นผู้ร่วมก่อตั้งและแกนนำ กลุ่มวาดะห์ ไปเข้าสังกัด พรรคประชาธิปัตย์ และต่อมาย้ายไปร่วมก่อตั้งพรรคประชาชน และ พรรคความหวังใหม่ โดยมีตำแหน่งเป็นรองหัวหน้าพรรค และเป็นผู้นำกลุ่มวาดะห์ แทนนายเด่น โต๊ะมีนา ที่ไม่ได้รับการเลือกตั้ง และขึ้นเป็นเลขาธิการพรรคในเวลาต่อมา
เมื่อปี 2539 พรรคความหวังใหม่ ชนะการเลือกตั้ง ทำให้นายวันมูหะมัดนอร์ได้รับเลือกจากเสียงส่วนใหญ่ในสภาฯ ให้เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร ก่อนลาออกในปี 2543 จากนั้นพรรคความหวังใหม่ได้ยุบรวมเข้ากับพรรคไทยรักไทย เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2545 และ วันมูหะมัดนอร์ มะทา ได้รับตำแหน่งเป็น รองหัวหน้าพรรคไทยรักไทย
แต่หลังรัฐประหารปี 2549 นายวันมูหะมัดนอร์ถูกตัดสิทธิทางการเมืองพร้อมกับกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยรวม 111 คน นาน 5 ปี ก่อนจะย้ายไปสังกัด พรรคมัชฌิมาธิปไตย เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2550 และย้ายไปสังกัด พรรคพลังประชาชน จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2555 หลังจากพ้นถูกตัดสิทธิทางการเมือง นายวันมูหะหมัดนอร์ ได้สมัครเข้าเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทย
เมื่อปี 2561 มีการก่อตั้งพรรคประชาชาติขึ้นเพื่อลงเลือกตั้งในปี 2562 นายวันมูหะมัดนอร์ก็ได้กลับเข้าสู่วงการการเมืองอีกครั้งในฐานะ ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ และเมื่อปี 2566 นายวันมูหะมัดนอร์ ก็ได้รับการเลือกตั้งเข้ามาอีก รวมแล้วเป็น ส.ส. ถึง 11 สมัย ดังนี้
1.2522 จ.ยะลา พรรคกิจสังคม
2.2529 จ.ยะลา พรรคประชาธิปัตย์
3.2531 จ.ยะลา พรรคประชาชน
4.2535 (มีนาคม) จ.ยะลา พรรคความหวังใหม่
5.2535 (กันยายน) จ.ยะลา พรรคความหวังใหม่
6.2538 จ.ยะลา พรรความหวังใหม่
7.2539 จ.ยะลา พรรคความหวังใหม่
8.2544 แบบบัญชีรายชื่อ พรรคความหวังใหม่
9.2548 แบบบัญชีรายชื่อ พรรคไทยรักไทย
10.2562 แบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาชาติ
11.2566 แบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาชาติ
ตำแหน่งทางการเมือง
• ประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานรัฐสภา (24 พฤศจิกายน 2539 – 27 มิถุนายน 2543)
• รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ปี 2538-2539
• รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ปี 2545
• รองนายกรัฐมนตรี ปี 2547
• รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปี 2547
• ประธานสภาผู้แทนราษฎร ปี 2566
Advertisement