เปิดที่มารูปภาพ “ปลาพญานาคแม่น้ำโขง” เฉลยแล้วว่าคือตัวอะไร?
เชื่อว่าหลายคนอาจจะเคยเห็นภาพ และได้ยินตำนานเล่าขานเกี่ยวกับการจับปลาพญานาคได้ที่แม่น้ำโขง โดยในรูปภาพจะเผยให้เห็นกลุ่มทหารชาวอเมริกานับสิบคนจับปลาตัวใหญ่ยาว มีหงอนและครีบสีแดง ลำตัวสีเงินสะท้อนแสง เชื่อกันว่าปลาที่จับได้นี้จับได้ในแม่น้ำโขง
ความจริงเกี่ยวกับเรื่องนี้ รายการไกลบ้าน จากช่อง Farose ดำเนินรายการโดย “คุณแดง,คุณฟาโรส” ได้เปิดที่มาของตำนานรูปภาพนี้ และพาไปชมหัวของปลาตัวดังกล่าวที่ถูกเก็บรักษาไว้ในศูนย์ Scripps Institution of Oceanography ในคลิป ไกลบ้าน Ep.94 เฉลยเบื้องหลังรูปดัง ไม่ใช่แม่น้ำโขง 27 ปียังอยู่ในสภาพดี ซึ่งมี อาจารย์วิน ดร. วัชรพงษ์ หงส์จำรัสศิลป์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นแขกรับเชิญของรายการพาเยี่ยมชมศูนย์ Scripps Institution of Oceanography พร้อมให้ข้อมูลว่า รูปภาพที่เป็นตำนานดังกล่าวนั้นจริงๆแล้วไม่ใช่พญานาค ที่จริงแล้วคือปลาออร์ฟีช Oarfish เป็นภาพที่เกิดขึ้นจริงในปี 1996 เกิดขึ้นที่ซานดิเอโก ซึ่งผู้ที่เก็บตัวอย่างของปลาตัวนี้ไว้ศึกษาก็ยังมีชีวิตอยู่ นั่นคือคุณ H.J. Walker แต่เนื่องด้วยปลาออร์ฟิชมีลักษณะตัวใหญ่ จึงสามารถเก็บรักษาไว้เพียงส่วนหัวเท่านั้น
H.J. Walker เล่าว่า “ช่วงเช้าเวลาประมาณ 08.30 น. เขาได้รับโทรศัพท์จากหน่วยเนวีซีลห่างจากตรงนี้ไปประมาณ 20 กม. หน่วยเนวีซีลรายงานว่า เวลาประมาณ 05.00 น. มีทหาร 2 นายวิ่งออกกำลังกายและพวกเขาก็เจอเข้ากับสิ่งที่คาดว่าน่าจะเป็นปลา มีลักษณะตัวยาว สีเงิน ด้านบนมีสีแดงคล้ายหงอนไก่ ความยาวกว่า 6-9 เมตร ผมเลยบอกว่ารอก่อนเดี๋ยวผมไป อย่าเพิ่งทำอะไรมัน พวกเรารีบไปถึงจุดแจ้งอย่างเร็วที่สุด และเอารถไปบรรทุกมันมา และมีนักศึกษาที่ไปกับเราเอากล้องถ่ายภาพติดไปด้วย เขาจึงถ่ายภาพที่โด่งดังนั้นให้เรา ถือว่าโชคดีมากๆ”
ข้อมูลจาก "วิทยาศาสตร์การประมงและทรัพยากรทางน้ำ TSU " เผยว่า ปลาออร์ฟิซ ( Oarfish ) ขนาดความยาว 2.4 เมตร ปลาทะเลที่สามารถพบได้ในระดับน้ำที่ลึกมาก จากเรือประมง ก.เทพเจริญพร 15 บริเวณเกาะอาดัง อ.ละงู จ.สตูล เมื่อวันที่ 3 ม.ค. 2567 (เครดิตคุณ Wannarrong Sa-ard ผู้รายงานคนแรก)
อ้างอิงจาก Youtube : FAROSE
Advertisement