บองชู! เมื่อฝรั่งเศสเล่นใหญ่ ขอทักทายชาวโลก เปลี่ยนกรุงปารีสให้เป็นโรงละคร ในพิธีเปิดโอลิมปิก

30 ก.ค. 67

บองชู! เมื่อฝรั่งเศสเล่นใหญ่ เปลี่ยนสถานที่ในกรุงปารีสให้เป็นโรงละคร หยิบภาพจำเดิมๆ ชูขึ้นมาให้เปล่งประกาย ทักทายผู้คนทั่วโลกผ่านพิธีเปิดโอลิมปิก 2024

ผ่านพ้นไปแล้วสำหรับพิธีเปิดกีฬาโอลิมปิก 2024 ที่ครั้งนี้กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส รับบทเจ้าภาพเป็นครั้งที่ 3 ในรอบ 100 ปี โดยมีนักกีฬาเข้าร่วม 206 ชาติ รวมทั้งสิ้น 10,500 คน และนับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่มีจำนวนนักกีฬาชายและหญิงสัดส่วนเท่ากัน คือนักกีฬาชาย 5,250 คน นักกีฬาหญิง 5,250 คน

afp__20240726__36628yf__v1__h_3
พลุควันสีธงชาติฝรั่งเศสที่สะพาน ปงต์ ดูสแตลิตซ์ (Pont D'Austerlitz)

สิ่งที่ไม่พูดเลยไม่ได้นั่นก็คือ ครั้งนี้เจ้าภาพขอแหวกขนบพิธีเปิดที่ทำตามกันมาว่าจะต้องจัดในสนามกีฬาขนาดใหญ่ แต่ได้เนรมิตรเมืองทั้งเมืองให้กลายเป็นสถานที่จัดงาน จนโลกต้องตื่นตะลึงไปกับความยิ่งใหญ่ สวยงาม รากเหง้าของวัฒนธรรมที่สะท้อนออกมาผ่านทางสถาปัตยกรรม การแสดง เครื่องแต่งกาย แสงสีเสียง สมกับที่เป็นเมืองแห่งแฟชั่น และอารยธรรมอันเก่าแก่

afp__20240726__36634j4__v1__h_1
นักกีฬาล่องเรือในแม่น้ำแซน ครั้งแรกที่ไม่ต้องเดินเข้าสนาม

การคิดนอกกรอบนี้ ส่วนหนึ่งต้องยกเครดิตให้กับคณะกรรมการจัดงานโอลิมปิกฝรั่งเศส ที่กล้าที่จะอนุมัติทำอะไรที่แปลกใหม่และสุ่มเสี่ยง เพราะนอกจากจะต้องเล่นใหญ่ใช้เมืองทั้งเมืองเป็นสถานที่จัดพิธีเปิด ยังต้องคิดหาทางเล่าประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม รสนิยม ทัศนคติของผู้คน ทั้งยุคเก่าและยุคใหม่ให้มาบรรจบกันภายในเวลา 3 ชั่วโมง 45 นาที ซึ่งแนวคิดนี้เกิดจาก "โธมัส จอลลี่" ผู้อำนวยการฝ่ายศิลป์ของพิธีเปิดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก ปารีส 2024 ที่เสนอคอนเซปต์ด้วยการบอกคณะกรรมการจัดงานว่า "จะทำปารีสให้เป็นโรงละคร"

1722091745030
โธมัส จอลลี่ ผู้อำนวยการฝ่ายศิลป์ของพิธีเปิดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก ปารีส 2024

