รู้จัก "เทือกเขาอันนัม" ปราการธรรมชาติช่วยไทยรอดถึง 2 ครั้งจากมหาพายุ ยางิ-โนรู

9 ก.ย. 67

"เทือกเขาอันนัม" หรือ "เทือกเขาญวน" ปราการธรรมชาติ ตระหง่านปกป้องประเทศไทย รอดถึง 2 ครั้ง จากมหาพายุ "ยางิ" และ "โนรู"

รู้จัก "เทือกเขาอันนัม" เทือกเขาที่ปกป้องคนไทยจากฤทธิ์ "พายุยางิ" ที่กำลังแผลงฤทธิ์ฟาดใส่เวียดนาม สร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินอย่างหนัก สืบเนื่องจากข้อมูลของเพจฯ World Forum ข่าวสารต่างประเทศ ที่ระบุว่า "ลาว : เทือกเขาอันนัม 2 วันแล้ว ที่เทือกเขาปกป้อง ประชาชน ชาวลาว ชาวไทย จากลมพายุรุนแรง ซูเปอร์ไต้ฝุ่นยางิ ความเร็วลมสูงถึง 230 กม./ชม.

ในภาพ เวลา 21.00 น. 6/9/2024 แผนที่ลมกระโชก จะเห็นได้ว่าลมไม่สามารถผ่านแนวเขาได้เลย ผ่านได้เพียงเล็กน้อย

เทือกเขาอันนัม เป็นเทือกเขาในภูมิภาคอินโดจีน มีความยาวประมาณ 1,100 กิโลเมตร (680 ไมล์) เป็นชายแดนตลอดแนวทิศตะวันตกของประเทศเวียดนามต่อกับลาวและทางตอนเหนือของกัมพูชา (ชื่ออื่นๆ ภาษาเวียดนามว่า "สายเจื่องเซิน" (Dãy Trường Sơn) "สายภูหลวง" (ພູຫລວງ) ในภาษาลาว เอกสารไทยเรียก เทือกเขาญวน , เขาญวน หรือ เขาเมืองภูซุน)

เทือกเขาอันนัม ประกอบด้วย ภูเขาและยอดเขาเป็นจำนวนมาก ยอดเขาที่สูงที่สุด คือ ภูเบี้ย ความสูง 2,819 เมตร และยังเป็นถิ่นที่อยู่ของชนพื้นเมืองต่าง ๆ รวมทั้งเป็นแหล่งกำเนิดของแม่น้ำหลายสาย"

เทือกเขาอันนัม

อย่างไรก็ตามนี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ "เทือกเขาอันนัม" ผ่อนหนักให้เป็นเบาแก่ประเทศไทย เพราะเมื่อครั้ง "พายุโนรู" ในปี 2565 เทือกเขาอันนัม หรือ เทือกเขาญวน ก็ได้ปกป้องคนไทยจากมหาพายุลูกนี้มาแล้ว

โดยเมื่อ วันที่ 29 ก.ย. 2565 เฟซบุ๊ก Thon Thamrongnawasawat ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการด้านทะเลและสิ่งแวดล้อม และอาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ออกมาโพสต์ถึง "เทือกเขาอันนัม" ที่เปรียบเสมือนเกราะคุ้มครองไทย และการสลายตัวเร็วของ "พายุโนรู" ทำให้ประเทศไทยไม่เดือดร้อนมากกว่านี้

พายุโนรู
ภาพจาก : thaiwater.net

โดยอาจารย์ธรณ์ อธิบายความเชื่อมโยงดังกล่าวว่า "พายุหมุนเกิดในทะเล ตายในเทือกเขา นี่คือประโยคสั้นๆ แต่ผมคิดว่าอธิบายถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในไทยดีสุด "โนรู" ที่รุนแรงตอนขึ้นฝั่ง อ่อนแรงลงอย่างรวดเร็ว ทำให้ประเทศไทยไม่เดือดร้อนมากไปกว่านี้

แล้วโนรูตายที่ไหน? คำตอบคือพายุหมดแรงบน "อันนัม" เทือกเขาที่เป็นเสมือนเกราะคุ้มครองไทย

อันนัม ไม่ได้อยู่ในเมืองไทยด้วยซ้ำ เทือกเขาอยู่ในเวียดนาม ในลาว และมีส่วนปลายอยู่ในเขมร แต่เทือกเขายาว 1,100 กิโลเมตร สูงถึง 2,800 เมตร คือ ปราการธรรมชาติที่ปกป้องประเทศไทยมาหลายครั้งครา

อันนัม ทอดยาวขนานชายฝั่งเวียดนาม แบ่งเขตชายฝั่งออกจากลุ่มน้ำแม่โขงที่อยู่ลึกเข้าไปในแผ่นดิน ทุกครั้งที่มีไต้ฝุ่นหรือพายุใหญ่เข้ามาทางเวียดนาม อันนัมหยุดแรงลมไว้ ทำให้พายุที่เกรี้ยวกราดลดความแรงลมเหลือเพียงดีเปรสชัน แม้ฝนจะตกอยู่ แต่แรงลมเบาลงมาก ความชื้นในอากาศส่วนหนึ่งถูกกักเก็บไว้

อันนัม ยังเป็นแหล่งรวมความหลากหลายทางชีวภาพ ป่าดิบชื้นเรื่อยจนถึงป่าดิบเขาที่สำคัญในอินโดจีน เป็นถิ่นที่อยู่ของ "เสาลา" แอนทีโลปหายากที่สุดชนิดหนึ่งของโลก พบเฉพาะแถวอันนัมตอนเหนือ ในลาวและเวียดนาม

อันนัม ยังป้อนน้ำให้ลำโขง ทำให้ผู้คนในลาวและเขมรมีความสุข และนั่นคือเรื่องที่อยากเล่าให้เพื่อนธรณ์ฟัง ถึงปราการแห่งอินโดจีนเทือกเขาที่มีความหมายมากมายต่อไทยและจะยิ่งทวีความสำคัญ เมื่อโลกร้อนขึ้น เมื่อสภาพอากาศสุดขั้วแรงขึ้น อันนัมยังคงตั้งตระหง่าน และคนไทยโชคดีเหลือเกินที่เราตั้งถิ่นฐานอยู่เบื้องหลังอันนัม"

 

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม