จนทิพย์ ทำอดทุน คณะแพทย์ศาสตร์ มมส. เปิด 10 ข้อ แจงไม่ให้ทุนเพิ่มกรณี น้องโวลต์ ชี้เงินบริจาคเพียงพอแล้ว
กรณี จนทิพย์ น้องโวลต์ (สงวนชื่อ-สกุลจริง) อายุ 18 ปี นักเรียนโรงเรียนแห่งหนึ่งใน จ.กาฬสินธุ์ สอบเข้าเป็นนักศึกษาคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งใน จ.มหาสารคามได้ แต่ฐานะยากจน ทั้งบ้านมีเงินอยู่แค่ 1,500 บาท และไม่มีทุนการศึกษา หลังเรื่องราวถูกเผยแพร่ออกไป ทำให้มียอดโอนเงินบริจาคเข้ามากว่า 2,700,000 บาท กระทั่งชาวเน็ตจับโป๊ะได้ว่า นักศึกษาแพทย์รายนี้อาจจะจนไม่จริง เนื่องจากมีคนสังเกตว่าใช้ iPad Pro, จัดฟัน, เป็นเจ้ามือหวย, ใช้น้ำหอม Dior, พี่สาวขับรถเก๋งคันละเกือบล้าน และพี่ชายขี่มอเตอร์ไซค์บิ๊กไบก์
สรุปดราม่า #จนทิพย์ น้องโวลต์ ไม่มีเงินเรียนแพทย์ ยอดบริจาค 2.7 ล้าน โดนแฉยับ
ความคืบหน้าล่าสุด เฟซบุ๊กแฟนเพจ "ฝ่ายกิจการนิสิต คณะแพทยศาสตร์ มมส." โพสต์ขอความระบุว่า คำชี้แจง จากคณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม (ผศ.นพ.เทพลักษ์ ศิริธนะวุฒิชัย) ถึงคณาจารย์ บุคลากร และนิสิตคณะแพทยศาสตร์ทุกท่าน กรณี นางสาวณัฐวดี เหล่าบุบผา (น้องโวลต์)
จากกรณีการนำเสนอข่าวผ่านสื่อและสังคมออนไลน์ของ นางสาวณัฐวดี เหล่าบุบผา (น้องโวลต์) ที่ผ่านการคัดเลือกเข้าศึกษาหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ปีการศึกษา 2564 ที่ครอบครัวประสบปัญหาความเดือดร้อนเรื่องค่าใช้จ่ายในการศึกษา เนื่องจากครอบครัวมีฐานะยากจน ตามที่สื่อนำเสนอไปแล้วนั้น ผมจะขอลำดับเหตุการณ์ให้ทุกคนได้ทราบดังนี้
- ข้อ 1 วันศุกร์ที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2564 (ช่วงบ่าย) คณะฯ ดำเนินการสอบสัมภาษณ์ผู้ผ่านการคัดเลือกที่มีสิทธิ์เข้ารับการสอบสัมภาษณ์ ผ่านระบบออนไลน์
- ข้อ 2 วันศุกร์ที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2564 (ช่วงเย็น) คณะฯ ประกาศรายชื่อผู้ผ่านการคัดเลือกเข้าศึกษาหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต บนเว็บไซต์ของคณะฯ
- ข้อ 3 วันเสาร์ที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2564 สื่อท้องถิ่นนำเสนอข่าวการสอบติดคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคามของนางสาวณัฐวดี เพื่อขอรับความช่วยเหลือเบื้องต้นจากผู้มีจิตเมตตา ทั้งนี้ "คณะแพทยศาสตร์ไม่ทราบเรื่องการขอรับความช่วยเหลือดังกล่าว" แต่อย่างใด
- ข้อ 4 วันอาทิตย์ที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2564 คณะแพทยศาสตร์ ได้รับการติดต่อจากองค์กร มูลนิธิ และผู้มีจิตเมตตาหลายท่าน แสดงความประสงค์บริจาคทุนการศึกษาให้นางสาวณัฐวดี ซึ่งทางคณะฯ ได้ตอบปฏิเสธผู้มีจิตเมตตาทุกท่านในขณะนั้น เนื่องจากยังไม่ถึงวันยืนยันสิทธิ์เข้าศึกษา (10-11 พ.ค. 64) และยังไม่ได้มีการสัมภาษณ์นิสิตเพื่อพิจารณาทุน
- ข้อ 5 วันจันทร์ที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2564 มหาวิทยาลัยมหาสารคามประสานคณะแพทยศาสตร์ ขอพบนางสาวณัฐวดี เพื่อรับฟังปัญหาความเดือดร้อนของครอบครัวและจะได้พิจารณาหาแนวทางช่วยเหลือที่เหมาะสม เนื่องจากมีกระแสคำถามบนสังคมออนไลน์เกี่ยวกับทุนการศึกษาสำหรับเด็กเรียนดีแต่ยากจน ของคณะแพทยศาสตร์และมหาวิทยาลัยมหาสารคาม
