Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
สนามแข่งขันโอลิมปิก 2024 ไม่ใช่แค่สวย แต่รุ่มรวยไปด้วยศิลปะ สถาปัตยกรรม และประวัติศาสตร์

สนามแข่งขันโอลิมปิก 2024 ไม่ใช่แค่สวย แต่รุ่มรวยไปด้วยศิลปะ สถาปัตยกรรม และประวัติศาสตร์

31 ก.ค. 67
16:16 น.
|
889
แชร์

ฝรั่งเศส แปลงโฉมสถานที่ในกรุงปารีส ที่เต็มไปด้วยร่องรอยของประวัติศาสตร์ และความงามของสถาปัตยกรรม ให้กลายเป็นสนามและสังเวียนการแข่งขันโอลิมปิก 2024

เป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้น ตื่นตา ตื่นใจสำหรับแฟนกีฬา หลังจากที่กรุงปารีส ฝรั่งเศส เจ้าภาพการแข่งขันกีฬา โอลิมปิก 2024 ได้เผยว่าการแข่งขันครั้งนี้จะไม่เน้นไปที่การก่อสร้างสนามใหม่ๆ แต่จะนำสถานที่ทางประวัติศาสตร์ซึ่งเป็นเหมือนสัญลักษณ์หรือภาพจำของกรุงปารีสมาปรับเปลี่ยนให้เป็นสังเวียนการแข่งขันของเหล่านักกีฬาจากทั่วทุกโลก ซึ่งนับว่าเป็นการต่อยอดจากพิธีเปิดที่ไม่ได้จัดในสนามกีฬาเหมือนเช่นเคย แต่ขอใช้เมืองทั้งเมืองทำหน้าที่เป็นเวทีอวดความยิ่งใหญ่ให้ชาวโลกได้เห็น

• บองชู! เมื่อฝรั่งเศสเล่นใหญ่ ขอทักทายชาวโลก เปลี่ยนกรุงปารีสให้เป็นโรงละคร ในพิธีเปิดโอลิมปิก

afp__20240730__367p3gu__v2__h

สำหรับการแข่งขัน โอลิมปิก2024 ในครั้งนี้เจ้าภาพได้เลือกสถานที่ระดับไอคอนนิค มาดัดแปลงเป็นสนามแข่งขันได้อย่างสวยงาม อลังการ เรียกว่าคนดูในสนามจริงก็ตื่นเต้น คนดูจากทางบ้านก็ตื่นตา เพราะจะมองจากมุมไหนก็สวยงาม ได้เห็นถึงความยิ่งใหญ่ และวัฒนธรรมอันเก่าแก่ และนี่คือสถานที่แข่งขันที่เจ้าภาพฝรั่งเศส เลือกใช้

• หอไอเฟล

เมื่อพูดถึงปารีส เชื่อว่าสิ่งแรกที่ผุดขึ้นในความคิดของหลายคนคือ หอไอเฟล (The Eiffel Tower) ที่เป็นสัญลักษณ์อันโดดเด่น และยังเป็นหนึ่งในสิ่งก่อสร้างที่มีชื่อเสียงที่สุดในโลก เป็นจุดเช็กอินที่ไม่ว่าใครก็ต้องไปถ่ายรูปสักครั้งหากได้ไปเยือน

สำหรับโอลิมปิกนี้ เจ้าภาพได้สร้างสนามชั่วคราวบริเวณ ช็อง เดอ มาร์ส (Champ de Mars) สวนสาธารณะบริเวณฐานของหอไอเฟล ซึ่งพิธีเปิดส่วนหนึ่งจัดขึ้นที่นี่ และยังมีการจัดการแข่งขันวอลเลย์บอลชายหาด รองรับผู้ชมได้ราว 12,000 คน โดยบริเวณฐานของหอไอเฟล ครั้งหนึ่งที่นี่เคยเป็นที่สังหารหมู่เมื่อ ปี 1791 สืบเนื่องจากภายหลังการปฏิวัติฝรั่งเศส พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ทรงหลบหนีจากการจองจำที่พระราชวังตุยเลอรี ก่อนจะถูกจับได้อีกครั้ง ประชาชนที่ไม่พอใจจึงมาชุมนุมกันเพื่อเรียกร้องให้ลงโทษ ทำให้ทหารที่อยู่ฝ่ายพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 เข้ามาปราบปรามการชุมนุม แล้วสังหารประชาชนเสียชีวิตไปราว 50 คน

afp__20240730__367m2hx__v1__h
สนามกีฬาชั่วคราวหน้าหอไอเฟล

ทั้งนี้ หอไอเฟล เป็นหอคอยโครงสร้างเหล็กตั้งอยู่บนช็อง เดอ มาร์ส บริเวณแม่น้ำแซน ในกรุงปารีส เป็นสัญลักษณ์ของประเทศฝรั่งเศส จุดกำเนิดเริ่มจาก กรุงปารีสได้เป็นเจ้าภาพจัดงานแสดงสินค้าโลกในปี 1889 เพื่อฉลองการครบรอบ 100 ปี การปฏิวัติฝรั่งเศส ทางรัฐบาลฝรั่งเศสจึงได้จัดการประกวดออกแบบสิ่งก่อสร้างเพื่อใช้เป็นสัญลักษณ์ของงาน ผู้ชนะคือ "กุสตาฟ ไอเฟล" สถาปนิกและวิศวกรชื่อดังชาวฝรั่งเศส และได้ตั้งชื่อหอคอยตามนามสกุลของตนเอง

