เปิดที่มา และความแตกต่างของ จุลศักราช รัตนโกสินศก พุทธศักราช คริสต์ศักราช

2 พ.ย. 66

เปิดที่มาของ จุลศักราช (จ.ศ.) รัตนโกสินศก (ร.ศ.) พุทธศักราช (พ.ศ.) คริสต์ศักราช (ค.ศ.) นับอย่างไร แตกต่างกันอย่างไร

จุลศักราช (จ.ศ.)

จุลศักราช (อ่านว่า จุน-ละ-สัก-กะ-หฺราด) แปลว่า ศักราชน้อย เป็นศักราชประจำชาติของพม่า เริ่มใช้ในสมัยอาณาจักรพุกาม ตำนานที่มาของจุลศักราชฝ่ายพม่าและฝ่ายล้านนาว่าไว้ต่างกัน แต่ให้ข้อมูลตรงกันว่า จุลศักราชตั้งขึ้นเมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานล่วงไปแล้ว 1181 ปี ดังนั้น จุลศักราชที่ 1 จึงตรงกับ พ.ศ. 1181 เอกสารโบราณของไทยเริ่มใช้จุลศักราชหลังสมัยที่กรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2112 จุลศักราชนิยมใช้ในการคำนวณทางโหราศาสตร์และใช้คู่กับปีนักษัตร

รัตนโกสินศก (ร.ศ.)

รัตนโกสินศก (อ่านว่า รัด-ตะ-นะ-โก-สิน-สก) เป็นศักราชที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ทรงตั้งขึ้นใน พ.ศ. 2432 โดยยึดถือเอาปีที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ขึ้นเป็นราชธานีใน พ.ศ. 2325 เป็นรัตนโกสินทร์ศกที่ 1 และปีที่ประกาศใช้เป็นปี ร.ศ. 108 แต่ใช้อยู่ถึง ร.ศ. 131 แค่ 24 ปีก็สิ้นสุด เปลี่ยนมาใช้ พ.ศ.ในต้นรัชกาลที่ 6

พุทธศักราช (พ.ศ.)

พุทธศักราช (อ่านว่า พุด-ทะ-สัก-กะ-หฺราด) เริ่มนับตั้งแต่พระพุทธเจ้าได้เสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน ซึ่งแต่เดิมนับเอาวันเพ็ญเดือนหก เป็นวันเปลี่ยนศักราช ต่อมาเปลี่ยนแปลงให้ถือเอาวันที่ 1 เมษายนแทน ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระอนันทมหิดล รัชกาลที่ 8 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่ โดยเริ่มนับตามแบบสากล คือ วันที่ 1 มกราคม ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2483 เป็นต้นมา

คริสต์ศักราช (ค.ศ.)

คริสต์ศักราช (อ่านว่า คริด-สัก-กะ-หฺราด) เริ่มตั้งแต่วันสมภพของพระเยซู เป็น ค.ศ. 1 ซึ่งในขณะนั้นได้มีการใช้ พุทธศักราชเป็นเวลาถึง 543 ปีแล้ว การคำนวณเดือนของ ค.ศ. จะเป็นแบบสุริยคติ ดังนั้นวันขึ้น ปีใหม่ของ ค.ศ. จะเริ่มในวันที่ 1 มกราคมของทุกปี

advertisement

ข่าวยอดนิยม