เมื่อวันที่ 24 ต.ค. 63 เวลา 17.59 น. บรรยากาศการชุมนุมที่บริเวณหน้าเดอะมอลล์ บางกะปิ มีผู้ชุมนุมเข้ามาสมทบเป็นระยะ ๆ โดยใช้โทรโข่งในการปราศรัย เป็นจังหวะที่มีหญิงรายหนึ่งเดินเข้ามาพูดหยาบ บอกว่า "อย่ามาก่อกวน"
จากนั้นเกิดการโต้เถียงกัน หญิงรายดังกล่าวยกเท้าใส่กลุ่มผู้ชุมนุมที่นั่งอยู่ แกนนำปราศรัยในขณะนั้นประกาศขอให้หญิงรายดังกล่าวออกจากพื้นที่ไป ระบุว่า "คุณป้าเกิดในยุคเก่าครับ ยุคนี้มันยุคของพวกผม"
กระทั่งมีเจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบเข้ามาเจรจา เชิญให้หญิงรายนี้ออกจากพื้นที่ จากนั้นคุณป้าก็เดินออกไป ซึ่งทีมข่าวพยายามสอบถามถึงสิ่งที่เกิดขึ้น คุณป้าตอบเพียงว่า "ขายของไม่ได้เลย ซื้อของมาก็เสียทิ้งหมด ฉันไม่ต้องการอะไร แค่อยากได้ความสงบ"
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ภายในศาลเจ้าพ่อหลักเมือง ถนนศรีจันทร์ ในเขตเทศบาลนครขอนแก่น ได้มีกลุ่มชาวขอนแก่นปกป้องสถาบันและกลุ่มไทยภักดีขอนแก่นกว่า 100 คน ร่วมกันใส่เสื้อสีเหลือง โบกธงชาติ ตั้งเวทีปราศรัย โดยมีนายกมล กิจกสิวัฒน์, นายวุฒิพงศ์ ศุภรมย์ และน.ส.วรพรรณ เบญจวรกุล แกนนำได้ตั้งเวทีปราศรัยวิจารณ์การรวมตัวชุมนุมของนักเรียนนักศึกษา ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา
ในระหว่างที่ผู้ชุมนุมปราศรัยและจัดกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ปกป้องสถาบันนั้น ได้มีผู้ไม่หวังดี 2 คนขี่รถจักรยานยนต์ไม่ติดแผ่นป้ายทะเบียนผ่านมา ก่อนที่จะขว้างถุงสีขาว จำนวน 4 ถุงเข้ามาในจุดที่มีการชุมนุม และพยายามที่จะวิ่งไล่ติดตามผู้ก่อเหตุแต่ไล่ไม่ทัน
นายกมล แกนนำชาวขอนแก่นปกป้องสถาบัน กล่าวว่า การชุมนุมของกลุ่มนักเรียนนักศึกษาที่ผ่านมานั้น อยากวิจารณ์หรืออยากต่อว่านายกฯ หรือด่าใครก็ทำได้ตามสบาย แต่อย่าจาบจ้วงสถาบัน อย่ามาบอกว่าต้องปฏิวัติสถาบัน เพราะสถานบันไม่เคยสร้างความเดือดร้อนให้ใคร สถาบันที่เป็นเคารพบูชาของคนไทย อย่าวิจารณ์และอย่าทำผิดกฎหมาย เพราะประเทศไทยอยู่มาได้ก็เพราะสถาบัน เมื่อมีคนจ้องทำลายคนไทยควรออกมาปกป้อง
ขณะที่บนโลกโลกออนไลน์ กระแสแฮชแท็ก #saveartie หลัง อาร์ทตี้ ปฐพร ทรัพย์ไพฑูรย์ อดีตนักข่าว Bangkok Post ไลฟ์สดผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว Artie สัมภาษณ์หญิงรายหนึ่ง ระหว่างที่เข้าไปสัมภาษณ์หญิงใส่เสื้อเหลืองถือร่ม ถามว่าทำไมถึงไม่ใส่เสื้อเหลือง ก่อนจะได้รับคำชี้แจงว่า เพราะเป็นสื่อจึงต้องทำตัวเป็นกลางและใส่สีขาว ก่อนที่จะลุกลามกล่าวหาว่าเป็นนักข่าวผี
ทนายรณณรงค์ แก้วเพ็ชร์ เปิดเผยถึงเรื่องนี้ว่า ในการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชน ปัจจุบันเปิดกว้างมาก ไม่ได้ระบุว่าอะไรทำได้ หรือแบบไหนทำไม่ได้ มีเพียงเรื่องเดียว คือ หากเขาไม่ยินดีให้ทำข่าว ก็ไม่ควรทำ เพราะจะเป็นการละเมิดสิทธิ์
ส่วนกรณีที่น้องอาร์ทตี้ ไม่มีบัตรนักข่าวตอนที่ไปสัมภาษณ์นั้นไม่ได้มีกฎหมาบระบุไว้ ซึ่งกรณีที่นักข่าวไปทำข่าวการชุมนุม ไม่มีบัตร ถือว่าไม่ผิด เพราะกฎหมายกำหนดไว้ว่า ผู้ที่ต้องมีบัตรขณะปฏิบัติหน้าที่ คือ ข้าราชการตำรวจ ทหาร ส่วนสื่อมวลชน ไม่มีกฎหมายห้ามไว้ว่าต้องแสดงบัตร
กรณีที่กลุ่มคนต่อว่า นักข่าวขณะปฏิบัติหน้าที่จะถือว่าเป็นการคุกคามหรือไม่นั้น ต้องต้องบอกว่าการที่นักข่าวไปสัมภาษณ์ ถือว่าเป็นหน้าที่ เพราะต้องนำความจริงไปสู่สังคม ไม่เช่นนั้น สังคมก็จะด่าเขาอีกว่า สื่อเลือกข้าง
ส่วนกรณีที่ อาร์ทตี้ พยายามไปขอสัมภาษณ์ โดยที่เขาไม่ยินยอม ถือว่าเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง เพราะถือว่าไม่เหมาะสม เป็นเรื่องของจรรยาบรรณวิชาชีพ เพราะแหล่งข่าวไม่อยากให้เผยแพร่ข่าว หากมีการแอบถ่ายไปเผยแพร่ อาจถูกฟ้องได้