เปิดพระราชประวัติ สมเด็จพระเจ้าท้ายสระ หรือ ขุนหลวงท้ายสระ พระมหากษัตริย์ลำดับที่ 30 ของอยุธยา
สมเด็จพระที่นั่งท้ายสระ หรือ สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 9 หรือ พระเจ้าท้ายสระ หรือ พระเจ้าภูมินทราชา หรือ พระเจ้าบรรยงก์รัตนาสน์ เป็นพระมหากษัตริย์ไทยรัชกาลที่ 30 แห่งอาณาจักรอยุธยา และเป็นพระองค์ที่สามแห่งราชวงศ์บ้านพลูหลวง ราชวงศ์สุดท้ายของอาณาจักรอยุธยา ทรงครองราชย์ระหว่าง พ.ศ. 2251-2275 ซึ่งที่มาของ สมเด็จพระที่นั่งท้ายสระ มาจากนามพระที่นั่งบรรยงก์รัตนาสน์ ซึ่งพระองค์ใช้เป็นประทับอันอยู่ข้างสระน้ำท้ายพระราชวัง
สมเด็จพระเจ้าท้ายสระ มีพระนามเดิมว่า เจ้าฟ้าเพชร เสด็จพระราชสมภพเมื่อปี พ.ศ.2221 ในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เป็นพระราชโอรสพระองค์ใหญ่ในสมเด็จพระเจ้าสุริเยนทราธิบดี (พระเจ้าเสือ) กับพระอัครมเหสีพระนามว่าสมเด็จพระพันวษา มีพระอนุชาและพระกนิษฐาร่วมพระมารดา 2 พระองค์ คือ เจ้าฟ้าพรและเจ้าฟ้าหญิงไม่ทราบพระนาม พระองค์ประสูติตั้งแต่พระราชบิดา (พระเจ้าเสือ) เป็นขุนนางในตำแหน่งออกหลวงสรศักดิ์ ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ หลังจากสมเด็จพระเพทราชา พระอัยกา (ปู่) ทรงครองราชย์และแต่งตั้งพระเจ้าเสือเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) ทำให้สมเด็จพระที่นั่งท้ายสระได้เป็นเชื้อพระวงศ์ และออกพระนามว่า สุรินทกุมาร
เมื่อพระราชบิดาสวรรคตในปี พ.ศ.2251 จึงขึ้นครองราชย์ เฉลิมพระนามว่า พระเจ้าภูมินทราชา แต่ประชาชนมักออกพระนามว่า พระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ ต่อมาทรงสถาปนาพระบัณฑูรน้อย เจ้าฟ้าพร พระราชอนุชาเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล โดยสมเด็จพระที่นั่งท้ายสระ ทรงมีพระราชโอรส 3 พระองค์ ได้แก่ เจ้าฟ้านเรนทร (กรมขุนสุเรนทรพิทักษ์), เจ้าฟ้าอภัย, เจ้าฟ้าชายปรเมศร์
จดหมายเหตุของคณะบาทหลวงฝรั่งเศสซึ่งเข้ามาตั้งครั้งกรุงศรีอยุธยา ได้รวบรวมพิมพ์เมื่อ พ.ศ.2463 ระบุว่า สมเด็จพระที่นั่งท้ายสระประชวรมีฝีในพระโอษฐ์หรือพระศอ ขณะที่ในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพระจักรพรรดิพงศ์ (จาด) บันทึกไว้ว่าพระองค์ประชวรที่พระชิวหา (ลิ้น) นักประวัติศาสตร์จึงสันนิษฐานว่าพระองค์อาจเป็นมะเร็งช่องปาก พระองค์ประชวรด้วยพระโรคนี้เป็นเวลานานจนเสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2275 ณ พระที่นั่งบรรยงก์รัตนาสน์
หลังจากสมเด็จพระที่นั่งท้ายสระเสด็จสวรรคต เจ้าฟ้าอภัย พระราชโอรสของพระเจ้าท้ายสระอ้างสิทธิในราชสมบัติ เกิดการต่อสู้ระหว่างอาและหลาน ผลสุดท้ายฝั่งอาผู้เป็นวังหน้าเป็นฝ่ายชนะ จึงปราบดาภิเษกครองราชสมบัติเป็น "สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ" ก่อนทำการกวาดล้างฝ่ายเจ้าฟ้าอภัย จนสูญสิ้น กลายเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้อาณาจักรอยุธยาอ่อนแอ เพราะมีสงครามกลางเมืองหลายครั้ง และยังยืดเยื้อ จนนำมาสู่การเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 ในอังคารขึ้น 9 ค่ำ เดือนห้า หรือวันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2310 ในรัชสมัยของพระเจ้าเอกทัศน์
Advertisement