กรณีการชุมนุมของกลุ่มรีเด็ม (REDEM) บริเวณท้องสนามหลวง วันที่ 20 มี.ค.64 ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ตำรวจได้เข้าสลายการชุมนุมด้วยการฉีดน้ำ ยิงแก๊สน้ำตา และยิงกระสุนยาง จนเกิดการปะทะกันระหว่าง 2 ฝ่าย ทำให้มีผู้บาดเจ็บ ขณะเดียวกันพบว่ามีชาย 1 ราย ซึ่งเป็นผู้ร่วมชุมนุม ได้รับบาดเจ็บจากการถูกอาวุธปืนยิง ที่บริเวณแยกเสาชิงช้า เบื้องต้นเจ้าหน้าที่ป่อเต็กตึ๊ง เร่งนำตัวส่งโรงพยาบาลแล้ว
นอกจากนี้ยังมีผู้สื่อข่าวช่องหนึ่ง ได้รับบาดเจ็บถูกกระสุนยางเข้าที่บริเวณขมับด้านขวา ก่อนถูกนำตัวส่งไปรักษาห้อง ICU เพื่อตรวจอาการที่ รพ.เกษมราษฎร์ ประชาชื่น
ล่าสุดวันที่ 21 มี.ค.64 ทีมข่าวอมรินทร์ ทีวี ได้ลงพื้นที่เกิดเหตุไปยังจุดที่ผู้บาดเจ็บถูกยิง อยู่ริมฟุตพาท ถนนดินสอ ด้านข้างลานคนเมือง แยกเสาชิงช้า กรุงเทพมหานคร พบว่าบ้านที่อยู่ฝั่งตรงข้าม ห่างจากจุดเกิดเหตุ 10 เมตร เป็นร้านขายเครื่องสังฆภัณฑ์ ประตูหน้าร้านมีรอยถูกกระสุนปืนเป็นรูขนาดความกว้าง 2 เซนติเมตร โดยจุดที่ถูกกระสุนอยู่สูงจากพื้น 130 เซนติเมตร ทีมข่าวได้ตรวจสอบวิถีกระสุน พบว่าถูกยิงมาจากบริเวณด้านหน้าวัดสุทัศนเทพวราราม ราชวรมหาวิหาร
จากการตรวจสอบภายในร้านดังกล่าว พบว่ากระสุนได้ทะลุไปโดนตู้กระจกใส่เครื่องสังฆภัณฑ์ กระจกเเตกได้รับความเสียหาย เเละพบหัวกระสุนตะกั่ว ขนาด 9 มิลลิเมตรตกอยู่ในตู้ โดยทางร้านยังไม่ได้ประเมินความเสียหาย
ขณะเดียวกันทีมข่าวได้พูดคุยกับชาวบ้านรายหนึ่ง ซึ่งอยู่ใกล้จุดเกิดเหตุ เปิดเผยว่า เมื่อคืนที่ผ่านมา เวลาประมาณ 21.00 น. ขณะที่ตนกำลังนั่งดูข่าวอยู่ในบ้าน จู่ ๆ ก็ได้ยินเสียงปืนดังขึ้น 3 นัดซ้อน หลังจากเสียงปืนสงบ ก็ได้ยืนเสียงคนโหวกเหวกโวยวาย ตะโกนว่ามีคนถูกยิง ซึ่งขณะนั้นตนรู้สึกหวาดกลัวมาก จึงไม่กล้าเปิดประตูออกมาดู ทำได้เพียงฟังเสียงจากในบ้าน ตอนนี้ก็ยังตกใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
เวลา 11.00 น. พลตำรวจตรี ยิ่งยศ เทพจำนงค์ โฆษกสำนักงานตำรวจเเห่งชาติ พร้อมด้วย พลตำรวจตรี ปิยะ ต๊ะวิชัย รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ในฐานะโฆษกกองบัญชาการตำรวจนครบาล แถลงข่าวสรุปสถานการณ์การชุมนุมประท้วง เมื่อวันที่ 20 มี.ค.64
พลตำรวจตรียิ่งยศ กล่าวถึงหลักการสำคัญ 3 ข้อ สำหรับการชุมนุมดังต่อไปนี้
1.การชุมในขณะนี้ยังเป็นการชุมนุมผิดกฎหมาย ตาม พ.ร.ก. ฉุกเฉิน เเละ พ.ร.บโรคติดต่อ
2.เจ้าหน้าที่จำเป็นต้องใช้เครื่องกีดขวางในบางพื้นที่ เนื่องจากเกรงว่าการชุมนุมจะกระทบต่อสถานที่ราชการสำคัญ เเละเพื่อระงับการกระทำความผิดทางกฎหมายของผู้ชุมนุม
3.การระงับยับยั้งผู้ชุมนุมไม่ให้ไปทำลายสถานที่ราชการเเละสิ่งกีดขวาง เจ้าหน้าที่ใช้มาตรการที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล ไม่ให้เป็นอันตรายต่อชีวิตของผู้ชุมนุม มีการประกาศเตือนทุกระยะ เเละประกาศพื้นที่ควบคุม ดังนั้นสิ่งที่เจ้าหน้าที่ทำไปทั้งหมด เพื่อรักษากฎหมาย
พลตำรวจตรีปิยะ ต๊ะวิชัย กล่าวถึงภาพรวมของเหตุการณ์ การชุมนุมวันที่ 20 มี.ค.64 จากเหตุการณ์ทั้งหมด สามารถจับกุมผู้กระทำความผิดได้ 20 ราย นำส่งพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินคดีเเล้ว สำหรับข้อหาที่มีการดำเนินคดีส่วนใหญ่ประกอบด้วย
1.หมิ่นประมาทดูหมิ่นหรือเเสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112
2.ร่วมกันชุมนุมโดยผิดกฎหมาย ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มาตรา 9
3.ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ ตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ
4.ร่วมกันมั่วสุมสมคบกันตั้งเเต่ 10 คนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้าย สร้างความวุ่นวายเเก่บ้านเมือง
5.เจ้าพนักงานสั่งให้ผู้มั่วสุมเพื่อกระทำความผิดมาตรา 215 ให้เลิกเเล้วไม่เลิก ผิดมาตรา 216
6.ร่วมกันทำร้ายเจ้าพนักงานซึ่งกระทำตามหน้าที่ จนเป็นเหตุได้รับอันตรายเเก่กายหรือจิตใจ
7.ร่วมกันต่อสู้ขัดขวางการทำงานของเจ้าพนักงาน โดยมีหรือใช้อาวุธ โดยร่วมกันตั้งเเต่ 3 คนขึ้นไป
ทั้งนี้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ได้รับบาดเจ็บ รักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล จำนวน 11 ราย ส่วนใหญ่ถูกสะเก็ดระเบิด เเละของเเข็งตีเข้าที่ศีรษะ กับต้นคอ โดยรักษาอยู่ที่ รพ.ตำรวจ 9 นาย เเละ รพ.วชิระพยาบาล 2 นาย โดยมี 1 นาย อาการหนัก กะโหลกศีรษะเเตก อยู่ในห้อง ไอ.ซี.ยู. ส่วนกรณีที่มีผู้ชุมนุมโดนกระสุนจริงนั้น ประเด็นดังกล่าวยังไม่ได้รับรายงาน
ทั้งนี้ เเม้การชุมนุมจะพยายามประชาสัมพันธ์ว่าไม่มีเเกนนำ เเต่จากการสืบสวนเชิงลึก พบว่าการชุมนุมดังกล่าวมีเเกนนำ อยู่ระหว่างรวบรวมพยานหลักฐาน เพื่อนำตัวมาดำเนินคดี พร้อมกันนี้ตำรวจยังประกาศล่าตัวผู้ชุมนุมชายรายหนึ่ง หลังพบหลักฐานว่าเป็นผู้ปาระเบิดใส่เจ้าหน้าที่หลายลูก จนเจ้าหน้าที่ได้รับบาดเจ็บ
ทีมข่าวอมรินทร์ ทีวี ได้พูดคุยกับ น.ส.ธัญลักษณ์ วรรณโคตร หรือ นัทตี้ อายุ 26 ปี ผู้สื่อข่าวอีกสำนักหนึ่งซึ่งถูกกระสุนยางยิงเข้าบริเวณต้นขาซ้าย ตอนนี้เธอยังรู้สึกเจ็บปวดบริเวณจุดที่โดนลูกกระสุน เเละเดินกะเผลก
น.ส.ธัญลักษณ์ เปิดเผยว่า ตั้งเเต่เวลา 17.00 น. ของวันที่ 20 มี.ค.64 ตนได้ปฏิบัติหน้าที่รายงานข่าวการชุมนุม บริเวณสนามหลวง เเต่หลังจากที่เกิดเหตุปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่กับผู้ชุมนุม ตนจึงต้องย้ายจุดมาอยู่บริเวณหน้าหอสมุดเเห่งชาติ โดยบริเวณดังกล่าวมีกำลังเจ้าหน้าที่ทั้งโล่สีใส เเละโล่สีดำ ซึ่งโล่สีดำตนทราบดีว่าเป็นสัญลักษณ์ของการใช้กระสุนยาง
กระทั่งช่วงเวลาประมาณ 21.30 น. ตำรวจได้ประกาศกระชับพื้นที่ หลังจากที่มีการปะทะกับกลุ่มผู้ชุมนุม เเต่ไม่ได้มีการประกาศเตือนว่าจะมีการใช้กระสุนยาง เด้วยสันชาตญาณเห็นกลุ่มมวลชนถอยร่อนออกมา เเละเห็นเจ้าหน้าที่วิ่งไล่ตาม ตนจึงตัดสินใจวิ่งไปหลบบริเวณหน้าปากซอยทางเข้าถนนข้าวสาร เนื่องจากบริเวณดังกล่าวมีนักท่องเที่ยวนั่งดื่มตามสถานบันเทิง ประกอบกับมีรถเข็นขายของจำนวนมาก จึงคิดว่าเป็นที่ปลอดภัย โดยตนได้ชูปลอกเเขนสีขาว เพื่อเเสดงตนให้เจ้าหน้าที่ทราบว่าเป็นสื่อมวลชน
เเต่จังหวะนั้นก็รู้สึกได้ว่ามีของเเข็งมากระทบที่ต้นขาข้างซ้าย ขาเริ่มชา เเล้วความรู้สึกก็เริ่มเปลี่ยนเป็นความเจ็บปวด ตนทราบทันทีว่าถูกกระสุนยาง เเต่ในตอนนั้นด้วยสปิริตได้ตัดสินใจรายงานข่าวต่อ เเต่ปรากฏว่าเดินไม่ไหว จึงต้องนั่งทรุดลงที่พื้น จังหวะนั้นมีผู้สื่อข่าวของอมรินทร์ ทีวี ได้วิ่งเข้ามาช่วยเหลือโดยการหาเก้าอี้มาให้นั่ง เเล้วช่วยผยุงมาหลบอยู่อีกฝั่งของถนน
ในขณะเดียวกันจังหวะนั้นก็มีเพื่อนนักข่าว ซึ่งอยู่บริเวณเดียวกัน ได้ถูกกระสุนยางยิงเข้าที่ขมับข้างขวา จนร้องไห้ด้วยความเจ็บปวด ตอนนั้นภาพที่เห็นคือ นักข่าวคนดังกล่าวศีรษะบวมปูด เพื่อน ๆ สื่อมวลชนต้องช่วยกันหาน้ำเย็นมาประคบ เป็นการปฐมพยาบาลเบื้องต้น
น.ส.ธัญลักษณ์ กล่าวว่า การปฏิบัติหน้าที่รายงานข่าวทุกครั้ง ตนจะมีการสวมหมวกป้องกันศีรษะ เเละมีการสวมปลอกเเขนสื่อมวลชน เเต่มองว่าปลอกเเขนดังกล่าวไม่ได้เป็นเครื่องการันตีความปลอดภัย ดังนั้นเหตุการณ์ในครั้งนี้ถือเป็นบทเรียนในการทำงานว่าจะต้องระมัดระวัง เเละหาพื้นที่กำบังให้เร็วขึ้น เเต่ในขณะเดียวกันก็ไม่อยากเห็นภาพการใช้ความรุนเเรงของทุกฝ่าย เเละเชื่อว่าการชุมนุมครั้งต่อไป สื่อมวลชนก็อาจเกิดความกังวลในเรื่องความปลอดภัย ซึ่งหลังจากเกิดเหตุตนก็ยังรู้สึกตกใจเเละนอนผวา ส่วนปลอกเเขนก็อยากให้มีการเปลี่ยนเป็นสีสะท้อนเเสง อย่างน้อยก็เพื่อให้เห็นได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น
สำหรับผู้สื่อข่าวคนดังกล่าว ยังคงรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล กำลังเข้าตรวจร่างกายอีกครั้ง อาการล่าสุดพูดคุยรู้เรื่อง การตอบสนองดี จำรายละเอียดทุกอย่างได้ แต่ยังปวดหัวข้างขมับจุดที่โดนกระแทก นอนไม่ได้ แพทย์จึงจำเป็นจะต้องให้ยาเพื่อให้หลับและพักผ่อน ส่วนผลการสแกนสมอง เบื้องต้นบาดแผลภายนอกไม่มีอะไรนอกจากศีรษะปูดบวม แต่ข้างในพบลักษณะเหมือนห้อเลือด ซึ่งจะส่งผลให้ยังคงมีอาการปวดศีษะต่อเนื่อง ประมาณ 2-3 สัปดาห์
เบื้องต้นยังไม่พบว่าจุดห้อเลือดดังกล่าวจะเป็นอันตราย จนนำไปสู่การเจาะเลือดออกหรือผ่าตัดเเต่อย่างใด แต่แพทย์ยังคงต้องเฝ้าระวังและสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด จึงให้นอนโรงพยาบาลอีกเบื้องต้น 1-2 คืน แล้วจะให้ยารักษา พร้อมดูอาการเป็นระยะ โดยช่วงเย็นวันนี้ได้ย้ายออกจากห้อง ICU ไปอยู่ห้องพิเศษเเล้ว
เวลา 14.00 น. ที่หอศิลปะแห่งกรุงเทพมหานคร แยกปทุมวัน กรุงเทพฯ กลุ่มอาชีวะและภาคีเครือข่ายปกป้องสถาบัน จัดกิจกรรมส่งเสียงปกป้องสถาบันฯ ร้องเพลง "หนักแผ่นดิน" แต่ในระหว่างนั้นมีชายและหญิงอย่างน้อย 2 คน แสดงออกเชิงสัญลักษณ์ ด้วยการชู 3 นิ้ว บริเวณสกายวอล์ก นอกจากนี้มีหญิงคนหนึ่งใช้น้ำสาดใส่ชายคนดังกล่าวต่อหน้าเจ้าหน้าที่ตำรวจ
Advertisement