หอไอเฟล เริ่มก่อสร้างในวันที่ 26 มกราคม 1887 (พ.ศ.2430) ก่อนจะแล้วเสร็จทำพิธีเปิดอย่างเป็นทางการในวันที่ 31 มีนาคม 1889 มีความสูงกว่า 330 เมตร (1,083 ฟุต) และเป็นสิ่งก่อสร้างที่มีโครงสร้างที่สูงที่สุดในกรุงปารีส มีฐานเป็นรูปทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัส วัดได้ด้านละ 125 เมตร (410 ฟุต) ได้รับการยกย่องให้เป็นอนุสรณ์สถานทางประวัติศาสตร์แห่งฝรั่งเศสในปี 1964 และได้รับการเสนอชื่อเป็นแหล่งมรดกโลกโดยยูเนสโกในปี 1991

• จัตุรัสปลัส เดอ ลา กงกอร์ด

จัตุรัสปลัส เดอ ลา กงกอร์ด (Place de la Concorde) หรือหลายคนเรียกว่า จัตุรัสคองคอร์ด เป็นจัตุรัสที่กว้างขวาง และมีชื่อเสียงที่สุดในกรุงปารีส มีจุดเด่นคือเสาหินแกรนิตสีชมพูทรงแหลม ตั้งตระหง่านอยู่ตรงกลางจัตุรัสและอยู่ใกล้กับสวนตุยเลอรี (Jardin des Tuilleries) และถนนช็องเซลีเซ (Avenue des Champs-Élysées) ฝรั่งเศสจัดการแข่งขันที่นี่ 4 ชนิดกีฬา ได้แก่ บาสเกตบอล 3x3, สเก็ตบอร์ด, จักรยานบีเอ็มเอ็กซ์ และเบรกแดนซ์ หรือ เบรกกิ้ง ที่ได้รับการบรรจุในโอลิมปิกเป็นครั้งแรก

afp__20240726__36646ga__v2__h
สนามกีฬาชั่วคราวบริเวณจัตุรัสปลัส เดอ ลา กงกอร์ด

ในอดีต จัตุรัสปลัส เดอ ลา กงกอร์ด คือลานประหารกษัตริย์ เหล่าขุนนาง และผู้คนมากมายนับไม่ถ้วน ในสมัยปฏิวัติฝรั่งเศส เช่น พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 พระนางมารีอ็องตัวแน็ต ฯลฯ เดิมทีสถานที่แห่งนี้ได้รับการออกแบบให้เป็นที่ตั้งของพระบรมรูปทรงม้าของพระเจ้าหลุยส์ที่ 15 แห่งฝรั่งเศส ซึ่งสร้างขึ้นในปี 1748 โดยพ่อค้าชาวปารีส เพื่อเฉลิมฉลองการฟื้นพระวรกายของพระเจ้าหลุยส์ที่ 15 จากการประชวรหนัก ซึ่งสถานที่ที่ได้รับเลือกให้ประดิษฐานพระบรมรูปคือทางเดินขนาดใหญ่ของสวนตุยเลอรีส์และกูร์-ลา-เริน ซึ่งเป็นเส้นทางยอดนิยมสำหรับการขี่ม้า ซึ่งในเวลานั้นไม่มีสะพานกงกอร์ด และถนนริโวลี และถนนรัวยาล ยังเป็นทางลูกรังที่ลาดลงไปยังแม่น้ำแซน

• พระราชวังแวร์ซาย

พระราชวังแวร์ซาย (Palace of Versailles) สถานที่สุดหรูหรา ที่นักท่องเที่ยวหลายล้านคนใฝ่ฝันมาเยือนให้เห็นกับตาสักครั้ง โดยพระราชวังแวร์ซายเป็นหนึ่งในไฮไลต์ที่เจ้าภาพฝรั่งเศสทำการปรับแต่งสวนของพระราชวังให้เป็นสนามสำหรับการแข่งขันขี่ม้าประเภทศิลปะการบังคับม้า กระโดดข้ามเครื่องกีดขวาง และอีเวนติ้ง เพื่อให้ผู้ชมได้กลิ่นอายและสัมผัสบรรยากาศย้อนไปในช่วงคริสตศตวรรษที่ 17 ซึ่งการแข่งขันขี่ม้าเป็นกีฬายอดนิยมของชนชั้นสูง

afp__20240725__364x684__v1__h
สนามแข่งกีฬาขี่ม้าบริเวณสวนของพระราชวังแวร์ซาย

พระราชวังแวร์ซาย เป็นศูนย์กลางของอำนาจ ศิลปะ และวิทยาศาสตร์ของประเทศฝรั่งเศสในช่วงศตวรรษที่ 17-18 สร้างโดยพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 (Louis XIV) แห่งราชวงศ์บูร์บง (Bourbon) โดยเริ่มก่อสร้างในปี 1661 ใช้งบประมาณในการก่อสร้างกว่า 500 ล้านฟรังก์ และใช้เวลาสร้างเกือบ 30 ปี มีพื้นที่รวมกว่า 5,000 ไร่ แบ่งออกเป็น 4 โซน ได้แก่ The Palace, The Gardens, The Estate of Trianon และ The Park ถือเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในแห่งหนึ่งในฝรั่งเศส และได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลกโดยองค์การ UNESCO ในปี 1979

