ประวัติ สมเด็จพระเพทราชา ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์บ้านพลูหลวง ราชวงศ์สุดท้ายที่ปกครองอาณาจักรอยุธยา ผู้ก่อรัฐประหารสมเด็จพระนารายณ์มหาราช
สมเด็จพระเพทราชา แต่เดิมสามัญชน ชื่อว่า ทองคำ เป็นชาวบ้านพลูหลวง แขวงเมืองสุพรรณบุรี ประสูติเมื่อ พ.ศ. 2175 ในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง เป็นบุตรของพระนมเปรม และมีพระขนิษฐาคือท้าวศรีจุฬาลักษณ์ (แจ่ม) พระสนมเอกในสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ต่อมาได้รับราชการจนมีบรรดาศักดิ์เป็น พระเพทราชา ดำรงตำแหน่ง เจ้ากรมพระคชบาล
ในรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ชาวต่างชาติเข้ามามีบทบาทในการค้าขายเป็นอย่างมากโดยเฉพาะ เจ้าพระยาวิชาเยนทร์ (คอนสแตนติน ฟอลคอน) สามีของ ท้าวทองกีบม้า หรือ ตองกีมาร์ ซึ่งเจ้าพระยาวิชาเยนทร์กับพระเพทราชาต่างชิงไหวชิงพริบกันตลอด มีความคิดขัดแย้งกันหลายเรื่อง เช่น ศาสนา การทหาร การติดต่อค้าขายกับต่างชาติ จนเกิดความแคลงใจต่อกัน บรรยากาศการเมืองในเวลานั้นจึงสับสนอึมครึมอย่างมาก
ในเวลาต่อมา ช่วงที่พระนารายณ์ทรงประชวรอย่างหนัก พระเพทราชาได้ตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์จึงอยู่ในฐานะได้เปรียบกว่าในการสั่งการต่างๆ จึงก่อการยึดอำนาจจากสมเด็จพระนารายณ์ รวมทั้งประหารผู้ที่จะได้สืบทอดราชสมบัติต่อจากพระนารายณ์ คือ เจ้าฟ้าอภัยทศ เจ้าฟ้าน้อย และพระปีย์
ส่วน เจ้าพระยาวิชาเยนทร์ ที่คิดก่อกบฏกระทำการรัฐประหาร แต่ทำไม่สำเร็จเพราะนายพลเดส์ฟาร์จเกิดลังเลใจ ไม่ยอมยกกองทหารฝรั่งเศสขึ้นมาลพบุรีตามสัญญานัดหมาย จึงถูกพระเพทราชาและกองทหาร คุมตัวไปคุมขัง ก่อนนำไปประหารที่วัดซาก ทางเหนือนอกกำแพงเมืองลพบุรี เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2231 เวลาบ่ายสี่โมงเย็น
สมเด็จพระเพทราชา เมื่อพระองค์ขึ้นครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์ไทยรัชกาลที่ 28 ในสมัยกรุงศรีอยุธยา เป็นปฐมกษัตริย์ของราชวงศ์บ้านพลูหลวง ราชวงศ์สุดท้ายของอาณาจักรอยุธยา ก็ได้ขับไล่กำลังทหารฝรั่งเศสออกไปจากกรุงศรีอยุธยา แต่ยังทรงอนุญาตให้บาทหลวง และพ่อค้าชาวฝรั่งเศสอาศัยอยู่ในกรุงศรีอยุธยาต่อไปได้
สมเด็จพระเพทราชามีบุตรนามว่า หลวงสรศักดิ์ ซึ่งก็มีความสำคัญกับราชวงศ์บ้านพลูหลวง ทรงเป็นกษัตริย์ต่อจากพระเพทราชา มีนามว่า "สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 8" หรือที่ประชาชนมักเรียกขานพระองค์ว่า "พระเจ้าเสือ" เพื่อเปรียบว่าพระองค์มีพระอุปนิสัยดุร้ายดั่งเสือ พระองค์ทรงมีพระปรีชาด้านมวยไทย โดยทรงเป็นผู้คิดท่าแม่ไม้มวยไทย ซึ่งมีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ปรากฏชัดเจน และได้มีการถ่ายทอดเป็นตำราให้ชาวไทยรุ่นหลังได้เรียนรู้ฝึกฝนจนถึงปัจจุบัน
ในยุคของสมเด็จพระเพทราชาเป็นยุคที่ตัดขาดจากการค้าขายกับต่างประเทศ และเนรเทศชาวต่างชาติให้กลับประเทศ ส่วนพระพุทธศาสนาได้รับการทำนุบำรุง เจริญรุ่งเรืองเป็นอันมาก สมเด็จพระเพทราชาทรงครองราชย์ระหว่าง พ.ศ. 2231-2246 เสด็จสวรรคตขณะครองราชย์ได้ 15 ปี สิริพระชนมายุได้ 71 พรรษา
Advertisement