เปิดประวัติ ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย หลังเจอ อุ๊งอิ๊งค์ แพทองธาร ฟาดแรงบอกแบงก์ชาติเป็นปัญหาและอุปสรรคในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ
จากกรณีที่ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หรือ อุ๊งอิ๊งค์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ได้ขึ้นเวทีในงาน “10 เดือนที่ไม่รอ ทำต่อให้เต็ม 10” โชว์วิสัยทัศน์พรรคเพื่อไทย ซึ่งตอนหนึ่งมีการพาดพิงถึงธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดยระบุว่า
"ตอนนี้กฎหมายพยายามจะให้ธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นอิสระจากรัฐบาล เรื่องนี้ถือว่าเป็นปัญหาและอุปสรรคสำคัญมากๆ ในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ เพราะนโยบายทางด้านการคลังถูกใช้งานเพียงด้านเดียวมาโดยตลอด และทำให้ประเทศของเรามีหนี้สูงมากขึ้นและสูงเพิ่มมากขึ้นทุกปีจากการตั้งงบประมาณที่ขาดดุล ถ้านโยบายการเงินที่บริหารโดยธนาคารแห่งประเทศไทยไม่ยอมเข้าใจและไม่ยอมให้ความร่วมมือ ประเทศของเราจะไม่มีทางลดเพดานหนี้ได้เลย"
เรื่องนี้เรียกเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากผู้คนในสังคมจำนวนมาก จนทัวร์ลงว่าเหมือนต้องการจะแทรกแซงการทำงานของแบงก์ชาติ ก่อนที่จะมี สส.พรรคเพื่อไทยออกมาปกป้องว่า รัฐบาลไม่ได้แทรกแซงความเป็นอิสระของ ธปท. แต่การที่ น.ส.แพทองธาร แสดงออกความคิดเห็น คือต้องการให้ ธปท.รับฟังเสียงของรัฐบาล เพื่อให้การดำเนินนโยบายการเงินการคลังสอดคล้องและเป็นไปในทางเดียวกัน โดยมีเป้าหมายในการฟื้นฟูและผลักดันเศรษฐกิจให้เติบโตไปด้วยกันเพื่อการพัฒนาประเทศ
อย่างไรก็ตาม หลังมีข่าวออกมาก็มีหลายคนอยากทำความรู้จักว่า ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เป็นใคร มีความสามารถและการกำหนดทิศทางด้านการเงินของประเทศอย่างไร
ประวัติ ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ
ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ หรือ ดร.นก เกิดเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2508 ปัจจุบันอายุ 59 ปี สามารถพูดได้ 3 ภาษา คือ ไทย อังกฤษ และฝรั่งเศส กิจกรรมที่ชื่นชอบ คือ การอ่านหนังสือ การวาดภาพ และเล่นกีฬา กีฬาโปรดคือ เทนนิส มักหาเวลาว่างตีเทนนิสสัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง และมี โรเจอร์ เฟเดอเรอร์ เป็นนักกีฬาในดวงใจในยุควิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้งปี 2540 ดร.เศรษฐพุฒิเป็นหนึ่งในนักเศรษฐศาสตร์ที่ช่วย นายธารินทร์ นิมมานเหมินทร์ รมว.คลัง ในขณะนั้นแก้ปัญหาวิกฤติที่เกิดขึ้นโดยรับตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการร่วมสถาบันวิจัยนโยบายการคลัง กระทรวงการคลัง ทำงานร่วมกับ นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธปท. ในขณะนั้น
ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ เป็นผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ลำดับที่ 24 และดำรงตำแหน่งกรรมการของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กรรมการในคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และในคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.)
ดร.เศรษฐพุฒิ มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ นโยบายสาธารณะ และตลาดการเงิน ดร. เศรษฐพุฒิ เคยดำรงตำแหน่งในธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และกระทรวงการคลัง นอกจากนี้ ยังเคยดำรงตำแหน่งกรรมการในคณะกรรมการขององค์กรชั้นนำของประเทศหลายแห่ง เช่น บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) บริษัท โอสถสภา จำกัด (มหาชน) ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) รวมถึงคณะกรรมการของธนาคารแห่งประเทศไทย และคณะกรรมการนโยบายการเงินด้วย
ก่อนทำงานที่ประเทศไทย ดร.เศรษฐพุฒิ ได้ทำงานที่ธนาคารโลก (World Bank) ณ กรุงวอชิงตัน ดีซี และบริษัท แมคคินซีย์ แอนด์ คอมพานี ที่นิวยอร์ก หลังสำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาตรี (เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง) จากวิทยาลัยสวาร์ธมอร์ และในระดับปริญญาโทและปริญญาเอกในสาขาเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเยล
ประวัติการศึกษา
• 2529 B.A. (Highest Honors) (Economics), Swarthmore College สหรัฐอเมริกา
• 2534 M.Phil. (Economics), Yale University สหรัฐอเมริกา
• 2537 Ph.D. (Economics), Yale University สหรัฐอเมริกา
ประวัติการทำงาน
• 2529 - 2531 Business Analyst, McKinsey & Co., New York สหรัฐอเมริกา
• 2541 - 2543 ผู้อำนวยการร่วม สถาบันวิจัยนโยบายการคลัง กระทรวงการคลัง
• 2535 - 2541 / 2544 - 2547 Senior Economist, World Bank, Washington DC สหรัฐอเมริกา
• 2548 - 2550 ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
• 2550 - 2551 อนุกรรมการจัดการลงทุน (Investment Committee) กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ และกรรมการผู้จัดการ สายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ จำกัด
• 2551 - 2552 กรรมการผู้อำนวยการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนไทยพาณิชย์ จำกัด
• 2552 - 2554 ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ และ Chief Economist ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)
• 2554 - 2555 กรรมการ ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน)
• 2543 - 2560 Visiting Professor of Economics สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
• 2554 - ม.ค. 2561 กรรมการบริษัท และกรรมการผู้จัดการ บริษัท ดิแอดไวเซอร์ จำกัด
• 2555 - ก.พ. 2560 ประธานกรรมการบริหาร สถาบันอนาคตไทยศึกษา
• 2560 - มี.ค. 2563 กรรมการในคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย
• 2557 - ส.ค. 2563 กรรมการอิสระ ประธานกรรมการบริหารความเสี่ยง กรรมการสรรหาและกำหนดค่าตอบแทน และกรรมการบรรษัทภิบาลและการพัฒนาอย่างยั่งยืน บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน)
• 2557 - ก.ย. 2563 กรรมการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย
• 2558 - ก.ย. 2563 กรรมการ สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย
• 2559 - ส.ค. 2563 กรรมการ บริษัท โอสถสภา จำกัด (มหาชน)
• 1 ต.ค. 2563 - ปัจจุบัน ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย
ตำแหน่งทางสังคมและงานอื่นที่สำคัญ (ในปัจจุบัน)
• กรรมการ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
• กรรมการ คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
• กรรมการ คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย
ทั้งนี้ ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าแบงก์ชาติ เคยกล่าวสุนทรพจน์ ในงานสัมมนาวิชาการธนาคารแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 29 ก.ย.2566 โดยระบุว่า การพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนไทยให้ดีขึ้นนั้นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และภาครัฐ เพื่อช่วยกันสร้างความหวังให้คนไทยและเพื่อช่วยกันทำให้ความหวังนั้นเป็นจริงขึ้นมาได้
สำหรับธนาคารแห่งประเทศไทย มีส่วนร่วมในบทบาทดังกล่าว ผ่านการดำเนินนโยบายการเงิน นโยบายสถาบันการเงิน และนโยบายระบบการชำระเงิน ในการสร้างความหวังให้คนไทยนั้น ธนาคารแห่งประเทศไทยมุ่งสร้างโอกาสตลอดช่วงชีวิตให้แก่คนไทย ทั้งโอกาสทางการศึกษา โอกาสในการประกอบอาชีพ และโอกาสในการใช้ชีวิตที่ดีในยามชราภาพ รวมถึงการสนับสนุนให้ภาคการเงินผนวกเรื่องความยั่งยืนเข้าเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินธุรกิจเพื่อให้คนไทยมีชีวิตในสังคมและสิ่งแวดล้อมที่ดี
ธนาคารแห่งประเทศไทยมีพันธกิจในการส่งเสริมความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่มีเสถียรภาพ โดยความเจริญเติบโตนี้จะช่วยสร้างรายได้ที่เป็นดอกผลของการลงทุนในการศึกษาและประกอบอาชีพของผู้คน อย่างไรก็ตาม ความเจริญเติบโตจะต้องควบคู่กับความมีเสถียรภาพด้วย เพราะระบบเศรษฐกิจที่ขาดเสถียรภาพ เช่น เงินเฟ้อที่สูงมาก หรือหนี้สินที่ควบคุมไม่ได้ ย่อมเสี่ยงต่อการเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ ซึ่งจะส่งผลเสียต่อคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ อันเป็นการทำลายความหวังของผู้คนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
และเมื่อวันที่ 29 เมษายน 2567 ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าแบงก์ชาติ ยังบอกอีกว่า ธปท.จะดำเนินการอย่างเป็นอิสระและจะไม่อยู่ภายใต้แรงกดดันจากการเมือง
"ผมคิดว่ากรอบธรรมาภิบาลในการกำกับดูแลในเรื่องนี้ค่อนข้างชัดเจน การตัดสินใจที่เกิดขึ้นแสดงให้เห็นว่ามีพื้นฐานมาจากที่เราเห็นว่าเหมาะสมที่สุดสำหรับเศรษฐกิจ มากกว่าการพิจารณาที่จะช่วยลดแรงกดดันทางการเมืองหรือแรงกดดันอื่นๆ...หนี้ที่อยู่ในระดับสูงอาจเป็นอุปสรรคต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากหนี้ไม่ได้ก่อให้เกิดรายได้ในอนาคต หรือไม่ได้ช่วยเพิ่มความมั่งคั่ง...ประเทศเผชิญกับความท้าทายด้านโครงสร้างประชากรจากการที่กำลังแรงงานที่หดตัว อีกทั้งจำเป็นต้องมีการมุ่งเน้นที่การลงทุนภาครัฐให้มากขึ้น มากกว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น"
Advertisement