22 พ.ค. ที่ประชุม ศบค. มีมติเห็นชอบขยายการประกาศ พ.ร.ก. ฉุกเฉินออกไปอีก 1เดือน ถึง 30 มิ.ย. 63 นี้
จากกรณีที่ประชุมสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เมื่อวันที่ 21 พ.ค. 63 มีมติ ขยายการประกาศใช้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ออกไปอีก 1 เดือน ถึงวันที่ 30 มิ.ย. 63 ไปอีก 1 เดือน เนื่องจากจะมีการผ่อนคลายระยะ 3 โดยจะผ่อนคลายในหลายกิจกรรม/กิจการที่จะพิจารณา ทำให้เจ้าหน้าที่มีความจำเป็นต้องคง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพื่อเอาไว้คุมมาตรการต่าง ๆ โดยเสนอเข้าที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็น ผอ. วันนี้ (22 พ.ค. 63)
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้องกับการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน
- ด่วน! ศบค.ไฟเขียว ขยายพ.ร.ก. ฉุกเฉิน ออกไปอีก 1 เดือน ถึง 30 มิ.ย.
- ด่วน! สมช.มีมติขยาย พ.ร.ก ฉุกเฉิน ออกไปอีก 1 เดือน รอ ศบค.เคาะพรุ่งนี้
- 21 พ.ค. สมช.นัดถก "ผ่อนคลายระยะ 3" พร้อมหาข้อสรุป ต่อ-ไม่ต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน
- นายกฯ ขอความเห็นประชาชน "พ.ร.ก.ฉุกเฉิน" อยากให้ คงไว้ หรือ ยกเลิก
- คอแห้งต่อ! มท.ยึดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน งดขายเหล้า-เบียร์ 1-31 พ.ค.63
ล่าสุด ที่ประชุม ศบค. มีมติเห็นชอบให้ขยายการประกาศ พ.ร.ก. ฉุกเฉินออกไปอีก 1 เดือนถึง 30 มิ.ย. 63 โดย นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. ได้แถลงรายละเอียดว่า ในที่ประชุม พล.อ.สมศักดิ์ รุ่งสิตา เลขาธิการ สมช.ให้เหตุผลที่จำเป็นต้องขยายเวลาบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ว่ามี 3 ข้อที่เชื่อมโยงกับความมั่นคงทางด้านสาธารณสุข ได้แก่
1. ยังคงมีความจำเป็นและต้องมีการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพื่อให้การป้องกันการแพร่ระบาดในราชอาณาจักร ดำเนินการต่อไปให้ได้อย่างมีเอกภาพ รวดเร็ว ต่อเนื่อง มีประสิทธิภาพ และมีมาตรฐานกลางในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่
2. การเตรียมการรองรับในระยะต่อไป เนื่องจากประเทศไทยอยู่ระหว่างการกำหนดมาตรการผ่อนคลายในระยะที่ 3 และ 4 ซึ่งเป็นกิจกรรมและกิจการที่มีความเสี่ยงสูง จึงจำเป็นต้องมีมาตรการตามกฎหมาย เพื่อกำกับการบริหารจัดการให้เป็นระบบในเวลาที่เหมาะสม
3. สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคยังคงไม่สิ้นสุด โดยมีข้อมูลว่าหลายประเทศยังคงมีการระบาดและมีจำนวนผู้ติดเชื้อในระดับสูง เมื่อประเทศไทยทำการผ่อนคลายครบทั้ง 4 ระยะแล้ว จำเป็นจะต้องมีระยะเวลาเพื่อเตรียมความพร้อมในการเปิดประเทศ เพื่อรองรับความเสี่ยงที่อาจจะมีการกลับมาแพร่ระบาดของโรค