DSI ร่อนหมายเรียกพยานคดีฟอกเงิน Forex-3D ภาค 2 หลังพบบุคคล 8 ราย พัวพันเส้นทางการเงิน 'อภิรักษ์ โกฎธิ' โผล่ "2 ดาราดัง" เอี่ยว ! เรียกสอบปากคำ 8 ส.ค. และ 17 ส.ค.
จากกรณีที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) โดยกองคดีธุรกิจการเงินนอกระบบ มีการสอบสวนดำเนินคดีพิเศษที่ 42/2566 กรณีในความผิดฐานฟอกเงินและความผิดอื่นที่เกี่ยวข้อง สืบเนื่องจากการกระทำความผิดตามพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 กรณีการชักชวนผ่านทางเฟซบุ๊กชื่อ Forex-3D และบัญชีเฟซบุ๊กชื่อ Apirak Krub (นายอภิรักษ์ โกฎธิ) ให้ลงทุนนำเงินไปซื้อขายอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราสกุลต่าง ๆ (Forex) โดยเสนอผลตอบแทนในอัตราร้อยละ 60 - 80 ของเงินผลกำไรที่ได้จากการเทรดฟอเร็กซ์และประกันเงินต้นที่ร่วมลงทุนร้อยละ 100
ซึ่งเป็นความผิดมูลฐานตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ทางการสอบสวนพบเส้นทางการเงินเชื่อมโยงกลุ่มดารานักแสดงและดีเจ พร้อมผู้เกี่ยวข้องสัมพันธ์เบื้องต้น จำนวน 8 คน เป็นเหตุให้ ร.ต.ท.เสฎฐวุฒิ สายป้อง ผอ.ส่วนคดีธุรกิจการเงินนอกระบบ 3 ในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบสำนวนการสอบสวน ได้รายงานต่อ พ.ต.ต.วรณัน ศรีล้ำ ผอ.กองคดีธุรกิจการเงินนอกระบบ ทราบและเห็นชอบให้ออกหมายเรียกบุคคลดังกล่าวมาให้ข้อเท็จจริง ตามที่มีการรายงานข่าวไปแล้วนั้น
เกี่ยวกับเรื่องนี้ เมื่อวันที่ 23 ก.ค. ผู้สื่อข่าวได้รับการเปิดเผยถึงรายละเอียดจาก พ.ต.ต.วรณัน ศรีล้ำ ผอ.กองคดีธุรกิจการเงินนอกระบบ ว่า สำหรับหมายเรียกพยานทั้งหมด 8 ราย
พบว่าในจำนวนนี้มีดารานักแสดงชายชื่อดังเกี่ยวข้อง 1 ราย นัดหมายให้เข้าพบพนักงานสอบสวนวันที่ 8 ส.ค.
ส่วนอีก 1 รายเป็นดีเจชายชื่อดัง นัดหมายให้เข้าพบพนักงานสอบสวนวันที่ 17 ส.ค. ที่ กองคดีธุรกิจการเงินนอกระบบ ศูนย์ราชการฯ อาคารบี ชั้น 8
โดยพนักงานสอบสวนได้ออกหมายเรียกเพื่อให้ทั้งหมดเข้าให้การชี้แจงถึงข้อเท็จจริงว่าเหตุใดจึงมีการทำธุรกรรมทางการเงินร่วมกันกับนายอภิรักษ์ โกฎธิ ผู้ต้องหารายสำคัญ และอาจจะสอบถามถึงเรื่องความสัมพันธ์การรู้จักกัน จากนั้นพนักงานสอบสวนจะต้องพิจารณาจากพยานหลักฐานหลายส่วน ไม่เพียงแค่เรื่องเส้นทางการเงินเท่านั้น เพื่อที่จะให้ความเป็นธรรมกับพวกเขาในฐานะพยาน
อีกทั้งจะต้องดูว่าในกรณีเงินของนายอภิรักษ์ และธุรกิจ Forex-3D มีการโอนเงิน หรือมีการเปลี่ยนแปลงสภาพเงินไปจากผู้กระทำความผิดเหล่านี้ แล้วพบว่าเงินจำนวนนี้เข้าไปพัวพันเกี่ยวข้องกับทั้ง 8 ราย พนักงานสอบสวนจะต้องตรวจสอบด้วยว่าเป็นจำนวนเงินที่ถูกทำธุรกรรมโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ อย่างไร
"จุดตัดความแตกต่างระหว่าง คดีฉ้อโกงแชร์และคดีฟอกเงิน คือ ถ้าเป็นคดีฉ้อโกงแชร์ ก็อาจจะมีการอ้างถึงการเป็นลูกทีม (Downline) และพฤติกรรมของการชักชวน โดยรู้หรือควรรู้ว่าธุรกิจดังกล่าวเป็นแชร์ลูกโซ่ เเละทำการหาลูกทีม เพื่อได้รับส่วนแบ่งจากการชักชวน แต่ถ้าคดีฟอกเงิน จะเป็นเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพเงิน การโอนเงิน การยักย้ายถ่ายเททรัพย์สิน โดยไม่จำเป็นต้องมีพฤติกรรมลงทุนในแชร์แต่อย่างใด แต่ถ้าบุคคลที่กระทำความผิดในคดีมูลฐานแชร์มีการโอนเงินไปยังบุคคลใด หรือเอาเงินไปเปลี่ยนเป็นทรัพย์สินอื่น หรือเอาเงินไปแปรสภาพเพื่อไม่ให้รู้ว่าเป็นเงินที่มาจากการทำธุรกิจแชร์ ตรงนี้ก็เข้าข่ายลักษณะคดีฟอกเงินได้" พ.ต.ต.วรณัน ขยายความ