เปิดพระราชประวัติ เจ้าฟ้าพร หรือ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ เกิดสงครามกลางเมืองแย่งชิงราชบัลลังก์ ก่อนเข้าสู่ยุคทองทั้งการเมืองการปกครอง ศาสนา วรรณคดี และด้านต่างประเทศ
เจ้าฟ้าพร เสด็จพระราชสมภพเมื่อ พ.ศ. 2223 เป็นพระราชโอรสสมเด็จพระสรรเพชญที่ 8 (พระเจ้าเสือ) กับพระอัครมเหสี มีพระเชษฐาพระนาม เจ้าฟ้าเพชร เมื่อครั้ง สมเด็จพระเจ้าเสือ เกิดมีเหตุขัดเคืองพระราชหฤทัยกับ เจ้าฟ้าเพชร พระราชโอรส ซึ่งขณะนั้นดํารงตําแหน่งเป็น กรมพระราชวังบวรฯ วังหน้า จึงตรัสมอบราชสมบัติให้กับ เจ้าฟ้าพร แต่เมื่อสมเด็จพระเจ้าเสือเสด็จสวรรคตแล้ว เจ้าฟ้าพรกลับถวายราชสมบัติคืนให้กรมพระราชวังบวรฯ ตามเดิม เมื่อพระเชษฐาเสด็จขึ้นครองราชย์เป็นสมเด็จพระสรรเพชญที่ 9 (สมเด็จพระเจ้าท้ายสระ) จึงโปรดให้สถาปนาเจ้าฟ้าพรขึ้นเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล วังหน้า
สมเด็จพระเจ้าท้ายสระ มีพระราชโอรสรวม 3 พระองค์ คือ เจ้าฟ้านเรนทร์ หรือกรมขุนสุเรนทรพิทักษ์ เจ้าฟ้าอภัย และ เจ้าฟ้าปรเมศร เมื่อเจ้าฟ้าทั้งสามเจริญพระชันษาขึ้นแล้ว สมเด็จพระเจ้าท้ายสระทรงแสดงพระราชประสงค์ที่จะให้สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอได้รับราชสมบัติต่อจากพระองค์ เจ้าฟ้ากรมขุนสุเรนทรพิทักษ์ทรงเห็นว่า พระราชบิดาได้รับราชสมบัติเพราะกรมพระราชวังบวรฯ ถวาย เมื่อสิ้นรัชกาลแล้ว ก็สมควรคืนราชสมบัตินั้นให้แก่กรมพระราชวังบวรฯ ผู้เป็นอาตามเดิม จึงทรงปลีกพระองค์ออกผนวช
จากนั้นสมเด็จพระเจ้าท้ายสระ ทรงมอบราชสมบัติพระราชทานแก่ เจ้าฟ้าอภัย ทำให้กรมพระราชวังบวรฯ ไม่ทรงยินยอม จนเกิดการขัดแย้งกันระหว่างอาและหลาน กลายเป็นสงครามกลางเมืองต่อสู้แย่งชิงราชบัลลังก์กินระยะเวลาไม่ต่ำกว่า 1 ปี จนกระทั่ง เจ้าฟ้าพร เป็นฝ่ายได้รับชัยชนะ ภายหลังเหตุการณ์สงบแล้ว กรมพระราชวังบวรสถานมงคลจึงปราบดาภิเษกเสด็จขึ้นครองราชย์ใน พ.ศ. 2276 เป็น สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ พร้อมสำเร็จโทษเจ้าฟ้าอภัยและเจ้าฟ้าปรเมศร์ ด้วยท่อนจันทน์ตามโบราณราชประเพณี
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศทรงบำเพ็ญพระราชกุศลอย่างต่อเนื่อง มีพระราชกรณียกิจสำคัญหลายประการ เช่น การเจริญสัมพันธไมตรีกับกรุงอังวะ ทรงส่งสมณทูตฟื้นฟูศาสนาพุทธ ณ กรุงลังกา ในรัชกาลพระองค์ทรงทำนุบำรุงบทกวีและวรรณคดีให้เจริญรุ่งเรืองเป็นอันมาก ทรงเป็นองค์อุปถัมภ์วรรณคดีตลอดระยะเวลาที่ครองราชย์ มีงานนิพนธ์ทุกชนิดโดยเฉพาะกลอน ทั้งกลอนกลบทและกลอนบทละคร เชื่อว่าถือกำเนิดขึ้นในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ วรรณกรรมชิ้นเอกที่เป็นที่รู้จักในรัชกาลพระองค์ เช่น โคลงชะลอพระพุทธไสยาสน์, โคลงประดิษฐ์พระร่วง, โคลงพาลีสอนน้อง, โคลงราชสวัสดิ์, พระมาลัยคำหลวง เป็นต้น
ในรัชสมัยของ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ เป็นยุคทอง เจริญรุ่งเรือง บ้านเมืองดี มีขุนนางคนสำคัญที่เติบโตและมีความสำคัญในประวัติศาสตร์ ในเวลาต่อมา เช่น สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เป็นต้น
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศจึงเสด็จสวรรคตเมื่อวันพุธที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2301 สิริพระชนมายุ 78 พรรษา พระองค์อยู่ในราชสมบัติรวม 26 พรรษา