รู้จัก "กรดซัลฟิวริก" หรือ "กรดกำมะถัน" ฤทธิ์กัดกร่อนสูง มีพิษเฉียบพลันโดยการสูดดม วิธีปฐมพยาบาลผู้ได้รับพิษจากกรดซัลฟิวริก
อมรินทร์ทีวี ออนไลน์ ตรวจสอบข้อมูลความเป็นพิษของ "กรดซัลฟิวริก" เพื่อเป็นข้อมูลเตือนภัยและป้องกันเกิดเหตุซ้ำแบบเดียวกับ เหตุการณ์สลด 3 ศพ ครอบครัวตำรวจ พื้นที่ จังหวัดชลบุรี
เดิมที ตำรวจตั้งปมสันนิษฐานสาเหตุการเสียชีวิตของทั้ง 3 ราย อาจเกี่ยวข้องกับ "โซดาไฟ" ต่อมา เจ้าหน้าที่กองพิสูจน์หลักฐานได้เข้าตรวจสอบที่เกิดเหตุ และทราบข้อมูลจากพยานว่า ก่อนเกิดเหตุสมาชิกในบ้านได้ไปซื้อ ผลิตภัณฑ์ล้างท่ออุดตัน ยี่ห้อหนึ่ง ลักษณะเป็นขวดสีขาวทึบ ฝาสีแดง
และเมื่อ จนท. ทำการทดสอบ โดยใช้ผลิตภัณฑ์ยี่ห้อเดียวกัน พบว่า ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวเป็น กรดซัลฟิวริก ที่มีความเข้มข้นสูง และไม่สามารถนำไปใช้ร่วมกับสารที่มีฤทธิ์เป็นด่าง โดยเฉพาะ โซดาไฟได้ หากนำไปใช้ร่วมกันแล้วไปเจอสิ่งอุดตันภายในท่อจะทำปฏิกิริยา กลายเป็น "ก๊าซไข่เน่า" มีควันพวยพุ่งขึ้นมา
กรดซัลฟิวริก คืออะไร
กรดซัลฟิวริก (sulfuric acid) หรือ กรดกำมะถัน ลักษณะทั่วไปจะเป็นของเหลวใสคล้ายนน้ำมัน ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น มีความหนืด จัดเป็นกรดแก่อย่างแรง ละลายในน้ำได้ดี กรดซัลฟิวริก เป็นเคมีภัณฑ์พื้นฐานญที่มีการนำาไปใช้ในอุตสาหกรรมเคมีต่างๆ เช่น ใช้ในการผลิตปุ๋ยเคมีภัณฑ์ปิโตรเลียม การผลิตแร่ การสังเคราะห์สารเคมี และใช้ในการบำบัดน้ำเสีย
ความเป็นพิษต่อร่างกายของ กรดซัลฟิวริก
1. ผิวหนังสัมผัสโดยตรง
ทำให้เกิดการระคายเคืองอย่างรุนแรง ผิวหนังไหม้ ปวดแสบปวดร้อน และเกิดแผลพุพอง
2. ดวงตา
การสัมผัสโดยตรงกับของเหลว ไอ หรือหมอกควันของกรดซัลฟิวริก จะทำให้ดวงตาระคายเคือง พร่ามัว ตาแดง น้ำตาไหล กระจกตาเสียหาย และกรอกตาไปมาไม่ได้ ถ้าหากโดนดวงตามากๆ อาจทำให้เกิดการไหม้อย่างสาหัสจนถึงตาบอดได้
3. การสูดดม
เอาไอหรือหมอกควันของกรดซัลฟิวริกซึ่งมีฤทธิ์กัดกร่อนสูงจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อเนื้อเยื่อที่เป็น
เมือก เกิดการระคายเคืองอย่างรุนแรงของโพรงจมูก ลำคอ และระบบทางเดินหายใจ ทำให้เกิดอาการน้ำท่วมปอด หายใจติดขัด ถี่รัว และอาจทำให้เสียชีวิตได้
4. การกินเข้าไป
จะทำให้เกิดการไหม้ของลำคอ หลอดอาหารและกระเพาะอาหาร เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน การไหลเวียนของโลหิตล้มเหลว หายใจติดขัด ปัสสาวะน้อย เกิดอาการช็อกและเสียชีวิตได้
วิธีปฐมพยาบาลผู้ได้รับพิษจาก กรดซัลฟิวริก
1. ถ้าหายใจเข้าไป
ให้เคลื่อนย้ายผู้ป่วยออกสู่บริเวณที่มีอากาศบริสุทธิ์ ถ้าผู้ป่วยหยุดหายใจให้ ช่วยผายปอด ถ้าหายใจติดขัดให้ออกซิเจน ช่วยรักษาร่างกายผู้ป่วยให้อบอุ่นและอยู่นิ่ง จากนั้นเร่งนำตัวส่งโรงพยาบาล
2. ถ้ากลืนหรือกินเข้าไป
อย่ากระตุ้นให้เกิดการอาเจียน ให้ผู้ป่วยบ้วนล้างปากด้วยน้ำ ให้ผู้ป่วยดื่มน้ำ 200 – 300 มิลลิลิตร จากนั้นเร่งนำตัวส่งโรงพยาบาล
3. ถ้าสัมผัสถูกผิวหนัง
ให้ฉีดล้างผิวหนังทันทีด้วยน้ำปริมาณมาก อย่างน้อย 15 นาที จากนั้นเร่งนำตัวส่งโรงพยาบาล
4. ถ้าสัมผัสถูกตา
ให้ฉีดล้างตาทันทีด้วยน้ำปริมาณมาก อย่างน้อย 15 นาที จากนั้นเร่งนำตัวส่งโรงพยาบาล
สำหรับ กรดซัลฟูริก (sulfuric acid) หรือเรียก กรดกํามะถัน จัดเป็นวัตถุอันตราย ชนิดที่ 3 ตาม พ.ร.บ. วัตถุอันตราย พ.ศ.2535
อ้างอิงข้อมูล : กรมวิทยาศาสตร์บริการ, โรงพยาบาลหนองหงส์