สมาคมทนายความแห่งประเทศไทย ตั้ง 8 ข้อสังเกตกรณี "บอส อยู่วิทยา" จี้ตำรวจ-อัยการชี้แจงรายละเอียดทั้งหมดของคดี
จากกรณีที่อัยการมีความเห็นสั่งไม่ฟ้อง นายวรยุทธ อยู่วิทยา หรือ บอส อยู่วิทยา ทายาทเครื่องดื่มชูกำลังชื่อดัง ข้อหาขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ในคดีขับรถชน ด.ต.วิเชียร กลั่นประเสริฐ ผบ.หมู่งานปราบปราม สน.ทองหล่อ เสียชีวิตเมื่อปี 2555 แถมยังหลุดในทุกข้อหาของคดีนี้ และเตรียมถอนหมายจับ
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง "บอส อยู่วิทยา"
- ไม่เก็ท? "สิระ" เรียก อสส.-ผบ.ตร. แจงปมสั่งไม่ฟ้อง “บอส อยู่วิทยา”
- สตม.ยืนยัน "บอส อยู่วิทยา" ยังอยู่ต่างประเทศ
- อดีตตร.พฐ.ขอรื้อคดี "บอส อยู่วิทยา"
- เผย 2 พยานปากเอกทำคดีพลิก อัยการสั่งไม่ฟ้อง "บอส อยู่วิทยา"
- ศาล รธน. เผย ตุลาการชี้คดี “บอส” หลุดข้อหาสะเทือนระบบยุติธรรม อิงที่มาข้อเขียนทางวิชาการ
- กลุ่มธุรกิจ TCP แจง "บอส อยู่วิทยา" ไม่เกี่ยวข้องกับบริษัท
- "หมอแท้จริง" จี้อัยการ-ตำรวจแจงไม่ฟ้อง "บอส อยู่วิทยา"
- อดีตสารวัตรทำคดี "บอส อยู่วิทยา" แฉยับหลักฐานชัดดันหลุดคดีบิ๊กแจ๊สจี้ผู้มีอำนาจแจง (คลิป)
- สื่อนอกตีข่าว "บอส อยู่วิทยา" รอดทุกข้อหาคดีชนตร.ตาย
- "บอส อยู่วิทยา" หลุดทุกข้อหา คดีชนตำรวจตาย
ล่าสุด (26 ก.ค.) ทางด้านสมาคมทนายความแห่งประเทศไทย ได้ออกมาเคลื่อนไหวถึงประเด็นดังกล่าว โดยระบุว่า "สืบเนื่องกรณีความเห็นของ อัยการสูงสุด ที่สั่งไม่ฟ้อง นายวรยุทธ หรือ บอส อยู่วิทยา ในข้อหา ขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ ดาบตำรวจวิเชียร กลั่นประเสริฐ ตำรวจ สน.ทองหล่อ เสียชีวิต เหตุเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 3 กันยายน 2555 นั้น ได้สร้างความสงสัยกับประชาชนทั้งประเทศ และมีการตั้งคำถามมากมายในคดีนี้ ข้อเท็จจริงในคดีนี้ มีความเป็นมา ตั้งแต่วันเกิดเหตุ ว่า นายวรยุทธ หรือ "บอส อยู่วิทยา" ได้ขับรถยนต์เฟอร์รารี่ ทะเบียน ญญ 1111 กรุงเทพมหานคร ชนดาบตำรวจวิเชียร กลั่นประเสริฐ ที่บริเวณปากซอยสุขุมวิท 49 แต่ไม่หยุดรถแล้วทำให้รถยนต์ลากร่างดาบวิเชียรไปจากจุดชนถึงประมาณ 200 เมตรจนถึงแก่ความตาย
หลังเกิดเหตุ นายวรยุทธฯ ได้หลบหนี ตำรวจติดตามไปยังบ้านพักและได้รับทราบว่า พ่อบ้านของครอบครัวนายวรยุทธ รับสมอ้างว่า เป็นคนขับรถคันดังกล่าว แต่ตำรวจไม่เชื่อ จนจับได้ว่า อาจมีการเปลี่ยนตัวผู้ขับรถยนต์คันนี้ ต่อมา พนักงานสอบสวนได้ทำการสอบสวนคดีนี้ แต่การสอบสวนเป็นไปอย่างล่าช้า และถูกกระแสสังคมกดดันอย่างต่อเนื่อง จนในที่สุด พนักงานสอบสวน สน. ทองหล่อ ซึ่งได้แจ้งข้อหานายวรยุทธ ฯ ผู้ต้องหารวม 4 ข้อหา คือ
(1) ขับรถเร็วเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด
(2) เกิดอุบัติเหตุแล้วไม่หยุดรถให้ความช่วยเหลือ
(3) ขับรถในขณะมึนเมา
(4) ขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย
โดยความผิดตาม (1)-(2) มีอายุความ 1 ปี ส่วนความผิดตาม (3) มีอายุความ 5 ปี ซึ่งข้อหาทั้ง 3 ข้อหาได้ขาดอายุความไปแล้วตั้งแต่วันที่ 3 กันยายน 2560 คงเหลือ ข้อหา ประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย( ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี และปรับไม่เกิน 20,000 บาท ) อายุความ 15 ปี ซึ่งจะขาดอายุความ ในวันที่ 3 กันยายน 2570
ระหว่างการสอบสวน ก่อนตำรวจส่งสำนวนการสอบสวนให้พนักงานอัยการนั้น นายวรยุทธฯ ได้หลบหนีออกนอกประเทศตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาจนถึงปัจจุบันนี้ นานถึง 8 ปี หลังจากผู้ต้องหาหลบหนีไปแล้ว มีข่าวคราวของผู้ต้องหาไปปรากฏตัวในต่างประเทศหลายประเทศ จนทำให้ประชาชนทั่วไปที่ติดตามข่าวนี้ ได้มีการแสดงความคิดเห็นและไม่พอใจ การทำหน้าที่ของตำรวจ และมีคำถามกับ เจ้าหน้าที่ตำรวจตลอดจนถึงพนักงานอัยการที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องคดีนี้ ให้ทำการติดตามจับกุมเพื่อนำผู้ต้องหามาฟ้องศาล แต่ไม่สามารถติดตามตัวมาดำเนินคดีในประเทศไทยได้ จนข่าวคราวเรื่องนี้ค่อยๆเงียบหายไปจากความสนใจขอประชาชน
แต่ต่อมา วันที่ 23 กรกฎาคม 2563 ปรากฏข่าวจากสื่อจากต่างประเทศ ว่าคดีอาญาเรื่องนี้ ตำรวจได้มีการเพิกถอนหมายจับผู้ต้องหาในคดีนี้ โดย อัยการสูงสุด มีความเห็น สั่งไม่ฟ้องคดีนี้ตั้งแต่ เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2563 ที่ผ่านมาแล้ว โดยข่าวนี้ คนไทยในประเทศไม่เคยทราบและรับรู้มาก่อน สร้างความงุนงงและความสงสัยเคลือบแคลงให้กับคนไทยทั้งประเทศ ในการทำหน้าที่ของตำรวจและอัยการ เกี่ยวกับคดีนี้
สมาคมทนายความแห่งประเทศไทย ขอเรียนว่า แม้อัยการจะมีอำนาจตามกฎหมายในการสั่งไม่ฟ้องในเรื่องนี้ แต่เนื่องจากคดีนี้เป็นคดีที่ประชาชนให้ความสนใจและติดตามความคืบหน้ามาโดยตลอด จึงอยากตั้งข้อสังเกตุที่น่าสนใจเกี่ยวกับพฤติกรรมแห่งคดีและข้อพิรุธต่างๆเกี่ยวกับคดี ดังนี้
1. (ทำไมชนแล้วหนี) ภายหลังเกิดเหตุผู้ต้องหาได้ขับหนีทันทีโดยไม่ได้ลงมาช่วยเหลือหรือดูแลคนตายแต่อย่างใด ซึ่งหากความผิดเกิดจากการกระทำของคนตาย ก็ไม่มีเหตุอะไรที่จะต้องขับหนีในทันที
2. (เมาแล้วขับ) ผู้ต้องหาอยู่ในอาการมึนเมาสุราเพราะมีข้อหาเมาแล้วขับ
3. (พยายามหนีความผิด) มีการพยายามเปลี่ยนตัวผู้ต้องหาโดยให้คนใช้มาอ้างว่าเป็นคนขับ แต่ไม่สำเร็จ
4. (คดีไม่มีข้อยุ่งยาก ไม่ซับซ้อน) สำนวนเดิมที่อัยการสั่งฟ้อง บนพื้นฐานของพยานหลักฐาน ทั้งพยานบุคคลและพยานทางวิทยาศาสตร์อย่างครบถ้วน เพียงพอในการฟ้องคดีต่อศาล
5. (คดีล่าช้า) การดำเนินการสอบสวนล่าช้า ประวิงคดี สังเกตุได้จาก ผู้ต้องหาขอเลื่อนนัดมากกว่า 5 ครั้ง อ้างว่าอยู่ต่างประเทศ แต่ตำรวจก็เพิกเฉยไม่ได้เร่งรัดติดตาม จนทำให้คดีขาดอายุความหลายข้อหา
6. (ที่มาของคำสั่งไม่ฟ้อง) กระบวนการช่วยเหลือและต่อสู้ในเรื่องการขอความเป็นธรรมให้ผู้ต้องหา จนนำไปสู่คำสั่งไม่ฟ้องของอัยการและตำรวจไม่คัดค้าน ทั้งๆที่ผู้ต้องหาได้หลบหนีตั้งแต่เหตุเกิดไม่ได้อยู่ในประเทศไทยถึง 8 ปี
7. ไม่มีการชี้แจงถึงเหตุผล และรายละเอียดในการสั่งไม่ฟ้องคดี โดยกล่าวอ้างลอยๆ ว่าหลักฐานไม่เพียงพอที่จะสามารถหักล้างจากสำนวนเดิมที่อัยการสั่งฟ้องไว้แล้วแต่อย่างใด
8. เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2563 มีคำสั่งไม่ฟ้องคดีแต่อัยการไม่ได้แถลงข่าวในเรื่องนี้ให้สื่อมวลชนได้รับทราบ แต่การรับทราบข่าวเรื่องนี้เกิดจากสื่อมวลชนต่างประเทศนำมาเผยแพร่เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2563
จากข้อสังเกตุที่ตั้งไว้ในเบื้องต้นจะเห็นได้ว่า คำสั่งไม่ฟ้องของพนักงานอัยการจะเป็นที่เคลือบแคลงสงสัยของประชาชนในการใช้อำนาจตามกฎหมาย
ดังนั้นหากอัยการและสำนักงานตำรวจแห่งชาติจะทำให้ประชาชนเชื่อว่า คำสั่งดังกล่าวเป็นคำสั่งที่สุจริตทั้งสองหน่วยงานโดยเฉพาะสำนักงานอัยการสูงสุด จำเป็นต้องเปิดเผยรายละเอียดของคดีทั้งหมดว่ามีพยานหลักฐานครบถ้วนในการสั่งไม่ฟ้อง โดยสามารถหักล้างพยานหลักฐานในสำนวนเดิมที่อัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องตั้งแต่เหตุเกิด และสำนักงานตำรวจแห่งชาติต้องชี้แจงเหตุผลว่าทำไมไม่คัดค้านคำสั่งไม่ฟ้องของอัยการ เพราะหากไม่สามารถชี้แจงเรื่องดังกล่าวบนข้อเท็จจริงได้จะทำให้ประชาชน ขาดความเชื่อมั่นและศรัทธาต่อสำนักงานอัยการสูงสุดรวมถึงสำนักงานตำรวจแห่งชาติ อันเป็นต้นทางของกระบวนการสอบสวนและฟ้องคดี
สมาคมทนายความแห่งประเทศไทย มีความห่วงใยในกรณีดังกล่าว โดยไม่อยากให้สังคมไทยได้เกิดความคิดและความเชื่อมั่นว่า คนรวยเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้อย่างแท้จริงมากกว่าคนจน
นรินท์พงศ์ จินาภักดิ์
นายกสมาคมทนายความแห่งประเทศไทย
25 กรกฎาคม 2563"