ทีมโฆษก ตร.แถลง เตือนผู้เข้าร่วมชุมนุม การโพสต์ภาพเช็กอิน ถือว่ารับสารภาพ เบื้องต้นมีเข้าข่ายต้องดำเนินคดีแล้ว 10 คน นอกจากนี้การโพสต์ชวนคนมาชุมนุมถือว่ามีความผิดด้วย
เมื่อเวลา 17.00 น. วันที่ 16 ต.ค. 63 พล.ต.ต.จิรสันต์ แก้วแสงเอก รอง ผบช.น. พล.ต.ต.ยิ่งยศ เทพจำนงค์ โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และ พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ ดีพอ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ร่วมกันแถลงข่าวที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.)
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- มวลชนแน่นเต็มพื้นที่แยกปทุมวัน ตร.ปิดถนนพญาไทเพิ่ม แยกราชเทวี-สามย่าน
- ผบ.ตร.ออกคำสั่งสถานการณ์ฉุกเฉิน ห้ามใช้เส้นทาง อาคาร สถานที่
- ยกเลิกแถลงข่าว! เพื่อไทยหวั่นฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน หลังตร.ไปตึกไทยซัมมิท
- "รถเมล์" ไม่จอดป้ายใกล้ราชประสงค์ "บีทีเอส" ปิดสถานี ชิดลม-ราชดำริ
- สกัดม็อบ! ตำรวจปิด 3 เส้นทางรอบแยกราชประสงค์
โดยโฆษกตำรวจ กล่าวว่า พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ในฐานะหัวหน้าผู้รับผิดชอบการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ออกคำสั่งหัวหน้าผู้รับผิดชอบการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ที่ 3 เรื่อง ห้ามใช้เส้นทางคมนาคม อาคาร หรือ สถานที่
1. ห้ามใช้เส้นทางคมนาคมดังต่อไปนี้ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่
(1) ถนนพญาไท แยกราชเทวี ถึง แยกสามย่าน
(2) ถนนพระราม 1 แยกเฉลิมเผ่า ถึงแยกเจริญผล
2. ห้ามเข้า และห้ามใช้ พื้นที่ อาคาร ตั้งแต่ 15.00 - 02.00 น. วันรุ่งขึ้น โดยสถานที่ห้าม คือ สถานีบีทีเอสสยาม สถานีสนามกีฬาแห่งชาติ สถานีราชเทวี
(1) ทางเชื่อมระหว่างอาคาร สถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส สยาม และสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสสนามกีฬาแห่งชาติ
(2) สถานีรถไฟฟ้าใต้ดินสามย่าน
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 16 ต.ค. 63 เวลา 17.00 น. เป็นต้นไป
ทำให้ขณะนี้ สถานีรถไฟฟ้า บีทีเอส 5 สถานี คือราชเทวี สยาม สนามกีฬาแห่งชาติ ชิดลม และราชดำริ ไม่จอดรับส่งผู้โดยสาร
นอกจากนี้ ยังออกประกาศฉบับที่ 4 เรื่อง ห้ามมิให้มีการชุมนุมหรือมั่วสุม โดยระบุว่า
1. ห้ามชุมนุมหรือมั่วสุมกันตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป หรือกระทำการใดอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย ในเขตพื้นที่ที่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง
2. ห้ามมิให้ใช้วิทยุ โทรคมนาคม โทรศัพท์เคลื่อนที่ เครื่องมือสื่อสาร อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ หรืออุปกรณ์ใด ๆ ที่สามารถเสนอข่าว หรือทำให้แพร่หลายซึ่งภาพ เสียง หรือข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว หรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสาร
3. ผู้ใดฝ่าฝืน ข้อห้ามตามประกาศนี้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 4 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ ดีพอ รองโฆษกตำรวจ ยังได้ย้ำเตือนผู้เข้าร่วมชุมนุมว่า การใช้โซเชียลมีเดียยุยงปลุกปั่น ชวนเข้าชุมนุม ทำให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย การโพสต์บิดเบือนสร้างเฟกนิวส์ การเช็คอิน มีรูปตัวเองร่วมการชุมนุม อย่ามองว่าเป็นเรื่องโก๋เก๋กระทำได้ นั่นเป็นการรับสารภาพ โดยมีพยานหลักฐานเป็นรูปที่เข้าสู่สังคมออนไลน์ ถือเป็นการละเมิดข้อกำหนดประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรง ซึ่งมีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 40,000 บาท
หากการกระทำเข้าข่ายความผิดอื่นใด เช่น พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ก็มีความผิดตามเรื่องนั้น ๆ โดยกระทรวงดิจิตอล มีทีมเฝ้ามอนิเตอร์ เบื้องต้นดำเนินคดีไปแล้ว 10 ราย แบ่งเป็นบัญชีเฟซบุ๊ก 5 ราย และ ทวิตเตอร์อีก 5 ราย ซึ่งทางกระทรวงได้เตรียมมอบหมายให้ฝ่ายกฎหมาย เข้าแจ้งความกับตำรวจปอท. เร็ว ๆ นี้ เบื้องต้นยังไม่ทราบว่ามีใครบ้าง
ขณะที่ พล.ต.ต.ยิ่งยศ โฆษกตำรวจ กล่าวว่า การโพสต์ชักชวนคนให้มาชุมนุม ร่วมชุมนุมถือว่ามีความผิดด้วย