ชู มินิฮาร์ท เป็นเรื่อง ร้อง กกต. สอบ “นายกฯอิ๊งค์-ภูมิธรรม-สุริยะ” ฝ่าฝืนจริยธรรมหรือไม่

16 ก.ย. 67

 

ชู มินิฮาร์ท เป็นเรื่อง เรืองไกร ร้อง ป.ป.ช.ไม่พอ!! เดินหน้ายื่น กกต. สอบ “นายกฯอิ๊งค์-ภูมิธรรม-สุริยะ” อีกทาง ฝ่าฝืนจริยธรรมหรือไม่ 

วันที่ 16 ก.ย. 67 นาย เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ เปิดเผยว่า หลังจากตนยื่นเรื่องให้ ป.ป.ช. สอบ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ชูมือทำมินิฮาร์ทขณะใส่เครื่องแบบปกติขาวถ่ายรูปหมู่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่ทำเนียบรัฐบาลไปแล้วนั้น 

กรณีดังกล่าว นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน ยืนยันในรายการหนึ่ง เมื่อวันที่ 10 ก.ย. 67 ว่า การทำมินิฮาร์ทขณะใส่เครื่องแบบราชการ ทำไม่ได้ ดังนั้น เรื่องฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรม ป.ป.ช. สามารถชี้มูล เพื่อส่งให้ศาลฎีกาพิพากษาได้ และ กกต. ก็สามารถส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้อีกทางหนึ่งด้วย 

นายเรืองไกร กล่าวว่า ดังนั้นในวันนี้ตนจึงส่งหนังสือทางไปรษณีย์ EMS เพื่อขอให้ กกต. ตรวจสอบอีกทางหนึ่งว่า นายกรัฐมนตรี รวมถึงนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คมนาคมว่า กรณีชูนิ้วมือทำมินิฮาร์ท ขณะใส่เครื่องแบบราชการชุดปกติขาวถ่ายรูปหมู่คณะรัฐมนตรีที่ทำเนียบรัฐบาล เข้าข่ายฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรม ข้อ 17 ประกอบข้อ 27 วรรคสอง หรือไม่ และเข้าข่ายเป็นเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามความในรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 (5) ประกอบมาตรา 160 (4) (5) หรือไม่ โดยมีข้อความในหนังสือดังนี้ 

ข้อ 1. เมื่อวันที่ 7 ก.ย. 67 เว็บไซต์ประชาชาติ หัวข้อ แพทองธาร นำ ครม. ถ่ายรูปหมู่ ชวนรัฐมนตรีทำท่า “มินิฮาร์ท” อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : https://www.prachachat.net/politics/news-1647380 ซึ่งข่าวดังกล่าวมีรูปภาพคณะรัฐมนตรี ประกอบด้วย เช่น นายกรัฐมนตรี นายภูมิธรรม และนายสุริยะ ซึ่งทำมือชูท่ามินิฮาร์ท พร้อมทั้งยิ้มแบบขาดความสำรวม เป็นต้น 

ข้อ 2. การที่นายกรัฐมนตรี นายภูมิธรรม นายสุริยะ ร่วมกันทำท่ามินิฮาร์ทถ่ายรูปในขณะใส่ชุดปกติขาวดังกล่าว จึงมีเหตุอันควรตรวจสอบว่า การกระทำดังกล่าวของทั้งสามคน เข้าข่ายฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรมฯ ข้อ 17 ข้อ 21 หรือไม่

ข้อ 3. มาตรฐานทางจริยธรรมฯ ข้อ 17 ข้อ 21 กำหนดไว้ดังนี้

             “ข้อ 17 ไม่กระทำการใดที่ก่อให้เกิดความเสื่อมเสียต่อเกียรติศักดิ์ของการดำรงตำแหน่ง”

             “ข้อ 21 ปฏิบัติหน้าที่ราชการอย่างเต็มกําลังความสามารถ และยึดมั่นในความถูกต้องชอบธรรม โปร่งใสและตรวจสอบได้ และปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบแบบแผนของทางราชการ โดยคำนึงถึง ผลประโยชน์ของชาติ และความผาสุกของประชาชนโดยรวม” 

ข้อ 4. เฉพาะกรณีของนายกรัฐมนตรี ดังกล่าว ได้ถูกข้าฯ ร้องเรียนไปที่ ป.ป.ช. แล้วสองครั้ง ตามหนังสือลงวันที่ 10 ก.ย. 67 และวันที่ 11 ก.ย. 67 ซึ่ง กกต. สามารถสอบถามความคืบหน้าได้จาก ป.ป.ช. โดยตรงได้ 

ข้อ 5. ต่อมาเมื่อวันที่ 10 ก.ย. 67 กรณีดังกล่าว ช่อง 8 รายการคนดังนั่งเคลียร์ พิธีกรในรายการได้มีการสอบถามนายพีระพันธุ์ ว่าการทำมินิฮาร์ทดังกล่าวมันน่าเกลียดตรงไหน นายพีระพันธุ์ ตอบคำถามโดยสรุปได้ว่า “มันไม่ใช่เรื่องน่าเกลียดไม่น่าเกลียดครับ มันเป็นเครื่องแบบราชการ ผมแค่บอกว่าทำไม่ได้” (จึงขอให้เรียกคลิป https://www.youtube.com/watch?v=1Nt32qq7Do4 จากช่อง 8 มาประกอบการตรวจสอบ) ดังนั้น กรณี จึงมีเหตุอันควรขอให้ กกต. ตรวจสอบอีกทางหนึ่งด้วย 

ข้อ 6. กรณีการฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรม ในคำพิพากษาศาลฎีกา คดีหมายเลขแดงที่ คมจ. 1/2567 วันที่ 10 มกราคม 2567 หน้า 42 ได้ระบุไว้ส่วนหนึ่งดังนี้

 “... นอกจากนี้การกระทำของผู้คัดค้านทั้งสามดังกล่าวยังเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมฐานกระทำการที่ก่อให้เกิดความเสื่อมเสียต่อเกียรติศักดิ์ของการดำรงตำแหน่ง และฐานไม่ปฏิบัติหน้าที่ราชการอย่างเต็มกำลังความสามารถ และยึดมั่นในความถูกต้องชอบธรรม โปร่งใสและตรวจสอบได้ และไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบแบบแผนของทางราชการ โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของชาติ และความผาสุกของประชาชนโดยรวม ตามมาตรฐานของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ รวมทั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน และหัวหน้าหน่วยงานธุรการของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ พ.ศ. 2561 ข้อ 17 และข้อ 21 อีกด้วย ...” 

ข้อ 7. กรณีเกี่ยวกับมาตรฐานทางจริยธรรม ตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 21/2567 วันที่ 14 ส.ค.67 หน้า 27 ได้ระบุไว้ส่วนหนึ่งดังนี้ 

“เห็นว่า การวินิจฉัยว่ารัฐมนตรีผู้ใดมีพฤติการณ์อันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 (5) เป็นหน้าที่และอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญเพื่อการวินิจฉัยว่าความเป็นรัฐมนตรีของรัฐมนตรีผู้นั้นจะต้องสิ้นสุดลงหรือไม่ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 เป็นคดีรัฐธรรมนูญโดยแท้ 

ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญต้องดำเนินกระบวนพิจารณาไปตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 ส่วนหน้าที่ และอำนาจของศาลฎีกาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 234 วรรคหนึ่ง (1) ประกอบมาตรา 235 วรรคหนึ่ง (1) กำหนดให้มีอำนาจวินิจฉัยคดีฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรงด้วย ศาลฎีกาดำเนินการพิจารณาตามระเบียบของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 226 วรรคเจ็ด หากศาลฎีกามีคำพิพากษาว่าผู้ถูกกล่าวหามีพฤติการณ์หรือกระทำความผิดตามที่ถูกกล่าวหา ให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นตลอดไป และไม่มีสิทธิดำรงตำแหน่งทางการเมืองใด ๆ เห็นได้ว่า หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า การกระทำของผู้ถูกร้องที่ 1 เป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง สภาพบังคับเป็นไปตามมาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 หากศาลฎีกาพิพากษาตามมาตรา 235 วรรคหนึ่ง (1) สภาพบังคับเป็นไปตามมาตรา 235 วรรคสามและวรรคสี่ แม้การพิจารณาจากข้อเท็จจริงในมูลเหตุเดียวกัน แต่เป็นคดีคนละประเภท เพราะเหตุจากวิธีพิจารณาคดี วัตถุประสงค์ของการดำเนินคดี และสภาพบังคับแตกต่างกัน”  

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม

ข่าวการเมือง เป็นกระแส