- ข้อ 6 วันอังคารที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2564 (ภาคเช้า) อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ผู้บริหารมหาวิทยาลัย และผู้บริหารคณะแพทยศาสตร์ ได้พบนิสิต มารดา และคณาจารย์โรงเรียนกาฬสินธุ์พิทยาสรรพ์ เพื่อรับฟังปัญหาและข้อมูล จึงได้ทราบว่ามียอดเงินบริจาคในขณะนั้น จำนวน 2.7 ล้านบาท (ซึ่งนางสาวณัฐวดีมีความตั้งใจที่จะปิดบัญชีรับบริจาคตั้งแต่วันจันทร์ แต่เป็นวันหยุดราชการ) ทางคณะแพทยศาสตร์และมหาวิทยาลัยมหาสารคามจึงไม่ได้ให้ความช่วยเหลือเพิ่มเติมใด ๆ แต่ได้ให้คำแนะนำในการวางแผนการใช้จ่ายตลอดการศึกษา ซึ่งทางคณะฯ ได้รายงานข้อมูลให้ผู้มีจิตเมตตาที่แสดงความประสงค์บริจาคทุนไว้ก่อนหน้านี้เพื่อทราบ ท่านได้พิจารณาและแสดงความจำนงบริจาคทุนให้แก่นางสาวณัฐวดีเป็นค่าธรรมเนียมการศึกษา จำนวนแปดหมื่นบาท ผ่านกองทุนการศึกษาและพัฒนานิสิตคณะแพทยศาสตร์
- ข้อ 7 วันอังคารที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2564 (ภาคบ่าย) คณะแพทยศาสตร์ทราบว่า นางสาวณัฐวดีเดินทางไปปิดบัญชีที่ธนาคาร
- ข้อ 8 วันพุธที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2564 คณะฯ ได้ทราบกระแสข่าวบนสื่อสังคมออนไลน์ที่ตั้งคำถามเกี่ยวกับการเปิดรับบริจาคเมื่อวันที่ 8 พ.ค. 64 ทางคณะฯ ติดตามและรวบรวมข้อมูล
- ข้อ 9 วันพฤหัสบดีที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2564 คณะฯ ประชุมเพื่อหาแนวทางตรวจสอบข้อเท็จจริง
- ข้อ 10 วันศุกร์ที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2564 (ภาคบ่าย) ตัวแทนคณะแพทยศาสตร์ ได้เดินทางไปเยี่ยมบ้านนางสาวณัฐวดี อำเภอเมือง จังหวัดกาฬสินธุ์ พบสภาพบ้านพักอาศัยมีขนาดเล็ก ไม่เป็นสัดส่วน ไม่มีประตูบ้าน สภาพบ้านไม่ปลอดภัย
สำหรับการวางแผนการใช้เงินบริจาค ทราบว่านางสาวณัฐวดีจะเขียนแผนค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการศึกษาตลอดหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต นำเสนอให้คณะกรรมการซึ่งนายอำเภอเมืองกาฬสินธุ์จะเป็นผู้แต่งตั้ง เพื่อพิจารณาและให้ความเห็นชอบ ทั้งนี้ "คณะแพทยศาสตร์ไม่มีแผนให้ทุนการศึกษาแก่นางสาวณัฐวดีเพิ่มเติม" แต่อย่างใด เนื่องจากเงินบริจาคมีจำนวนเพียงพอ อนึ่ง คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มีแนวทางการพิจารณาช่วยเหลือนิสิตระดับปริญญาตรีที่ประสบปัญหาขาดแคลนทุนทรัพย์ทุกหลักสูตร
อย่างไรก็ตาม บนสื่อสังคมออนไลน์ยังคงมีข้อสงสัยในประเด็นอื่น "ทางคณะแพทยศาสตร์ จะดำเนินการสำรวจข้อเท็จจริงเพิ่มเติมและประชุมพิจารณากันต่อไป"
ทั้งนี้ คณะแพทยศาสตร์ มีความเป็นห่วงต่อปัญหาการระรานทางไซเบอร์ (Cyberbullying) เพื่อเป็นการลดปัญหาดังกล่าว เสนอให้ผู้ติดตามข่าวสารไตร่ตรองข้อมูล/ข้อความต่าง ๆ ด้วยความรอบคอบ ไม่ส่งต่อข้อมูลอันเป็นเท็จ รับฟังความคิดเห็นหรือมุมมองที่แตกต่างของผู้อื่น วิเคราะห์วิจารณ์ด้วยเหตุผล และหลีกเลี่ยงการใช้ถ้อยคำที่รุนแรง