สืบประวัติบรรพบุรุษ "หมูเด้ง" ฮิปโปแคระ เป็นญาติกับ วาฬ ตั้งแต่ 55 ล้านปีก่อน

17 ก.ย. 67

"หมูเด้ง" ฮิปโปแคระ ซุปตาร์สวนสัตว์เขาเขียว สืบประวัติ ตรวจดีเอ็นเอ พบเป็นญาติที่ใกล้ชิดที่สุดกับ "วาฬ" ตั้งแต่ 55 ล้านปีก่อน

ฮิปโปและวาฬอาจมีรูปลักษณ์ที่แตกต่างกันในหลายด้าน แต่จริงๆ แล้วพวกมันเป็นญาติที่ใกล้ชิดกันที่สุด โดยมีบรรพบุรุษร่วมกันซึ่งมีชีวิตอยู่เมื่อประมาณ 55 ล้านปีก่อน

การศึกษาที่ตีพิมพ์ในรายงานการประชุมของ สถาบันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ (Proceedings of the National Academy of Sciences) แสดงให้เห็นว่าวาฬและฮิปโปเป็นญาติที่ใกล้ชิดที่สุดของกันและกัน การวิเคราะห์ทางพันธุกรรมดำเนินการโดย มาซาโตะ นิกาอิโดะ และ โนริฮิโระ โอกะดะ จากสถาบันเทคโนโลยีแห่งโตเกียว และโดย อเลฮานโดร พี รูนีย์ จากสถาบันพันธุศาสตร์วิวัฒนาการระดับโมเลกุลที่ Penn State Eberly College of Science

ฮิปโป อูฐ หมู ยีราฟ แกะ และวัว มี DNA หลายส่วนร่วมกับวาฬ และโลมา จัดอยู่กลุ่มสัตว์กีบคู่ (อันดับ Artiodactyla) ซึ่งบ่งชี้ว่าพวกมันอาจจะมีที่มาจากบรรพบุรุษเดียวกัน อย่างไรก็ตาม การศึกษาวิจัย DNA เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างวาฬกับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่มีกีบเท้าคู่ เผยให้เห็นว่าวาฬมีลำดับ DNA ร่วมกันที่พบในสัตว์อื่นเพียงตัวเดียวเท่านั้น ในบรรดาสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่ไม่ใช่วาฬที่ยังมีชีวิตอยู่ทุกวันนี้ ญาติใกล้ชิดที่สุดของวาฬก็ไม่ใช่ใครอื่นนอกจาก ฮิปโปโปเตมัส

whale_evo
ภาพจาก Berkeley University of California

พวกมันยังมีลักษณะที่แปลกสำหรับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมส่วนใหญ่ คือ มีการใช้เสียงใต้น้ำเพื่อการสื่อสาร และมีผิวหนังเรียบเกือบไม่มีขนเหมือนกัน ซึ่งเกิดจากการขาดต่อมที่เรียกว่า "ซีบัม" ซึ่งเป็นส่วนประกอบของไขมันที่ต่อมไขมันสังเคราะห์ขึ้นมา โดยมีองค์ประกอบหลักเป็นไขมันที่มีสภาพเป็นกลาง (ไตรกลีเซอไรด์) ทำหน้าที่หล่อลื่นผิวหนังและเส้นผมของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมบนบกส่วนใหญ่

ทั้งนี้ มีการศึกษาเปรียบเทียบผิวหนังของฮิปโป และโลมาหรือวาฬทั้งทางด้านกายภาพและยีน ผลการทดสอบที่ลงรายงานในวารสาร Current Biology เมื่อเดือนเมษายน 2021 สนับสนุนสมมติฐานที่บอกว่าผิวหนังที่ปรับให้อาศัยในน้ำของฮิปโปและโลมาหรือวาฬเกิดขึ้นอย่างอิสระต่อกัน นอกจากนี้ยีนของฮิปโปที่แตกต่างจากโลมาหรือวาฬเป็นอย่างมาก ส่งผลให้ผิวหนังฮิปโปที่แม้จะบางกว่า แต่ใต้ชั้นหนังแท้ของฮิปโปมีต่อมพิเศษสำหรับผลิตสารคัดหลั่งสีแดงที่เรียกว่า ‘blood sweat’ ออกมาชโลมผิว สสารนี้ไม่ใช่ทั้งเลือด (blood) หรือเหงื่อ (sweat) แต่ประกอบด้วยสารสำคัญสองชนิด คือ hipposudoric acid (สีแดง) และ norhipposudoric acid (สีส้ม) มีสรรพคุณช่วยปกป้องแสงแดด ป้องกันรังสี UV ให้ความชุ่มชื้นเย็นสบายแก่ผิวหนัง ป้องกันยุงเกาะ ต้านแบคทีเรีย และเมื่อทิ้งไว้หลายชั่วโมงสารสองชนิดนี้จะเกิดปฏิกิริยาโพลิเมอไรเซชันได้เป็นสีน้ำตาล ซึ่งแตกต่างจากวาฬซึ่งผิวหนังขาดต่อมเหงื่อโดยสิ้นเชิง และไม่มีคุณสมบัติในการกันแดด

458315773_536340152239413_818
"แม่มะลิ" ฮิปโปโปเตมัส ที่สวนสัตว์เปิดเขาเขียว

แม้ว่าสัตว์จำพวกวาฬจะมีขนไม่กี่เส้น แต่ฮิปโปจะมีขนตามร่างกายกระจัดกระจาย โดยส่วนใหญ่จะอยู่ที่หูและปลายหาง อย่างหลังใช้เมื่อฮิปโปถ่ายอุจจาระ โดยพวกมันจะหมุนหางอย่างรวดเร็วเพื่อให้ขนที่มีลักษณะคล้ายพู่กันช่วยบดอุจจาระและกระจายเพื่อเป็นการทำเครื่องหมายอาณาเขต

• ฮิปโปแคระ แตกต่างกับ ฮิปโปโปเตมัส อย่างไร

ฮิปโป ในปัจจุบันเหลือเพียง 2 ชนิดเท่านั้น ได้แก่ ฮิปโปโปเตมัสธรรมดา (Hippopotamus amphibius) เป็นสัตว์ที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับสามของโลกรองจากช้างแอฟริกัน และแรดขาว และ ฮิปโปแคระ อย่าง "หมูเด้ง" มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Choeropsis liberiensis ซึ่งคำว่า Choeropsis มีความหมายว่า "เหมือนหมู" (ช่างคล้องจองกับเจ้าหมูเด้งเข้าไปอีก) โดยทั้งคู่จัดอยู่ในวงศ์ฮิปโปโปเตมัส (Hippopotamidae)

ฮิปโปแคระ มีขนาดเล็กกว่าฮิปโปโปเตมัส โดยขนาดร่างกายเล็กกว่าครึ่งหนึ่งและมีน้ำหนักน้อยกว่า 1 ใน 4 ส่วน สิ่งที่คล้ายกันคือปากที่อ้าได้กว้าง ลำตัวสั้นและเป็นรูปทรงกระกบอก ขาใหญ่สั้น ลักษณะที่ต่างกันเช่น ดวงตาของฮิปโปโปเตมัสแคระจะค่อนมาทางด้านหน้ามากกว่าที่จะอยู่ด้านข้างแบบฮิปโปโปเตมัส สีของผิวหนังด้านบนลำตัวสีดำเหลือบเขียว ด้านข้างลำตัวสีเทา และส่วนท้องสีเทาออกขาว นิ้วเท้าของฮิปโปโปเตมัสแคระจะกางออกจากกันและเล็บมีความคม ส่วนฮิปโปโปเตมัสจะมีแผ่นหนังเชื่อมระหว่างนิ้ว

459059807_539560941917334_244
หมูเด้ง ลูกแม่โจน่า และพ่อโทนี่ : ภาพจาก สวนสัตว์เปิดเขาเขียว

ฮิปโปแคระ ส่วนมากพบในทวีปแอฟริกาตะวันตก แหล่งกระจายพันธุ์หลักในประเทศไลบีเรีย ที่อุทยานแห่งชาติซาโป และยังพบในประเทศเซียลาเรียโอนและกีนี รับประทานพืชและผลไม้เป็นอาหาร ชอบอยู่ตามลำน้ำและหนองบึงในป่าดงดิบ ไม่ชอบอยู่เป็นฝูง มักอยู่เดี่ยวหรืออยู่คู่ จะขึ้นจากน้ำตอนกลางคืน เดินหากินไปตามที่เคยเดินจนดูคล้ายเดินไปในช่องอุโมงค์ เวลาตกใจมันมักเข้าไปซ่อนในป่ารก แทนที่จะหนีลงในน้ำ

ฮิปโปแคระจะเข้าสู่วัยสมบูรณ์พันธุ์ในช่วงอายุ 3 - 5 ปี ผสมพันธุ์ทั้งบนบกและในน้ำ ตั้งท้องนาน 190 - 210 วัน ลูกที่ออกมาใหม่หนัก 4.5 - 6.2 กิโลกรัม หย่านมใน 6 - 8 เดือน ความยาวจากปลายจมูกถึงโคนหาง 1.5 - 1.75 เมตร ความสูงช่วงไหล่ 75 - 100 เซนติเมตร น้ำหนัก 106 - 270 กิโลกรัม โดยอายุขัยเฉลี่ยหากอยู่ในสวนสัตว์จะมีอายุราว 30-50 ปี ซึ่งคาดว่าจะมากกว่าฮิปโปแคระที่อาศัยอยู่ในป่า

458767330_538223402051088_280
หมูเด้ง กับแม่โจน่า : ภาพจาก สวนสัตว์เปิดเขาเขียว

นอกจากนี้ ฮิปโปแคระมีสีผิวที่เข้มกว่าฮิปโปโปเตมัส คือ มีสีเขียวเข้มหรือน้ำตาลเข้ม ส่วนหัวกลมกว่าฮิปโปโปเตมัส ส่วนหลังโค้งขึ้นและลาดต่ำลงมาทางก้น ผิวหนังเรียบลื่น ตามลำตัวแทบไม่มีขน ยกเว้นขนเพียงไม่กี่เส้น ที่บริเวณริมฝีปากและหาง เบ้าตาอยู่ด้านข้างของหัว และมีเหงื่อใส ไม่เข้มเป็นสีแดงเหมือนเลือดแบบฮิปโปโปเตมัส

ที่มา The evolution of whales ,  American Museum of Natural History , ROM , Penn State Eberly College of Science , Science X , ThaiWhales , Zoo101 , นี่แหละชีวะสวนสัตว์ดุสิต

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม