ศบศ.เคาะอนุมัติ 5.1 หมื่นล้าน! ให้ผู้ถือบัตรคนจน และโครงการ 'คนละครึ่ง'

16 ก.ย. 63

ศบศ.อนุมัติ 5.1 หมื่นล้าน ให้ผู้ถือบัตรคนจน และโครงการคนละครึ่ง "บิ๊กตู่" ขออย่าไปพูดให้เสียหายว่าไทยไม่น่าลงทุน ยันรัฐบาลเน้นดูแลผู้มีรายได้น้อย และการลงทุนระยะยาวเพื่อให้มีรายได้กลับเข้าประเทศ แต่จะใช้เงินอย่างประหยัดที่สุดจะได้ไม่เป็นภาระต่อไปในอนาคต

เมื่อวันที่ 16 ก.ย. 63 น.ส.กาญจนา ตั้งปกรณ์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายภาษี กระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า คณะกรรมการบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (โควิด-19) หรือ ศบศ. ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้อนุมัติวงเงิน 51,000 ล้านบาทดำเนิน 2 โครงการ คือ 1) โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ คนละ 500 บาท ระยะเวลา 3 เดือน วงเงินรวม 21,000 ล้านบาท

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้องกับโครงการ "คนละครึ่ง"

เปิดเงื่อนไข "www. คนละครึ่ง .com" ใช้วันละ 100-200 บาท
รัฐบาลแจงโครงการ "คนละครึ่ง" ไม่ได้เอื้อนายทุนใหญ่
"คนละครึ่ง" แจกเงิน 3,000 บาท 15 ล้านคน ลงทะเบียนอย่างไร ใช้อะไรได้บ้าง วันนี้มีคำตอบ

และ 2) โครงการคนละครึ่ง เน้นคนฐานราก กลุ่มเป้าหมายคนไทย อายุ 18 ปี ขึ้นไป จำนวน 10 ล้านคน ลงทะเบียนวันที่ 16 ต.ค.63 ผ่าน "www.คนละครึ่ง.com" จ่ายวันละ 100 บาทต่อคน รัฐบาลจ่ายเพิ่มให้ 100 บาท ไม่เกิน 3,000 บาทตลอดโครงการ วงเงินรวม 30,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ โครงการคนละครึ่งเริ่มใช้ได้ 23 ต.ค.-31 ธ.ค. 63 ใช้ในร้านค้าย่อยทั่วไป ในสินค้าประเภท อาหาร เครื่องดื่ม สินค้าทั่วไป ไม่รวมลอตเตอรี่ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ บุหรี่ และบริการ โดยการชำระผ่าน G-wallet กับร้านค้าที่ร่วมบริการ สำหรับร้านค้าที่ร่วมโครงการมีประมาณ 100,000 ร้าน ร้านค้าที่สามารถลงทะเบียน ต้องไม่ใช่นิติบุคคล และไม่ใช่ร้านสะดวกซื้อที่เป็นธุรกิจแฟรนไซส์ อย่างไรก็ตาม 2 โครงการนี้ต้องนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เพื่ออนุมัติในวันที่ 22 ก.ย.นี้

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้องกับ ศบศ.

เตรียมรับเงิน! ศบศ.เคาะแจก 3,000 บาท 15 ล้านคน กระตุ้นการใช้จ่าย
ศบศ.ไฟเขียว สมทบเงินเดือน 50% จ้างบัณฑิตจบใหม่ 2.6 แสนอัตรา
ศบศ. เคาะ 4 มาตรการฟื้น ศก. เดินหน้าแพลตฟอร์ม "ไทยมีงานทำ" กระตุ้นการจ้างงาน

ต่อมาเวลา 14.40 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (โควิด-19) หรือ ศบศ. ครั้งที่ 3/2563 ว่า วันนี้มีการเสนอขออนุมัติหลักการโครงการหลายลักษณะด้วยกันในเรื่องการดูแลเศรษฐกิจฐานราก การดูแลผู้ประกอบการ โครงสร้างพื้นฐาน การลงทุนภาครัฐ และการลงทุนในประเทศให้เกิดความต่อเนื่อง โดยหลายประเทศให้ความสำคัญเรื่องเหล่านี้และได้พยายามติดต่อขอเข้ามาดูกิจการและแผนการลงทุนของเขา

42

วันนี้จึงได้มีการขออนุมัติหลักการเบื้องต้นว่าจะมีกรอบอะไรบ้าง โดยเฉพาะเรื่องการท่องเที่ยว นักธุรกิจ การอนุมัติวีซ่า รวมถึงการลงทุนอีอีซี ก็อยู่ในขั้นตอนของการเจรจาตกลงสัญญา ทุกอย่างไม่ได้หยุดนิ่ง แม้จะมีปัญหาโควิด-19 ก็ตาม ยังมีการติดต่อ ประชุมร่วม และประชุมทางไกลกันอยู่ตลอด

"ขออย่าไปพูดอะไรให้เกิดความเสียหายมากนักในกรณีที่ว่าทุกคนไม่อยากมาลงทุนในไทยแล้ว พูดแบบนี้คิดว่าไม่ค่อยเหมาะสมเท่าไร มันขัดกับข้อเท็จจริง" นายกรัฐมนตรีกล่าว

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า รัฐบาลได้ดูแลผู้มีรายได้น้อย ซึ่งมี 2 สองส่วน คือ บัตรสวัสดิการของรัฐ และส่วนที่สองจะมีมาตรการเฉพาะกลุ่ม เฉพาะอย่างออกไปให้ประชาชน ทั้งในส่วนที่จะดูแลผู้มีรายได้น้อย และอีกส่วนคือการลงทุนระยะยาว เพื่อให้มีรายได้กลับเข้ามาประเทศ ในขณะที่รายได้เรามีเท่านี้ไม่พอ ต้องมีการลงทุน และการลงทุนไม่ได้ใช้เวลาแค่ 1 ปี 2 ปี ต้องใช้เวลา 3 ปี 5 ปี ถึง 10 ปี ที่จะมีรายได้กลับเข้ามา และเพิ่มรายได้ภาครัฐ นี่คือ การทำงานแบบนิว นอร์มอล ซึ่งต้องทำ จะหาว่ารัฐบาลไม่คิดอะไรเลย มันไม่ใช่ รัฐบาลคิดตลอดเวลา

นายกรัฐมนตรี กล่าวด้วยว่า ก่อนการประชุม ศบศ. ตนได้พบกับนักเศรษฐศาสตร์ ทั้งจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หลายข้อเสนอตรงกับสิ่งที่รัฐบาลทำในวันนี้ และเมื่อเปรียบเทียบกับแก้โควิด-19 กับเศรษฐกิจมันแตกต่างกับต่างประเทศอย่างไร ตนคิดว่าในหัวข้อไม่ต่างกันเลย มีเพียงอย่างเดียวคือ เงินเราน้อยกว่าเขา ซึ่งเราต้องเห็นใจประเทศของเรา ตนพยายามจะใช้เงินอย่างประหยัดที่สุด จะได้ไม่เป็นภาระต่อไปในอนาคต แต่อะไรที่มันจำเป็นก็ต้องทำ ถ้าไม่ทำประชาชนเดือดร้อนทั้งประเทศจะทำอย่างไร นั่นคือ สิ่งที่ตนขอฝากไว้

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม

ข่าวที่ได้รับความสนใจ