เปิด "กฎหมายสมรสเท่าเทียม" ก่อนโปรดเกล้าฯ ประกาศใช้

18 มิ.ย. 67

เปิดเนื้อหาร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมล่าสุด หลังที่ประชุมวุฒิสภาโหวตผ่านวาระ 3 ก่อนประกาศในราชกิจจานุเบกษา

อีกก้าวของประเทศไทย เมื่อร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมผ่านสภาฯ จบครบ 100% แล้ว รอโปรดเกล้าฯ และให้มีผลเมื่อพ้น 120 วัน หลังประกาศในราชกิจจานุเบกษา ว่าแต่เนื้อหามีอะไรที่น่าสนใจบ้าง อมรินทร์ทีวี สรุปมาให้คุณได้อ่านกันแล้ว

เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2567 อีกหน้าประวัติศาสตร์ของไทย เมื่อที่ประชุมวุฒิสภา (สว.ชุดพิเศษ) โหวตผ่านวาระ 3 ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หรือร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม ด้วยมติเห็นด้วย 130 ไม่เห็นด้วย 4 งดออกเสียง 18 หลังจากผ่านความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร (สส.) และมีการแก้ไขในชั้นกรรมาธิการมาแล้วจนสมบูรณ์ครบถ้วน ประเทศไทยถือเป็นชาติแรกในอาเซียนที่ให้การรับรองสิทธิการแต่งงานของคู่รักในกลุ่มความหลากหลายทางเพศ ถูกต้องตามกฎหมาย

855328

ที่ผ่านมาประเทศไทยเรายังไม่มีกฎหมายใดอนุญาตให้บุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศที่อยู่ร่วมกันเป็นครอบครัว สามารถจดทะเบียนสมรส และได้รับสิทธิและหน้าที่ที่พึงมีพึงได้ เนื่องจากการจดทะเบียนสมรสตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1448 กำหนดให้ต้องเป็นการสมรสระหว่าง "ชายและหญิง" เท่านั้น ซึ่งไม่สอดคล้องกับสภาพสังคมในปัจจุบันที่มีการอยู่ร่วมกันเป็นครอบครัวระหว่างบุคคลที่มีเพศเดียวกันโดยกำเนิด โดยมีการอุปการะเลี้ยงดูและมีความสัมพันธ์ในด้านอื่นๆ ไม่แตกต่างไปจากคู่สมรสที่เป็นชายและหญิงนั่นเอง

screenshot2024-06-18152948

สำหรับเนื้อหาที่มีการแก้ไขมีอะไรน่าสนใจบ้าง ซึ่งโดยรวมๆ มีการปรับเปลี่ยนคำในตัวบทกฎหมาย

การหมั้น แก้ไขคำจากคำว่า "ชาย-หญิง" เป็น "บุคคล" กำหนดให้บุคคล 2 คน ไม่ว่าเป็นเพศใด สามารถหมั้นกันได้เมื่ออายุครบ 18 ปี เปิดโอกาสอย่างเท่าเทียมโดยไม่เลือกปฏิบัติ

การสมรส การสิ้นสุดการสมรส การจัดการทรัพย์สิน และมรดก กำหนดให้ใช้คำว่า "คู่สมรส" แทนคำว่า "สามีและภริยา" เพื่อให้ครอบคลุมการก่อตั้งครอบครัว และมีการแก้ไขอายุของคู่สมรสจากเดิม 17 ปี เป็น 18 ปี หากมีเหตุอันควรให้สมรสก่อน ศาลสามารถอนุญาตได้

ประเด็นต่อมา การจัดการทรัพย์สินระหว่างคู่สมรส ให้คู่สมรสมีสิทธิจัดการทรัพย์สินที่ทำมาหาได้ร่วมกัน หรือดูแลผลประโยชน์จากทรัพย์สินนั้น รวมถึงการรับมรดกและการจัดการหนี้สินของคู่สมรส

และประเด็น การรับผู้เยาว์เป็นบุตรบุญธรรมร่วมกันได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ โดยให้นำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่เกี่ยวกับสิทธิหน้าที่ของบิดามารดา บุพการี และบุตร มาบังคับโดยอนุโลม

รวมถึงมีการแก้อีกหลายหมวดหมู่หลายมาตรายิบย่อยเพื่อให้สอดคล้องกัน ซึ่งร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หรือร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมที่จะคลอดใหม่นี้ มีทั้งหมด 69 มาตรา จากนี้นายกรัฐมนตรีจะได้นำขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยตราเป็นกฎหมาย และจะมีผลเมื่อพ้น 120 วัน นับแต่วันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม