“ภูมิธรรม” ยันเกาะกูดเป็นของไทย แจงยิบ เอ็มโอยู 44 คืออะไร หากเข้าใจคำถามที่เป็นปัญหา ชี้ หากขอยกเลิกเท่ากับไม่รักษาเขตแดน
ที่ทำเนียบรัฐบาลนาย ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะดูแลหน่วยงานด้านความมั่นคง กล่าวถึงความคืบหน้าการตั้งคณะกรรมการร่วมด้านเทคนิคไทยกัมพูชา (jtc) เพื่อหารือกรอบเจรจาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลหรือเอ็มโอยู 44 ของสองประเทศ ว่าจะเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เมื่อไหร่ว่าเป็นเรื่องของกระทรวงการต่างประเทศที่ต้องพิจารณา แต่ทางคณะกรรมการเดิม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ และอดีตรองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน โดยองค์ประกอบของคณะกรรมการจะมีกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงการคลัง กระทรวงพลังงาน ตัวแทน กรมสนธิสัญญา กฤษฎีกา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดังนั้น คณะกรรมการชุดใหม่ก็ต้องให้กระทรวงการต่างประเทศเป็นผู้พิจารณา แต่ขณะนี้ตนยังไม่เห็นรายละเอียด
เมื่อถามว่า ส่วนกรณีที่นายกรัฐมนตรี ระบุว่าหากยกเลิกเอ็มโอยู 44 ไทยอาจจะเสียประโยชน์มากกว่า นายภูมิธรรม กล่าวว่า เรื่องเอ็มโอยู 44 ต้องกลับไปดูสนธิสัญญาไทย-ฝรั่งเศส ตอนนั้นฝรั่งเศสได้ขอพระตะบอง เสียมราฐ ศรีโสภณ และยกฝั่งจ.ตราด และเกาะต่างๆให้ไทย ดังนั้น เกาะกูดหากยึดตามสนธิสัญญาดังกล่าว การแบ่งเส้นเขตแดน จึงเห็นว่าเกาะกูดเป็นของไทยมาตั้งแต่ต้นไม่เคยมีการเปลี่ยนแปลงและทางกัมพูชาก็ไม่ได้เคลมเรื่องนี้ รวมถึงยอมรับในสนธิสัญญาดังกล่าว ดังนั้น การนำมาเป็นประเด็นว่าจะยกเกาะกูดให้จึงไม่เป็นจริง และไม่เกี่ยวกับเอ็มโอยูดังกล่าว พร้อมยืนยันว่าเกาะกูดเป็นของไทย 100% และนายกฯได้ประกาศแล้วว่าเราจะไม่ยอมเสียดินแดนตรงนี้ไป และรักษาไว้เท่าชีวิต ซึ่งขณะนี้เรามีหน่วยงานราชการต่างๆอยู่ในพื้นที่ดังกล่าว และขอให้ยุติเรื่องนี้เพราะเป็นคำพูดที่ไม่ตรงกับข้อเท็จจริง
นายภูมิธรรม ชี้แจงเพิ่มเติมว่า เอ็มโอยู 44 มันเกิดขึ้นจากการประกาศไหล่ทวีป ซึ่งปี 2515 กัมพูชาประกาศมาใกล้เขตแดนไทยและปี 2516 เราก็ประกาศไปใกล้เขตแดนเขา ดังนั้นจึงมีพื้นที่ทับซ้อนอยู่ และพื้นที่ทับซ้อนดังกล่าวก็เป็นเรื่องของเอ็มโอยูที่บอกว่าในโลกทั้งหมดไม่ว่าใครที่มีพื้นที่ทับซ้อนจะต้องเจรจา ดังนั้นเอ็มโอยู 44 จึงเป็นข้อตกลงที่ให้ไปเจรจากัน ว่าการแบ่งดินแดนในทะเลจะเป็นของใคร หากเข้าใจตรงนี้ก็จะไม่สับสนแล้วมาตั้งคำถามที่เป็นปัญหา ดังนั้นไทยกับกัมพูชาจึงต้องเจรจากัน เพราะหากไทยยกเลิกตรงนี้ก็เท่ากับว่าไทยไม่รักษาสิทธิในเขตแดน
นายภูมิธรรม กล่าวอีกว่าสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี ตอนนั้นกระทรวงการต่างประเทศเสนอให้ยกเลิกเอ็มโอยู 44 เพราะมีแรงกดดันทั้งประเด็นปราสาทพระวิหาร และเรื่องชายแดนต่างๆ ซึ่งรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ได้แค่รับหลักการไปดูรายละเอียด และกระทรวงการต่างประเทศก็ได้ขอความเห็นจากสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งทุกหน่วยงานยืนยันว่าเอ็มโอยู 44 เป็นกลไกที่ดีที่สุดในการเจรจา และที่บอกว่าสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ยกเลิกนั้นไม่จริง และในปี 2557 สมัยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกฯ ก็ดำเนินการต่อ โดยมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ในฐานะอดีตรองนายกรัฐมนตรีกำกับด้านความมั่นคง ไปเจรจาเรื่องเอ็มโอยู 44 ดังนั้น มองว่าไม่ว่าส่วนใดหรือพรรคการเมืองใดพูดเรื่องนี้ควรกลับไปดูประวัติศาสตร์ และข้อตกลงระหว่างสยามฝรั่งเศส จึงอย่าถามอะไรที่ไม่ใช่ข้อเท็จจริง และหากถามนอกเหนือจากกรอบดังกล่าว ก็คงต้องหาคำตอบกันเอง และสำหรับประเด็นนี้ตนจะไม่ตอบอีกแล้ว
เมื่อถามว่า มองอย่างไรที่กลุ่มการเมืองพรรคพลังประชารัฐออกมาโจมตีเรื่องนี้ทั้งที่ปี 2557 พล.อ.ประวิตร เป็นประธานเจรจาเรื่องดังกล่าว นายภูมิธรรม กล่าวว่า กลุ่มการเมืองพรรคพลังประชารัฐก็ต้องกลับไปดูว่าหัวหน้าพรรคไปเจรจาเอ็มโอยู 44 ทั้งหมดเหมือนกัน
“ถ้าถามแบบนี้พลังประชารัฐก็ต้องกลับไปถามหัวหน้าพรรคตัวเอง ว่าตอนนั้นทำไมถึงไปเจรจา” นายภูมิธรรม กล่าว
เมื่อถามว่า เป็นเพราะสายสัมพันธ์ของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯกับผู้นำกัมพูชาหรือไม่ ที่ทำให้ประเด็นดังกล่าวถูกหยิบยกมาโจมตีในรัฐบาล นายภูมิธรรม กล่าวว่า ไม่เกี่ยวเลย เพราะประเด็นดังกล่าวเป็นเรื่องของรัฐบาล ส่วนการพูดโจมตีประเด็นไหนก็ต้องไปถามเหตุผลเขา แต่ตนคิดว่าควรยืนยันข้อเท็จจริง และหากถามมาก็ทำให้ภายในแตกแยก และวันนี้ต้องไปดูว่าต่อรองผลประโยชน์ทางทะเลได้อย่างไร แต่เรื่องนี้ถูกขุดขึ้นมาโดยที่ยังไม่ได้มีการดำเนินการอะไรเลย
เมื่อถามว่า หลักการเจรจาแบ่งขุมทรัพย์ใต้ทะเลรัฐบาลนี้จะแบ่งเท่ากันหรือไม่ นายภูมิธรรม กล่าวว่าอย่าเพิ่งไปคุยตรงนั้นเลย เพราะมันยังไม่เกิดถึงเวลาเราใช้กฎหมายทางทะเล และกฎหมายระหว่างประเทศเป็นตัวดำเนินการ.