ผิดหรือไม่ผิด? เมื่อนักกีฬาที่ไม่ผ่านการตรวจเพศ ได้ขึ้นชก เพราะโอลิมปิกยึดเพศที่ระบุตามพาสปอร์ต

2 ส.ค. 67

ผิดหรือไม่ผิด? เมื่อนักกีฬาที่ไม่ผ่านการตรวจเพศ ได้ขึ้นชกบนเวที อัดคู่แข่งจนต้องขอยอมแพ้ เพียงเพราะโอลิมปิกยึดเพศที่ระบุตามพาสปอร์ต ไม่ใช่จากการตรวจร่างกาย

เกิดกระแส #IStandWithAngelaCarini ขึ้นใน X หรือทวิตเตอร์ เมื่อ แองเจลา คารินี นักมวยหญิงชาวอิตาลี ถึงกับทรุดลงไปหลั่งน้ำตากลางเวที ในการแข่งขันมวยหญิง โอลิมปิก 2024 รุ่นน้ำหนัก 66 กก. หลังขอยอมแพ้ อิมาน เคลิฟ นักชกชาวแอลจีเรีย แม้จะขึ้นสังเวียนไปได้แค่ 46 วินาทีในยกแรก เพราะถูกอีกฝ่ายชกเข้าใบหน้าอย่างจัง ก่อนที่แองเจลาจะเดินไปบอกพี่เลี้ยงข้างเวทีว่าขอยอมแพ้เพราะสู้ต่อไม่ไหว

เรื่องนี้จะธรรมดาทันที ถ้าทั้งสองคนเป็นนักชกที่มีปูมหลังไม่ต่างกัน แต่ในกรณีของ อิมาน เคลิฟ นักชกชาวแอลจีเรีย เป็นหนึ่งในสองนักมวยหญิงที่ได้รับอนุญาตให้เข้าร่วมการแข่งขันโอลิมปิก แม้ว่าจะถูกตัดสิทธิจากการแข่งขันชิงแชมป์โลกหญิงเมื่อปีที่แล้ว เนื่องจากไม่ผ่านการทดสอบฮอร์โมนเพศชายและคุณสมบัติทางเพศ โดยนักชกอีกคนที่เจอปัญหาเรื่องนี้คือ หลิน ยู่ติง จากไต้หวัน

"ฉันหัวใจสลาย ฉันไม่เคยถูกชกแรงขนาดนี้มาก่อน ฉันขึ้นเวทีเพื่อเป็นเกียรติแก่พ่อของฉัน ฉันเป็นนักรบ ฉันไม่ใช่คนที่ยอมแพ้ง่ายๆ แม้ว่าใครจะบอกว่าเราสู้ไม่ได้ แต่ฉันก็ไม่มีวันยอมรับมัน จมูกฉันเริ่มมีเลือดกำเดาไหลตั้งแต่โดนหมัดแรกแล้ว แค่หมัดเดียวมันก็เจ็บเกินไป ฉันเลยเลือกที่จะหยุดสู้เพื่อความปลอดภัยของตัวเอง

สำหรับฉันนี่ไม่ใช่ความพ่ายแพ้ ถ้าคุณขึ้นเวทีแสดงว่าคุณชนะแล้ว ฉันมาที่นี่เพื่อทำหน้าที่ของฉัน ฉันคงพูดไม่ได้ว่ามันยุติธรรมหรือไม่ยุติธรรม แต่รู้สึกว่าไปต่อไม่ได้ ฉันก็เลยบอกว่าพอแล้ว" แองเจลา คารินี เปิดใจหลังจบการแข่งขัน

afp__20240801__368d3z7__v3__h
แองเจลา คารินี นักมวยหญิงชาวอิตาลี บทรุดลงไปหลั่งน้ำตากลางเวที

Giorgia Meloni นายกรัฐมนตรีหญิงของอิตาลีกล่าวว่า "ฉันคิดว่านักกีฬาที่มีลักษณะทางพันธุกรรมแบบผู้ชาย ไม่ควรได้รับการยอมรับให้เข้าร่วมการแข่งขันประเภทหญิง จากมุมมองของฉัน มันไม่ใช่การแข่งขันแบบสมน้ำสมเนื้อ มันไม่ใช่การเลือกปฏิบัติ แต่เพื่อปกป้องสิทธิของนักกีฬาหญิงในการแข่งขันอย่างเท่าเทียมกัน"

afp__20240801__368d3vl__v1__h
อิมาน เคลิฟ นักชกชาวแอลจีเรีย

สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้สหพันธ์มวยสากลนานาชาติ (IBA) และคณะกรรมการโอลิมปิกสากล (IOC) ถูกวิจารณ์อย่างหนัก ว่าเกิดความไม่ยุติธรรมในมหกรรมกีฬาระดับโลกแบบนี้ ทำให้ IBA ต้องออกมาชี้แจงว่า เคยตัดสิทธิ์ไม่ให้ อิมาน เคลิฟ จากแอลจีเรีย กับ หลิน ยู่ติง จากไต้หวัน ขึ้นชกมวยหญิงในรายการชิงแชมป์ที่อินเดีย เมื่อปี 2023 เนื่องจากมีโครโมโซม XY เพศสภาพไม่ตรงตามกฎเกณฑ์ที่จะให้ขึ้นชกในรุ่นผู้หญิง ซึ่งจะเป็นการไม่ยุติธรรมกับนักกีฬาหญิง

หลิน ยู่ติง ยอมรับคำตัดสินของทางองค์กร ไม่ได้โต้แย้งเรื่องนี้ แต่ อิมาน เคลิฟ ยื่นเรื่องอุทธรณ์แต่ก็ถอนคำร้องในเวลาต่อมา เท่ากับว่ายอมรับคำตัดสิน การที่ทั้งสองได้รับอนุญาตให้ขึ้นชกในโอลิมปิก 2024 ทั้งที่ถูกตั้งคำถามเรื่องเพศสภาพนั้น เรื่องนี้ต้องให้ทางคณะกรรมการโอลิมปิกสากล (IOC) เป็นผู้ชี้แจง ส่วน IBA ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ ทั้งสิ้น

ด้าน IOC ระบุว่าทั้งสองคน "เป็นผู้หญิงตามหนังสือเดินทางของพวกเขา" และทุกคนในทัวร์นาเมนต์ได้ผ่านกฎคุณสมบัติของการแข่งขันแล้ว

afp__20231005__33xh7h2__v1__h
หลิน ยู่ติง นักมวยจากไต้หวัน

ขณะเดียวกัน "เจ.เค. โรว์ลิ่ง" นักเขียนนิยาย "แฮร์รี่ พอตเตอร์" ผู้ซึ่งมีจุดยืนว่าเพศเรื่องเพศเชิงชีววิทยาว่าในโลกนี้แบ่งเป็นแค่ชายกับหญิงเท่านั้น ได้แสดงความคิดเห็นเรื่องนี้อย่างเผ็ดร้อนว่า "นักมวยหญิงถูกแย่งชิงทุกสิ่งที่เธอได้ฝึกฝนและทุ่มเทมา เพียงเพราะคุณยอมให้ผู้ชายขึ้นสังเวียนสู้กับเธอ พวกคุณช่างน่าอับอายเหลือเกิน ปารีส 2024 จะต้องแปดเปื้อนไปตลอดกาลจากความอยุติธรรมอันโหดร้ายที่ทำกับคารินี"

"จะมีภาพไหนที่สรุปถึงการเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิเพศเท่าเทียมของเราได้ดีกว่านี้มั้ย รอยยิ้มของผู้ชายที่รู้ว่าเขาได้รับการคุ้มครองโดยสถาบันกีฬาที่เกลียดผู้หญิง ซึ่งกำลังเพลิดเพลินกับความทุกข์ทรมานของผู้หญิงที่เขาเพิ่งต่อยไปที่หัว และความทะเยอทะยานในชีวิตของเธอถูกเขาพังทลายลงไป"

ด้าน อันนา ลูกา ฮาโมรี นักชกหญิงจากฮังการี ที่จะต้องลงดวลกำปั้นกับ เคลิฟ ในรอบต่อไปเผยว่า "ฉันไม่กลัว ฉันไม่สนหรอกว่าสื่อหรือโซเชียลที่บอกว่าเขาหรือเธอเป็นผู้ชาย เพราะถ้าฉันได้รับชัยชนะ มันจะเป็นชัยชนะที่ยิ่งใหญ่มากขึ้นสำหรับฉัน"

จากนี้คงต้องจับตาดูกันต่อไปว่า ที่สุดแล้วเรื่องนี้จะจบลงอย่างไร และมาตรฐานของการคัดเลือกนักกีฬาให้มาลงแข่งเพื่อให้เกิดความยุติธรรมและปลอดภัยสำหรับนักกีฬานั้น ทุกฝ่ายจะมีทางออกอย่างไรกับเรื่องนี้

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม