ประวัติ "ฉลอง ภักดีวิจิตร" ศิลปินแห่งชาติ ตำนานเจ้าพ่อหนังบู๊ ระเบิดภูเขาเผากระท่อม

13 ก.ย. 67

หลังมีข่าวเศร้าช็อกวงการบันเทิงครั้งใหญ่ กับการสูญเสีย ฉลอง ภักดีวิจิตร ผู้กำกับละครที่ได้รับการขนานนามว่าเป็นเจ้าพ่อละครบู๊ ที่เสียชีวิตอย่างสงบในวัย 93 ปี

อมรินทร์ทีวีพาไปย้อนชีวประวัติ ผู้กำกับละครบู๊ระดับตำนาน

ฉลอง ภักดีวิจิตร หรือชื่อจริงว่า บุญฉลอง ภักดีวิจิตร เกิด 18 มีนาคม พ.ศ. 2474 เป็นผู้กำกับภาพยนตร์และผู้กำกับละครโทรทัศน์ชาวไทย ที่ได้รับการขนานนามให้เป็นเจ้าพ่อหนังแอ็คชั่น เป็นบุตรคนที่ 4 จากทั้งหมด 5 คนของรองอำมาตย์โทพุฒ ภักดีวิจิตร ซึ่งรับราชการในกองแบบแผน กรมรถไฟหลวง กับมารดาชื่อลิ้นจี่ เข้าศึกษาระดับชั้นมัธยมศึกษาที่ โรงเรียนวัดสุทธิวราราม พี่น้องทุกคนล้วนอยู่ในวงการสร้างภาพยนตร์ทุกคน ได้แก่ วิจารณ์ ภักดีวิจิตร, เขียวหวาน ภักดีวิจิตร และวินิจ ภักดีวิจิตร นอกจากนี้ยังมีน้องชายของพุฒ ซึ่งมีศักดิ์เป็นอาของเขา คือ สด ภักดีวิจิตร (สดศรี บูรพารมย์) ก็เป็นผู้กำกับภาพยนตร์ ส่วนพี่ชายอีกคน บุญศรี ภักดีวิจิตร ทำงานการรถไฟแห่งประเทศไทย อดีต วิศวกรกำกับการแผนกปรับประแจและเครื่องมือ กองโรงงานบำรุงทาง ฝ่ายการช่างโยธา

ฉลองเริ่มเห็นการทำงานด้านภาพยนตร์ของครอบครัวตั้งแต่อายุ 5 ขวบ ศึกษาที่โรงเรียนวัดสุทธิวรารามจนถึง ม.6 จากนั้น สำเร็จการศึกษาระดับเตรียมอุดมศึกษาปีที่ 2 จากโรงเรียนอำนวยศิลป์ ก่อนจะเข้าสู่วงการภาพยนตร์ด้วยการเป็นตากล้องมาก่อน โดยทำหน้าที่เป็นตากล้องถ่ายทำภาพยนตร์ตั้งแต่ยุค 16 ม.ม. จนถึง 35 ม.ม. ให้กับผู้สร้างภาพยนตร์หลายราย เช่น วัชรภาพยนตร์ ภาพยนตร์สหะนาวีไทย ธาดาภาพยนตร์ นพรัตน์ภาพยนตร นันทนาครภาพยนตร์ บูรพาศิลปะภาพยนตร์ รามาภาพยนตร์ ลดาพรรณภาพยนตร์ พิษณุภาพยนตร์ เป็นต้น โดยมีภาพยนตร์เรื่องแรกคือเรื่อง แสนแสบ ในปี พ.ศ. 2493

เคยได้รับรางวัลตุ๊กตาทอง 2 ตัว สาขารางวัลผู้ถ่ายภาพยอดเยี่ยม ประจำปี 2507 จากเรื่อง ผู้พิชิตมัจจุราช ของ วัชรภาพยนตร์ นำแสดงโดย อดุลย์ ดุลยรัตน์ - อาคม มกรานนท์ – วิไลวรรณ วัฒนพานิช และในปี 2510 จากเรื่อง ละอองดาว ของภาพยนตร์สหะนาวีไทย นำแสดงโดย สมบัติ เมทะนี – พิศมัย วิไลศักดิ์ - อดุลย์ ดุลยรัตน์

s__133267577

ผลงานละครเป็นที่ประจักษ์

ฉลอง ภักดีวิจิตร ได้ชื่อว่าเป็นผู้บุกเบิกละครแนวแอ็คชั่นของทางช่อง 7 สี ในนามบริษัท บางกอก ออดิโอ วิชั่น จำกัด คือ "ระย้า" และ “อังกอร์ 1” ซึ่งนำแสดงโดย พีท ทองเจือ กับ เอ็มม่า-วรรัตน์ สุวรรณรัตน์ จนกลายเป็นผลงานเด่นให้นึกถึงตลอดกาล และยังมีผลงานเด่นอีกหลายเรื่องตามมา อาทิ ดาวคนละดวง, รักซึมลึก, อังกอร์, ทอง 5, ล่าสุดขอบฟ้า, ฝนใต้, มาทาดอร์, อังกอร์ 2, เหล็กไหล, ฝนเหนือ, ชุมแพ, ทอง 9, ผ่าโลกบันเทิง, เสาร์ 5, นักฆ่าขนตางอน, อุบัติรักเกาะสวรรค์, เสาร์ 5 ตอน ทับทิมสยาม, พ่อตาปืนโต, ดุจตะวันดั่งภูผา, เลือดเจ้าพระยา, แข่งรักนักซิ่ง, หวานใจนายจิตระเบิด, ทอง 10, ทิวลิปทอง, พ่อตาปืนโต ตอน หลานข้าใครอย่าแตะ เป็นต้น


ในปี พ.ศ.2551 ฉลองได้รับรางวัลเกียรติยศ ปูชนียบุคคลแห่งวงการบันเทิง จากสตาร์เอนเตอร์เทนเมนต์อวอร์ดส 2007, ปี 2554 ได้รับรางวัลเกียรติยศแห่งความสำเร็จ จากงานประกาศผลรางวัลสตั๊นท์แมนยอดเยี่ยมครั้งที่ 1 และปี พ.ศ. 2555 ได้รับรางวัลรางวัลมณีเมขลาเกียรติยศ บุคคลดีเด่นผู้ทรงคุณค่าในวงการโทรทัศน์ จากงานรางวัลเมขลา ครั้งที่ 24 ประจำปี พ.ศ. 2554

ในปี พ.ศ. 2556 ฉลองได้รับยกย่องให้เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ผู้สร้าง-ผู้กำกับภาพยนตร์และละครโทรทัศน์) ประจำปี พ.ศ. 2556

พ.ศ. 2559 ฉลองได้ตั้งบริษัทใหม่คู่กับภรรยาเป็นบริษัท อีนทรีย์ ออดิโอ วิชั่น จำกัด

พ.ศ. 2561 ฉลองได้เริ่มต้นชีวิตใหม่คู่กับภรรยามาอยู่บ้านหลังใหม่มาเปลี่ยนบริษัทใหม่เป็นบริษัท โกลด์ ซี พี จี เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด

ในปี พ.ศ. 2556 ฉลอง ภักดีวิจิตร ได้รับการยกย่องให้เป็น ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ผู้กำกับภาพยนตร์) และเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2566 ฉลอง ภักดีวิจิตรได้ถูกบันทึกลงใน บันทึกสถิติโลกกินเนสส์ ว่าเป็นผู้กำกับการแสดงที่มีอายุมากที่สุดในโลก (Oldest TV Director) อายุวันที่จดสถิติ 1 กันยายน 2565 คือ 90 ปี 297 วัน

s__133267574

 

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม