ยื้อเวลาโหวต! รัฐสภาลงมติ 431 ต่อ 255 ตั้ง กมธ.ศึกษาการแก้ รธน.

24 ก.ย. 63

ที่ประชุมรัฐสภามีมติตั้ง กมธ.ศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 431 ต่อ 255 เสียง ส่งผลให้ไม่สามารถโหวตรับหลักการร่างรัฐธรรมนูญได้ในสมัยประชุมนี้

เมื่อวันที่ 24 ก.ย. 63 ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้าการประชุมรัฐสภา ซึ่งวันนี้เป็นการประชุมร่วม 2 สภา คือ สภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และวุฒิสภา (ส.ว.)ได้พิจารณาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 6 ญัตติ ประกอบไปด้วย

1.ญัตติของพรรคร่วมฝ่ายค้าน นำโดยพรรคเพื่อไทย เสนอให้เปิดทางตั้ง ส.ส.ร. แก้ไขรัฐธรรมนูญ (ม.256) โดย ส.ส.ร. 200 คน มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด กำหนดแก้ไขรัฐธรรมนูญภายใน 120 วัน

2.ญัตติของพรรคร่วมรัฐบาล เสนอแก้ไข ม.256 เสนอให้เปิดทางตั้ง ส.ส.ร.แก้ไขรัฐธรรมนูญ (ม.256) โดยมาจากการเลือกตั้ง 150 คน และแต่งตั้ง 50 คน กำหนดการแก้ไขรัฐธรรมนูญภายใน 240 วัน

3.ตัดอำนาจ ส.ว.ร่วมโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี และปิดทางนายกรัฐมนตรีที่มาจากคนนอก (ม.159 และ ม.272) นำเสนอโดย พรรคเพื่อไทย

4.ตัดอำนาจ ส.ว.ในการปฏิรูปประเทศ (ม.270 และ ม.271) นำเสนอโดย พรรคเพื่อไทย

5.ยกเลิกคำสั่ง-ประกาศ คสช. (ม.279) นำเสนอโดย พรรคเพื่อไทย

6.แก้ไขระบบเลือกตั้งโดยให้ใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ แบบรัฐธรรมนูญ ปี 2540 นำเสนอโดย พรรคเพื่อไทย

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้องกับการแก้รัฐธรรมนูญ

"ไทยภักดี" บุกสภาฯ ยื่น 1.3 แสนชื่อ ค้านแก้รัฐธรรมนูญ
"iLaw" ยื่นรายชื่อหนุนแก้รัฐธรรมนูญ หน้ารัฐสภา
"ไอลอว์" บุกสภา แจ้งครบ 5 หมื่นรายชื่อแก้รัฐธรรมนูญฉบับ ปชช.

ต่อมามีข้อเสนอให้ที่ประชุมร่วมรัฐสภาตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) เพื่อศึกษาญัตติร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญทั้ง 6 ญัตติ โดยให้เหตุผลว่า หากยืนยันที่จะให้ลงมติในวันนี้ก็มีโอกาสสูงที่จะถูกคว่ำทั้ง 6 ญัตติ เนื่องจาก ส.ว. ส่วนใหญ่ต้องการให้มีการทำประชามติถามประชาชนก่อน แล้วค่อยนำเข้ามาพิจารณาอีกครั้ง เพราะเกรงว่าหากลงมติรับร่างรัฐธรรมนูญในวันนี้ แล้วในอนาคตมีคนไปยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ และศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการลงมติในวันนี้ขัดรัฐธรรมนูญ จะทำให้ผู้ที่ลงมติรับหลักการ ต้องแสดงความรับผิดชอบด้วย

โดยจะใช้ข้อบังคับการประชุมร่วมรัฐสภา ข้อที่ 121 วรรค 3 ที่ให้ที่ประชุมรัฐสภาตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นมาพิจารณาศึกษาก่อนที่จะมีการลงมติรับหลักการได้ ซึ่งจะมีระยะเวลาศึกษา 45 วัน จึงสามารถใช้เวลาช่วงปิดสมัยประชุมไปพิจารณาได้ จากนั้นจึงค่อยนำกลับมาพิจารณาอีกครั้งในช่วงเปิดสมัยประชุมในวันที่ 1 พ.ย. 63 จะดีกว่า

จากนั้นมีการเปิดให้ตัวแทนผู้เสนอญัตติอภิปรายสรุป โดยนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ เสนอว่า มีสมาชิกรัฐสภาจำนวนมากเป็นห่วงว่าจากการฟังการอภิปราย 2 วัน สมาชิกรัฐสภาหลายคนปรารภว่าเพิ่งเห็นร่างทั้ง 6 ฉบับ ยังไม่เข้าใจในสาระของร่างทั้ง 6 ฉบับเพียงพอมติ เพราะร่างรัฐธรรมนูญแต่ละฉบับมีความหลากหลายแตกต่างกัน และมีหลายคนอภิปรายถึงคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ

นายไพบูลย์ กล่าวว่า สมาชิกรัฐสภามีปัญหาวินิจฉัย จึงขอนำข้อบังคับการประชุมข้อที่ 121 วรรคสาม ให้ตั้ง กมธ.พิจารณาก่อนรับหลักการ โดยเสนอให้ที่ประชุมตั้ง กมธ.พิจารณาก่อนรับหลักการขึ้นมา 1 คณะ เพื่อให้ กมธ.มาจากตัวแทน ส.ว. พรรคร่วมฝ่ายรัฐบาลและพรรคร่วมฝ่ายค้าน ร่วมกันศึกษาวินิจฉัยร่างทั้ง 6 ฉบับให้ครบถ้วน จะได้จัดทำรายงานทั้ง 3 ฝ่ายเสนอต่อรัฐสภาโดยเร็ว เป็นประโยชน์ต่อสมาชิกรัฐสภาพิจารณาวินิจฉัยว่าจะรับหรือไม่รับหลักการในคราวประชุมหน้า โดยที่ ส.ส.ฝ่ายค้าน ได้คัดค้านข้อเสนอนี้กันอย่างหนัก

อย่างไรก็ตาม เมื่อเวลา 20.10 น. ที่ผ่านมา นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ขอให้มีการนับองค์ประชุมเพื่อที่จะลงมติให้มีการตั้งคณะกรรมาธิการศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญก่อนรับหลักการจำนวน 45 คน ซึ่งผลการลงมติปรากฏว่า เห็นด้วย 431 เสียง ไม่เห็นด้วย 255 เสียง งดออกเสียง 28 เสียง ไม่ลงคะแนน 1 เสียง ส่งผลให้ไม่สามารถโหวตรับหลักการร่างรัฐธรรมนูญได้ในสมัยประชุมนี้

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม