เปิดกฎหมายคุ้มครองแรงงาน พนักงานหยุดและลาอะไรได้บ้าง
พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 และฉบับเพิ่มเติม พ.ศ.2562 ระบุว่า “วันทำงาน” หมายความว่า วันที่กำหนดให้ลูกจ้างทำงานตามปกติ “วันหยุด” หมายความว่า วันที่กำหนดให้ลูกจ้างหยุดประจำสัปดาห์ หยุดตามประเพณี หรือหยุดพักผ่อนประจำปี ส่วน “วันลา” หมายความว่า วันที่ลูกจ้างลาป่วย ลาเพื่อทำหมัน ลาเพื่อกิจธุระอันจำเป็น ลาเพื่อรับราชการทหารร ลาเพื่อการฝึกอบรมหรือพัฒนาความรู้ความสามารถ หรือลาเพื่อคลอดบุตร
มาตรา 14 ระบุว่า ให้นายจ้างปฏิบัติต่อลูกจ้างให้ถูกต้องตามสิทธิและหน้าที่ที่กำหนดไว้ ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เว้นแต่พระราชบัญญัตินี้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่น
มาตรา 25 ห้ามมิให้นายจ้างให้ลูกจ้างทำงานในวันหยุด เว้นแต่ในกรณีที่ลักษณะ หรือสภาพของงานต้องทำติดต่อกันไป ถ้าหยุดจะเสียหายแก่งาน หรือเป็นงานฉุกเฉิน นายจ้างอาจให้ลูกจ้างทำงานในวันหยุดได้เท่าที่จำเป็น นายจ้างอาจให้ลูกจ้างทำงานในวันหยุดได้สำหรับกิจการโรงแรม สถานมหรสพ งานขนส่ง ร้านขายอาหาร ร้านขายเครื่องดื่ม สโมสร สมาคม สถานพยาบาล หรือกิจการอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง เพื่อประโยชน์แก่การผลิต การจำหน่าย และการบริการ นายจ้างอาจให้ลูกจ้าง ทำงาน นอกจากที่กำหนดในวันหยุดเท่าที่จำเป็น โดยได้รับความยินยอม จากลูกจ้างก่อนเป็นคราว ๆ ไป
สำหรับวันหยุดและวันลาตามกฎหมาย สามารถจำแนกออกได้ดังนี้
- วันหยุดประจำสัปดาห์ ไม่น้อยกว่า 1 วัน/สัปดาห์ โดยให้มีระยะห่างกันไม่เกิน 6 วัน สำหรับงานโรงแรม งานขนส่ง งานในป่า งานในที่ทุรกันดาร หรืองานอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวงอาจตกลงกันสะสมและเลื่อนวันหยุดประจำ สัปดาห์ไปหยุดเมื่อใดก็ได้ภายในระยะเวลา 4 สัปดาห์ติดต่อกัน
- วันหยุดตามประเพณี ไม่น้อยกว่า 13 วัน/ปี โดยรวมวันแรงงานแห่งชาติ โดยพิจารณาจากวันหยุดราชการประจำปี วันหยุดทางศาสนาหรือขนบธรรมเนียมประเพณีแห่งท้องถิ่น ถ้าวันหยุดตามประเพณีตรงกับวันหยุดประจำสัปดาห์ให้หยุดชดเชยวันหยุดตาม ประเพณีในวันทำงานถัดไป สำหรับงานในกิจการโรงแรม สถานมหรสพ ร้านขายอาหาร ร้านขายเครื่องดื่ม ฯลฯ อาจตกลงกันหยุดวันอื่นชดเชยวันหยุดตามประเพณี หรือจ่ายค่าทำงานในวันหยุดให้ก็ได้
- วันหยุดพักผ่อนประจำปี ไม่น้อยกว่า 6 วันทำงาน/ปี สำหรับลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันมาครบ 1 ปี อาจตกลงกันล่วงหน้าสะสมและเลื่อนวันหยุดพักผ่อนประจำปี ไปรวมหยุดในปีต่อ ๆ ไปได้
- วันลาหยุดพักผ่อนประจำปี (ลาพักร้อน) โดยลูกจ้างที่ทำงานครบ 1 ปี มีสิทธิลาพักผ่อนประจำปีได้ไม่น้อยกว่า 6 วันทำงานต่อปี ซึ่งจะได้รับค่าจ้างเท่ากับค่าจ้างในวันทำงานปกติตลอดระยะเวลาที่ลา โดยนายจ้างอาจเป็นผู้กำหนดวันหยุดดังกล่าวให้แก่ลูกจางล่วงหน้ำ หรือกำหนดให้ตามที่นายจ้างและลูกจ้างตกลงกัน ทั้งนี้ในปีต่อมา นายจ้างอาจกำหนดวันลาพักร้อนประจำปีให้มากกว่า 6 วันทำงาน หรือหากลูกจ้างไม่ได้ใช้สิทธิวันลา อาจให้สะสมวันลารวมเข้ากับวันลาพักร้อนประจำปีของปีถัดไปได้ (สำหรับลูกจ้างซึ่งทำงานยังไม่ครบ 1 ปี นายจ้างอาจกำหนดวันหยุดพักผ่อนประจำปีให้แก่ลูกจ้างโดยคำนวณให้ตามส่วน)
- วันลาป่วย ลูกจ้างสามารถลาป่วยได้เท่าที่ป่วยจริง โดยจะได้รับค่าจ้างเท่ากับค่าจ้างในวันทำงานปกติตลอดระยะเวลาที่ลา แต่ไม่เกิน 30 วันทำงานต่อปี การลาป่วยตั้งแต่ 3 วันทำงานขึ้นไป (นับเฉพาะวันทำงาน) นายจ้างอาจให้ลูกจ้างแสดงใบรับรองของแพทย์แผนปัจจุบันชั้นหนึ่งหรือของสถานพยาบาลของทางราชการได้
- วันลากิจ ลูกจ้างมีสิทธิลากิจ เพื่อทำกิจธุระอันจำเป็นได้ไม่น้อยกว่า 3 วันทำงานต่อปี โดยจะได้รับค่าจ้างเท่ากับค่าจ้างในวันทำงานปกติในระยะเวลาที่ลา ทั้งนี้นายจ้างสามารถกำหนดให้สิทธิพนักงานลากี่วันก็ได้ แต่จะต้องไม่น้อยกว่า 3 วันทำงานต่อปี
- วันลาทำหมัน ลูกจ้างลาเพื่อทำหมันและเนื่องจากการทำหมันได้ตามระยะเวลาที่แพทย์แผนปัจจุบันชั้นหนึ่งกำหนดและออกใบรับรอง
- วันลารับราชการทหาร ลูกจ้างลาเพื่อรับราชการทหารในการเรียกพล เพื่อตรวจสอบฝึกวิชาทหาร หรือทดลองความพรั่งพร้อมตามกฎหมายว่าด้วยการรับราชการทหาร สามารถลาได้เท่ากับจำนวนวันที่ทางการทหารเรียก แต่จะได้รับค่าจ้างตามปกติปีละไม่เกิน 60 วัน
- วันลาคลอดบุตร ลูกจ้างซึ่งเป็นหญิงมีครรภ์ มีสิทธิลาเพื่อคลอดบุตร ครรภ์หนึ่งไม่เกิน 98 วัน รวมถึงวันลาเพื่อตรวจครรภ์ก่อนคลอดบุตรด้วย และให้นับรวมวันหยุดที่มีในระหว่างวันลาด้วย ทั้งนี้ในกรณีที่ลูกจ้างซึ่งเป็นหญิงมีครรภ์มีใบรับรองของแพทย์แผนปัจจุบันชั้นหนึ่งมาแสดงว่าไม่อาจทำงานในหน้าที่เดิมต่อไปได้ ให้ลูกจ้างนั้นมีสิทธิขอให้นายจ้างเปลี่ยนงานในหน้าที่เดิมเป็นการชั่วคราวก่อนหรือหลังคลอดได้ และให้นายจ้างพิจารณาเปลี่ยนงานที่เหมาะสมให้แก่ลูกจ้างนั้น
- วันลาเพื่อฝึกอบรม ลูกจ้างมีสิทธิลาเพื่อการฝึกอบรมหรือพัฒนาความรู้ความสามารถ เพื่อประโยชน์ต่อการแรงงานและสวัสดิการสังคม หรือการเพิ่มทักษะความชำนาญ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการ ทำงานของลูกจ้างตามโครงการหรือหลักสูตร ซึ่งมีกำหนดช่วงเวลาที่แน่นอนและชัดเจน และเพื่อการสอบวัดผลทางการศึกษาที่ทางราชการจัดหรืออนุญาตให้จัดขึ้น ลูกจ้างต้องแจ้งเหตุในการลาโดยชัดแจ้ง พร้อมทั้งแสดงหลักฐานที่เกี่ยวข้อง (ถ้ามี) ให้นายจ้างทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 7 วันก่อนวันลา นายจ้างอาจไม่อนุญาตให้ลาหากในปีที่ลาลูกจ้างเคยได้รับอนุญาตให้ลามาแล้วไม่ น้อยกว่า 30 วัน หรือ 3 ครั้ง หรือแสดงได้ว่าการลาของลูกจ้างอาจก่อให้เกิดความเสียหายหรือกระทบต่อการประกอบธุรกิจของนายจ้าง
อย่างไรก็ตาม หากการจ้างงานไม่เป็นไปตามกฎหมายแรงงาน (ฝ่าฝืน) ลูกจ้างสามารร้องทุกข์ เพื่อเรียกร้องสิทธิของตัวเองได้ โดยนำคดีไปฟ้องศาลแรงงาน หรือยื่นคำร้องทุกข์ต่อพนักงานตรวจแรงงาน ทั้งนี้ลูกจ้างสามารถโทรศัพท์ปรึกษากรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน โทร 1546