ทำความรู้จักแอปฯ "หมอชนะ" พร้อมวิธีใช้งาน ติดโควิดไม่มีแอปฯ นี้ คุก 2 ปี ปรับ 4 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
จากกรณีที่ นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. เปิดเผยว่า ข้อกำหนดฉบับล่าสุด (ฉบับที่ 17) ซึ่งออกมาตรการในการควบคุมโควิด-19 กำหนดให้ต้องมีการโหลดแอปพลิเคชัน 'หมอชนะ' ไว้ในโทรศัพท์มือถือของประชาชน และหากพบว่าในเวลาต่อมามีการตรวจพบว่าบุคคลนั้นมีการติดเชื้อ แต่ไม่มีแอปฯ ดังกล่าว อาจมีความผิดตามโทษของผู้ฝ่าฝืน พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ฉบับที่ 17 จำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 4 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ที่มีการรายงานไปก่อนหน้านี้นั้น
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- โหลดด่วน! แอปฯ "หมอชนะ" หากพบติดเชื้อโควิด-19 แล้วไม่มีแอปฯ อาจมีความผิด
- ไม่เห็นด้วย! เพจดังสวนกลับ ศบค.หลังขู่คุก 2 ปีถ้าไม่มีแอปฯ "หมอชนะ" แนะเชิญชวนดีๆ
- ใกล้แตะหลักหมื่น! ศบค.เผยตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่มอีก 305 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 1 คน
- ปิดฆ่าเชื้อ! กทพ. ประกาศปิดด่านเทพารักษ์ 4 หลังพบพนง.เก็บค่าผ่านทางติดโควิด
สำหรับแอปพลิเคชั่น "หมอชนะ" "หมอชนะ" เป็นแอพเก็บข้อมูลการเดินทางของประชาชน เพื่อประเมินความเสี่ยงได้ว่า ในบริเวณนั้นมีผู้ป่วย COVID-19 หรือไม่ จะบันทึกการเดินทางของผู้ใช้งาน ด้วยเทคโนโลยี GPS และ Bluetooth ร่วมกับการสแกน QR Code เช่น ไทยชนะ เพื่อเช็คอินตามสถานที่ต่าง ๆ เพื่อความแม่นยำและเที่ยงตรงมากยิ่งขึ้น
ในการใช้งาน ให้ประชาชนดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่น "หมอชนะ" บนสมาร์ทโฟน และตอบคำถามประเมินอาการของตัวเอง โดยแอพจะแบ่งระดับของความเสี่ยงเป็น 4 ระดับคือ
• สีเขียว สำหรับบุคคลที่มีความเสี่ยงต่ำมาก ซึ่งเป็นคนที่ไม่มีอาการ ไม่มีประวัติไปต่างประเทศ หรือใกล้ชิดผู้มีความเสี่ยงในช่วง 14 วันที่ผ่านมา
• สีเหลือง สำหรับบุคคลที่มีความเสี่ยงน้อย ซึ่งอาจจะมีอาการไข้หวัด แต่ไม่มีประวัติไปต่างประเทศ หรือใกล้ชิดผู้มีความเสี่ยงในช่วง 14 วันที่ผ่านมา
• สีส้ม สำหรับบุคคลที่มีความเสี่ยง เพราะเป็นคนที่มีประวัติไปต่างประเทศ หรือใกล้ชิดผู้มีความเสี่ยงในช่วง 14 วันที่ผ่านมา แต่ไม่แสดงอาการ หรือมีอาการไม่เด่นชัด คนในกลุ่มนี้ต้องกักตัวอยู่กับบ้านจนครบ 14 วัน พร้อมทั้งเฝ้าระวัง ถ้ามีอาการควรรีบไปโรงพยาบาลทันที
• สีแดง สำหรับบุคคลที่มีความเสี่ยงสูงมาก เพราะทั้งมีอาการ และมีประวัติไปต่างประเทศ หรือใกล้ชิดผู้มีความเสี่ยงในช่วง 14 วันที่ผ่านมา จะต้องรีบไปโรงพยาบาลทันที
เมื่อตอบคำถามครบถ้วนแอพจะรายงานพิกัดของผู้ใช้งานเข้าไปในระบบ ซึ่งจะช่วยให้บุคลากรด้านการแพทย์สามารถเช็คข้อมูลของผู้ที่มาขอรับบริการทางการแพทย์ ว่ามีความเสี่ยงมากน้อยเพียงใด เพื่อจัดลำดับความเร่งด่วนของการรักษา-ส่งตรวจได้แม่นยำมากขึ้น ที่สำคัญช่วยแก้ปัญหาเรื่องการปกปิดอาการลงไปได้
ทั้งนี้ สามารถดาวน์โหลดแล้วบน App Store สำหรับ iOS และ Play Store สำหรับ Android