• กร็องปาแล

กร็องปาแล (Grand Palais) โดมกระจกทรงโค้ง สะท้อนถึงสถาปัตยกรรมสมัยใหม่สไตล์โบซาร์ (Beaux-Arts) เริ่มก่อสร้างในช่วงปี 1897 หลังจากการรื้ออาคารปาแล เดอ แลงดุสทรี (Palais de l'Industrie) เพื่อเตรียมการจัดงานนิทรรศการโลก (Universal Exposition) ในปี 1900 ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 5 โดยในครั้งนั้นสยามได้นำสินค้ามาเข้าร่วมจัดแสดงภายใต้บรรยากาศพาวิลเลียนแบบศาลาไทย นอกจานกี้ กร็องปาแล ยังเคยถูกใช้เป็นโรงพยาบาลทหารในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 ในปัจจุบัน กร็องปาแลเป็นที่ตั้งของสถานีตำรวจที่อยู่ในชั้นใต้ดิน เพื่อช่วยดูแลความเรียบร้อยในยามที่มีงานนิทรรศการต่างๆ ในส่วนปีกตะวันตกของอาคาร เป็นที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ หรือเรียกว่า ปาแลเดอลาเดกูแวร์ต (Palais de la Découverte)

afp__20240728__366g8zb__v1__h
การแข่งขันฟันดาบโอลิมปิก 2024 ที่กร็องปาแล

สำหรับการแข่งขันโอลิมปิก 2024 กร็องปาแล ถูกใช้เป็นสนามแข่งขันเทควันโดและฟันดาบ โดย น้องเทนนิส พาณิภัค วงศ์พัฒนกิจ นักเทควันโดอันดับ 1 ของโลก รุ่น 49 กิโลกรัมหญิง จะลงแข่งขันโอลิมปิกครั้งสุดท้าย ณ สนามแห่งนี้

• แม่น้ำแซน

แม่น้ำแซน (Seine River) นอกจากจะใช้เป็นไฮไลต์สำคัญของพิธีเปิดแล้ว ก็คือการให้นักกีฬาชาติต่างๆ ล่องเรือผ่านสถานที่สำคัญ กรุงปารีสยังใช้แม่น้ำแซน เป็นที่แข่งขันไตรกีฬาอีกด้วย โดยทางฝรั่งเศสได้ทุ่มงบถึง 1.4 พันล้านยูโร หรือราว 5 หมื่นล้านบาท สร้างโรงบำบัดน้ำ และกักเก็บน้ำใหม่ แต่ก็ยังคงมีความกังวลในเรื่องของมลพิษทางน้ำที่อาจส่งผลกระทบต่อนักกีฬาได้ อย่างไรก็ตาม ฝรั่งเศสยืนยันความปลอดภัยจนในที่สุดก็ได้จัดแข่งขันกีฬาในแม่น้ำประวัติศาตร์ได้สมใจ

afp__20240731__367v9gt__v3__h
การแข่งขันไตรกีฬาที่ออกสตาร์ตริมแม่น้ำแซน

แม่น้ำแซนมีความยาว 777 กิโลเมตร เสมือนหัวใจหลักและเส้นเลือดที่หล่อเลี้ยงชาวปารีสมาอย่างช้านาน ไหลผ่านสถานที่สำคัญ เช่น หอไอเฟล พิพิธภัณฑ์ลูฟว์ (Louvre Museum) มหาวิหารน็อทร์-ดามแห่งปารีส (Cathédrale Notre-Dame de Paris) พิพิธภัณฑ์ออร์แซ (Orsay Museum) ในสมัยอดีตผู้คนนิยมมาอาบน้ำกันที่นี่ทั้งหญิงและชาย โดยจะมีผ้าใบกั้นไว้เป็นสัดส่วน แม้กระทั่งสุนัขก็ยังมีเจ้าของพามาอาบน้ำตัดขนที่นี่ด้วย จนกระทั่งปี 1923 ทางการสั่งห้ามว่ายน้ำหรืออาบน้ำที่นี่ เนื่องจากปัญหาเรื่องมลพิษและเป็นภัยต่อสุขภาพ

Advertisement

แชร์
สนามแข่งขันโอลิมปิก 2024 ไม่ใช่แค่สวย แต่รุ่มรวยไปด้วยศิลปะ สถาปัตยกรรม และประวัติศาสตร์