สำหรับ โธมัส จอลลี่ เป็นนักแสดง และผู้กำกับละครเวทีมือฉมัง แม้จะอายุไม่มากแต่ประสบความสำเร็จในสายงานอาชีพนี้ ด้วยการชนะรางวัล Molière ที่เป็นรางวัลสูงสุดของงานแสดงเวทีของฝรั่งเศส ในปี 2015 และ 2023 จากละครเวที Starmania ทำให้ไม่แปลกใจที่คณะกรรมการตัดสินใจเลือกเขาให้วางทิศทางการทำโชว์ออกมา เพราะเขาเข้าใจทุกมุมของวัฒนธรรมฝรั่งเศส แล้วสามารถผสมผสานทุกอย่าง ตีความออกมาผ่านโชว์ ที่มีฉากหลังเป็นสถานที่ที่ชาวโลกล้วนรู้จักให้ออกมาตื่นตาตื่นใจได้ตั้งแต่ต้นจนจบ

afp__20240726__366292y__v1__h

afp__20240726__366287w__v1__h_1

สำหรับพิธีเปิดครั้งนี้เจ้าภาพให้นักกีฬาและเจ้าหน้าที่แต่ละชาติล่องเรือกลางแม่น้ำแซน โดยเส้นทางนี้ผ่านสถานที่สำคัญที่หลายคนรู้จัก เช่น จัตุรัสกงกอร์ด, พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์การทหารของฝรั่งเศสและอนุสรณ์สถาน, กร็องด์ ปาเลส์, สะพานปงเดซาร์, หอไอเฟล เป็นต้น และยังใช้ ชายผู้สวมฮู้ด ไร้หน้าไร้นาม เป็นตัวดำเนินเรื่อง ซึ่งเขาจะวิ่งปากัวร์ (เป็นกีฬาที่เน้นความแข็งแรง เคลื่อนไหวอย่างคล่องแคล่ว วิ่งฝ่าสิ่งกีดขวาง) โดยเขาจะถือคบเพลิงพิธีเปิดโอลิมปิก วิ่งไปบนหลังคาอาคารในกรุงปารีส ซึ่งทำให้คนนึกไปถึงตัวละครในเกม Assassin's Creed ของค่าย อูบิซอฟต์ (Ubisoft) บริษัทเกมสัญชาติฝรั่งเศส นับว่าเป็นการเอาวัฒนธรรมป๊อปของคนรุ่นใหม่มาเชื่อมโยงเพื่อบอกเล่าเรื่องราวของ บุคคลสำคัญ ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม สถาปัตยกรรม และสถานที่ที่จะใช้ในการเล่าเรื่องทั้ง 12 องก์ของพิธีเปิด ได้อย่างแนบเนียน

afp__20240726__36638u2__v3__h
ชายสวมฮู้ดไร้หน้าไร้นาม ถือคบเพลิงยืนบนหลังคาตรงข้าม กงซีแยร์เฌอรี (La Conciergerie)

องก์ที่ 1 Enchanté (อองชองเต)

อองชองเต ภาษาฝรั่งเศสแปลว่า “ยินดีที่ได้รู้จัก” เปิดฉากขึ้นโดยมีผู้แทนเข้าร่วม 18 คนแรกล่องเรือ 5 ลำผ่านม่านน้ำบน สะพานปงต์ ดูสแตลิต (Pont d’Austerlitz) พร้อมโชว์จากศิลปินหญิงระดับโลก "เลดี้ กาก้า" ต่อด้วยการแสดงระบำ “แคนแคน” โดยกลุ่มศิลปิน มูแลงรูจ (Moulin Rouge) ซึ่งมาในชุดสีชมพูสดใส โดยระหว่างทาง ขบวนเรือนักกีฬาจะเคลื่อนผ่านบุคคลดังและตัวละครจากวรรณกรรมและภาพยนตร์ ที่นั่งริมฝั่งแม่น้ำแซน เช่น โจนออฟอาร์ก วีรสตรีผู้กอบกู้ฝรั่งเศส, มารี คูรี นักวิทยาศาสตร์หญิงผู้ชนะรางวัลโนเบล, อาร์แซน ลูแปง สุภาพบุรุษจอมโจร ฯลฯ

afp__20240726__36627hv__v1__h_1
เลดี้ กาก้า ขึ้นโชว์ริมแม่น้ำแซน

องก์ที่ 2 Synchronicité (ซังโครนิซิเต)

ซังโครนิซิเต ภาษาฝรั่งเศสแปลว่า “ความเป็นหนึ่งเดียวกัน” ผู้ชมจะได้รับชมการเต้นจากนักเต้น 500 คน บนสะพานและ มหาวิหารนอเทรอดาม ซึ่งเกิดเหตุไฟไหม้ไปเมื่อปี 2019 เป็นการแสดงถึงความยกย่องของสุดยอดช่างฝีมือ ช่างก่อสร้างชาวฝรั่งเศส ที่มาช่วยกันบูรณะซึ่งคาดว่าจะเปิดให้บุคคลทั่วไปเข้าชมอีกครั้งในเดือนธันวาคมนี้ และยังเป็นการยกย่อง “ควาซิโมโด” หรือ “คนค่อมแห่งนอเทรอดาม” ที่หลายคนรู้จักอีกด้วย

afp__20240726__364z8pu__v1__h
เรือนักกีฬาแล่นผ่านมหาวิหารนอเทรอดามที่กำลังบูรณะ

องก์ที่ 3 Liberté (ลิแบร์เต)

ลิแบร์เต ภาษาฝรั่งเศสแปลว่า “เสรีภาพ” เป็นการแสดงความยกย่อง วิกเตอร์ อูโก นักเขียนชาวฝรั่งเศสในศตวรรษที่ 19 ด้วยการยกฉากหนึ่งจากละครเพลงเรื่อง “Les Misérables” (เล มีเซราบล์ส) ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับการปฏิวัติฝรั่งเศส พร้อมกับการปรากฏตัวของ พระราชินี มารี อ็องตัวแน็ต ราชินีองค์สุดท้ายแห่งฝรั่งเศส ที่ถูกกิโยตินตัดศีรษะจนขาด บนอาคาร กงซีแยร์เฌอรี (La Conciergerie) เป็นอนุสรณ์สถานที่สำคัญในกรุงปารีส โดยมีนักร้องโอเปรา มารีนา วิอ็อตติ ขับร้องบทเพลงอยู่บนเรือที่ประดับอยู่บนตราสัญลักษณ์ของเมืองปารีส ไปพร้อมๆ กับเสียงเพลงอันเผ็ดร้อนจากวงร็อกเฮฟวี่เมทัล Gojira ท่ามกลางไฟที่ปะทุ และพลุสีแดง สื่อถึงเลือดที่ไหลนองจากการปฏิวัติฝรั่งเศส

afp__20240729__36774kr__v3__h
โชว์เรื่อง เสรีภาพ สะท้อนเหตุการณ์ปฏิวัติฝรั่งเศส ที่กงซีแยร์เฌอรี (La Conciergerie)

องก์ที่ 4 égalité (เอแกลิเต)

เอแกลิเต ภาษาฝรั่งเศสแปลว่า “ความเท่าเทียม” เป็นการแสดงพลุไฟที่ สะพานปงเดซาร์ เชื่อมระหว่าง สถาบันแห่งฝรั่งเศส (Institut de France) กับจัตุรัสหน้า พิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ สื่อว่า ยุคสมัย แนวเพลง วัฒนธรรม ฯลฯ ที่แตกต่างกัน ล้วนมีความเท่าเทียมกันในยุคสมัยนี้

afp__20240726__364z6cm__v1__h
การแสดงพลุไฟที่ สะพานปงเดซาร์ หน้าสถาบันแห่งฝรั่งเศส

องก์ที่ 5 Fraternité (ฟราแตร์นิเต)

ฟราแตร์นิเต ภาษาฝรั่งเศสแปลว่า “ภราดรภาพ” ชายผู้สวมฮู้ด ไร้หน้าไร้นาม ถือคบเพลิงปรากฏตัวที่โถง พิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ พิพิธภัณฑ์ที่มีชื่อเสียงใจกลางกรุงปารีส วิ่งผ่านภาพวาดชื่อดังหลายภาพซึ่งผู้ที่อยู่ในภาพวาดและประติมากรรมต่างๆ กลับขึ้นมามีชีวิตและจ้องมองด้วยความสนใจ ก่อนที่จะพบว่าภาพวาด "โมนาลิซ่า" ที่วาดโดย เลโอนาร์โด ดา วินชี ถูกขโมยไปอีกครั้ง (เคยถูกขโมยไปในปี 1911 และถูกพบในปี 1913) ก่อนที่จะรู้ว่าคนที่ขโมยไปคือ “มินเนียน” (Minion) ตัวละครสุดน่ารักจากแอนิเมชั่น “Despicable Me” ซึ่งผลิตโดย Illumination Studios ที่ตั้งอยู่ในกรุงปารีส

องก์ที่ 6 Sororité (โซโฮริเต)

โซโฮริเต ภาษาฝรั่งเศสแปลว่า “สโมสรสตรี” โชว์นี้สร้างมาเพื่อเชิดชูสตรีชาวฝรั่งเศส โดยมี อักเซล แซ็งต์ ซีเรล ขับร้องเพลงชาติฝรั่งเศส “La Marseillaise” บนหลังคาของ กรองด์ปาแล (Grand-Palais) ก่อนที่จะมีรูปปั้นทองคำสตรีผู้โดดเด่นในประวัติศาสตร์ฝรั่งเศส 10 ท่าน โผล่ขึ้นมาจากแม่น้ำแซน โดยรูปปั้นทั้งหมดจะถูกมอบให้กับทางการกรุงปารีสเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ต่อไป

afp__20240726__36627yp__v1__h
อักเซล แซ็งต์ ซีเรล ขับร้องเพลงชาติฝรั่งเศสบนหลังคาของ กรองด์ปาแล

องก์ที่ 7 Sportivité (สปอร์ติวิตี้)

สปอร์ติวิตี้ ภาษาฝรั่งเศสแปลว่า "ความมีน้ำใจเป็นนักกีฬา" เจ้าภาพนำนักแสดงมาโชว์บนแท่นลอยน้ำ 5 แท่นที่กลางแม่น้ำแซน สลับกับการล่องเรือของนักกีฬาจากชาติต่างๆ โดยพาร์ทนี้จะนำประวัติศาสตร์ของฝรั่งเศสมาเชื่อมโยงกับกีฬาสมัยใหม่ เช่น กีฬาเอ็กซ์ตรีม เป็นต้น

afp__20240726__364z9u3__v2__h
การแสดงกลางแม่น้ำแซน

องก์ที่ 8 Festivité (เฟสทิวิตี้)

เฟสทิวิตี้ ภาษาฝรั่งเศสแปลว่า "การเฉลิมฉลอง" เป็นการแสดงจาก บาร์บารา บัตช์ ดีเจและโปรดิวเซอร์ชาวฝรั่งเศส และแฟชั่นโชว์ที่ สะพานเดบิลี เพื่ออวดความเป็นเมืองหลวงแห่งแฟชั่น โดยครั้งนี้ขอยกย่องดีไซเนอร์รุ่นใหม่มาแรงให้ได้มาแสดงผลงานผ่านสายตาของแฟชั่นนิสต้าทั่วโลก ซึ่งบรรยากาศเต็มไปด้วยความสนุกสนาน

afp__20240726__364z9vg__v1__h
การแสดงแฟชั่นโชว์ตอกย้ำเมืองหลวงแห่งแฟชั่น

องก์ที่ 9 Obscurité” (อ็อบคิวริเต)

อ็อบคิวริเต ภาษาฝรั่งเศสแปลว่า “ความมืดมิด” ซึ่งเข้ากับบรรยากาศของพิธีเปิดที่พระอาทิตย์ตกดิน เข้าสู่ยามราตรีของกรุงปารีส โดยขบวนเรือของนักเต้นจะแล่นผ่านสะพานเดบิลี โดยพื้นของเรือเหมือนแผนเปลือกโลกที่กำลังพังทลายลงมา เตือนให้ถึงปัญหาของโลกที่เราทุกคนล้วนเผชิญอยู่ จากนั้นเข้าสู่เพลงอมตะอย่าง “Imagine” ของ จอห์น เลนนอน และโยโกะ โอโนะ บรรเลงโดย โซเฟียน ปามาร์ต และขับร้องโดย จูเลียต อาร์มาเนต์ ที่ล่องอยู่บนแม่น้ำแซนท่ามกลางเปียโนที่มีไฟลุกไหม้ สื่อเป็นสัญลักษณ์ว่าสันติภาพของโลกในขณะนี้กำลังถูกไฟแผดเผา แล้วเราต้องช่วยกันดับไฟนี้ด้วยความรักและสามัคคี

afp__20240726__36646nz__v2__h
จูเลียต อาร์มาเนต์ ขับร้องเพลง Imagine มีฉากหลังเป็นเปียโนที่ไฟกำลังลุกไหม้

องก์ที่ 10 Solidarité (โซลิแดริตี้)

โซลิแดริตี้ ภาษาฝรั่งเศสแปลว่า "ความสามัคคี" เปิดตัวอย่างตื่นตา มีสตรีสวมชุดเกราะพร้อมเสื้อคลุมลายห่วงโอลิมปิก ขี่ม้าเหล็กล่องมาตามแม่น้ำแซน สว่างไสวท่ามกลางความมืดมิด โดยหลายคนเชื่อมโยงว่าเจ้าภาพกำลังสื่อไปถึง "โยนออฟอาร์ค" วีรสตรีผู้สวมเกราะเหล็กขี่ม้าไปสู้รบ จนกลายเป็นนักบุญที่หลายคนรู้จักและนับถือในความกล้าหาญและเสียสละ เธอควบม้าขึ้นฝั่งแล้วมายังหน้าหอไอเฟล ก่อนจะขี่ม้านำขบวนธงชาติที่เข้าร่วมแข่งขันตบเท้าเดินเข้าสู่สนาม แล้วเชิญธงโอลิมปิกขึ้นสู่ยอดเสา

afp__20240726__36646wd__v1__h
นารีขี่ม้าเหล็กกลางน้ำ
afp__20240726__36642a3__v1__h_2
นารีขี่ม้าเหล็กนำขบวนธงชาติหน้าหอไอเฟล

องก์ที่ 11 Solemnité (โซเลมนิตี้)

โซเลมนิตี้ ภาษาฝรั่งเศสแปลว่า "ความเคร่งขรึม" เป็นช่วงของการมอบรางวัล Olympic Laurel Award ให้กับ "ฟิลิปโป กรานดี" ข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ และเป็นผู้สนับสนุนทีมโอลิมปิกผู้ลี้ภัยรายใหญ่ ก่อนที่ "โทนี เอสตังเกต์" แชมป์โอลิมปิก 3 สมัย ประธานจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก 2024 ที่ปารีส จะกล่าวสุนทรพจน์กับบรรดานักกีฬา ต่อด้วยสุนทรพจน์จาก "โทมัส บาค" ประธานคณะกรรมการโอลิมปิกสากล (IOC) ด้วยประโยคคมๆ ว่า "จะมีที่ไหนดีไปกว่าปารีส ในการแบ่งปันความมหัศจรรย์ของการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกครั้งนี้กับคนทั้งโลก" ต่อมาประธานาธิบดีฝรั่งเศส "เอ็มมานูเอล มาครง" ได้กล่าวเป็นภาษาฝรั่งเศสว่า "ข้าพเจ้าขอประกาศว่าการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกครั้งที่ 33 ได้เริ่มขึ้นแล้ว!" ก่อนจะปิดท้ายด้วยการกล่าวปฏิญาณตนของนักกีฬา

afp__20240726__3663638__v2__h
ประธานาธิบดีฝรั่งเศสและแขกวีไอพีของงานนี้
afp__20240726__366377b__v1__h_3
สเตเดี้ยมที่เจ้าภาพเนรมิตขึ้นมาโดยมีฉากหลังเป็นหอไอเฟล

องก์ที่ 12 Éternité” (อีแทร์นิเต)

แทร์นิเต ภาษาฝรั่งเศสแปลว่า "ความเป็นนิรันดร์" เป็นการแสดงองก์สุดท้าย ชายสวมฮู้ด ไร้หน้าไร้นาม ได้ส่งต่อคบเพลิงให้กับนักกีฬาระดับตำนาน ไม่ว่าจะเป็น "ซีเนดีน ซีดาน" นักฟุตบอลชื่อดังชาวฝรั่งเศส "ราฟาเอล นาดาล" นักเทนนิสชาวสเปน "เซเรนา วิลเลียมส์" นักเทนนิสหญิงชาวอเมริกัน ไปจนถึงนักกีฬาชาวฝรั่งเศส ซึ่งเริ่มต้นจากหอไอเฟล ล่องเรือไปบนแม่น้ำไนล์ ผ่านสถานที่สำคัญมากมาย เช่น พิพิธภัณฑ์ลูฟร์ (Louvre Museum) ประตูชัยฝรั่งเศส (Arc de Triomphe)

afp__20240726__36648qb__v1__h_1
ขบวนนักกีฬาที่วิ่งคบเพลิงผ่านแลนด์มาร์คสำคัญของปารีส

จนไปถึงผู้ถือคบเพลิงคนสุดท้าย คือ "เท็ดดี ไรเนอร์" และ "มารี-โฮเซ เปเรค" ได้นำคบเพลิงไปจุดที่ สวนตุยเลอรีส์ (Jardin des Tuileries) หนึ่งในสวนสาธารณะสำคัญของกรุงปารีส โดยใช้บอลลูนเป็นกระถางคบเพลิงเพื่อรำลึกการส่งบอลลูนพลังงานไฮโดรเจนขึ้นบินเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ที่สวนสาธารณะแห่งนี้เมื่อปี 1783 โดยตัวกระถางคบเพลิงโอลิมปิก สามารถลอยได้สูงกว่า 60 เมตรจากพื้น เพื่อให้คนสามารถเห็นกระถางคบเพลิงได้ไม่ว่าจะอยู่ที่มุมไหนของกรุงปารีส

afp__20240726__3663873__v1__h
จุดคบเพลิงบนบอลลูนในสวนตุยเลอรีส์ (Jardin des Tuileries)

แล้วปิดท้ายแบบสุดประทับใจจนหลายคนยกให้เป็นซีนเด่นที่สุดของโชว์นี้นั่นก็คือ การขึ้นแสดงของ "เซลีน ดิออน" นักร้องชาวแคนาดาเชื้อสายฝรั่งเศส หลังหายหน้าไปนานเพราะป่วยด้วยโรคคนแข็ง (Stiff Person Syndrome) แล้วการกลับมาปรากฏตัวครั้งนี้ก็ไม่ทำให้ทุกคนผิดหวังกับเสียงอันทรงพลังผ่านเพลง Hymne à l’amour (บทเพลงแห่งความรัก) ของ "อิดิธ เพียฟ" นักร้องในตำนานของฝรั่งเศสที่เขียนเพลงนี้อุทิศให้กับ มาร์เซล เซอร์ดาน นักมวยซึ่งเสียชีวิตจากอุบัติเหตุเครื่องบินตก

afp__20240726__3664676__v3__h
"เซลีน ดิออน" ขับกล่อมเสียงเพลง Hymne à l’amour (บทเพลงแห่งความรัก)

นับว่าพิธีเปิดโอลิมปิก ณ กรุงปารีส ฝรั่งเศส ถือว่าสร้างความประทับใจให้กับคนดู เพราะแปลกใหม่ไม่ซ้ำใคร และยังนำเสนอความเป็นฝรั่งเศสในหลายแง่มุมผ่านทางสถานที่ท่องเที่ยว สถาปัตยกรรมอันใหญ่โต เก่าแก่ เพียบพร้อมไปด้วยศิลปะโบราณชั้นสูง ที่ทักทายคนดูทั่วโลกให้รู้จักประเทศแห่งนี้ได้แบบกระชับ อิ่มเอมใจภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมง สมกับที่เป็นเมืองแห่งความรักที่ไม่เคยหลับใหลจริงๆ

afp__20240726__36642k7__v2__h
ปารีส 2024 เปิดฉากแล้ว

 

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม