โผล่ที่ตรัง! เสาไฟประติมากรรมหงส์ทอง ต้นละ 1 แสน 30 ต้น งบกว่า 3 ล้านบาท ถูกเทศบาลเมืองตรังถอดทิ้งซุกคากองบ่อขยะ ขณะที่ ป.ป.ช.ตรัง ลุยตรวจเรียกเทศบาลนครตรังเข้าชี้แจง ปลัดเผยถอดทิ้งเพราะชำรุดเสียหาย ปัดเอื้อประโยชน์ให้ใคร ด้านโลกโซเซียลวอนให้ สตง.ตรวจสอบจริงจัง ใช้งานคุ้มค่า หรือแพงเกินจริงหรือไม่
เมื่อเวลา 13.40 น. วานนี้ (14 มิ.ย. 64) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายยุทธนา วิมลเมือง เจ้าพนักงานป้องกันการทุจริตชำนาญการ ฝ่ายปฎิบัติการ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติประจำจังหวัดตรัง หรือ ป.ป.ช. พร้อมสมาชิกชมรมตรังต้านโกง ได้เดินทางลงพื้นที่ไปยัง สนามกีฬาเทศบาลนครตรัง 2 (ทุ่งแจ้ง) ถนนตรัง-สิเกา ต.บางรัก อ.เมืองตรัง ที่อยู่บริเวณหน้าอาคารสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน หรือ สตง. เพื่อตรวจสอบเสาไฟประติมากรรมหงส์ทอง จำนวน 30 ต้น ที่ได้สูญหายไปจากเกาะกลางถนนคู่ขนานระยะทางยาวประมาณ 600 เมตร หลงเหลือให้เห็นเพียงแค่ตอม่อปูนเท่านั้น
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- อบต.หนองปรือ สมุทรปราการ แจงเสาไฟเครื่องบิน ไม่ถึงต้นละแสน ยันใช้งบคุ้มค่า
- โผล่อีก! ร้องสอบ เสาไฟโซลาเซลล์ อ่างทองต้นละ 8.3 หมื่น หวั่นล็อกสเปค อบจ.โร่ชี้แจง
- สว่างจ้า! หนุ่มไอเดียเจ๋งประดิษฐ์ เสาไฟเครื่องบิน ใช้งบประมาณ 285 บาทถ้วน
- นายอำเภอแจง เสาไฟปลาบึก ไม่ไช่ไม้เสียบ ชี้เป็นเอกลักษณ์ งบรวมฟุตบาท
- นึกว่าป่าหิมพานต์! เสาไฟกินรี ติดตั้งถี่ยิบ เพจฯ แฉ อ้างตกต้นละเกือบ 1 แสน ชาวโซเชียล จี้ ตรวจสอบ
- เพจดังเผยภาพ เสาไฟพญานาค จ.มุกดาหาร ชาวเน็ตขำปอดโยก ทำไมสูงแค่นี้?!
หลังจากที่ทางเพจ “ชมรมตรังต้านโกง” ได้รับการร้องเรียนจากชาวบ้าน จนมีการโพสต์เปิดประเด็นถึงเสาไฟฟ้าดังกล่าวที่สูญหายไป พร้อมทั้งถามถึงเป็นการถอดเพื่อประโยชน์ของผู้รับเหมาที่จัดงานมหกรรมสินค้าในช่วงการจัดงานประเพณีลากพระ และงานประจำปีหรือไม่ ประกอบกับมีคำสั่งจาก สำนักงาน ป.ป.ช. ให้ทุกพื้นที่ทั่วประเทศลงตรวจสอบ โดยในครั้งนี้มี นายวัลลภ ช่วยบำรุง ปลัดเทศบาลนครตรัง นายวิจิตร ด้วงอินทร์ ผู้อำนวยการสำนักการช่างเทศบาลนครตรัง นายกิตติพงษ์ ทวนดำ วิศวกรโยธาเทศบาลนครตรัง ร่วมตรวจสอบพร้อมเข้าชี้แจงในครั้งนี้ ถึงเหตุผลที่มีการรื้อถอนออก การใช้งานที่คุ้มค่า หรือแพงเกินจริงหรือไม่ ก่อนที่ทางเทศบาลฯได้นำไปดูซากเสาไฟฟ้าประติมากรรมหงส์ทอง ได้ถูกนำไปเก็บไว้ บริเวณกองช่างเทศบาลนครตรัง ใกล้กับบ่อขยะเทศบาลนครตรัง มีสภาพชำรุดแตกหัก ไม่คงเหลือสภาพที่จะสามารถนำมาใช้งานต่อได้
ด้าน นายวัลลภ ช่วยบำรุง ปลัดเทศบาลนครตรัง กล่าวว่า ทางเทศบาลฯ ได้ทำการถอดไปตั้งแต่ปี พ.ศ. 2562 เพราะมีการชำรุด เกรงกลัวว่าจะเป็นอันตรายต่อบุคคลทั่วไป หลังจากนี้ก็ต้องจำหน่ายออกไปตามระเบียบพัสดุ ซึ่งต้องแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตั้งราคากลางว่าจะจำหน่ายต้นเท่าไหร่ และอย่างไร ตามระเบียบพัสดุ ในส่วนที่มีประชาชนออกมาวิพากษ์วิจารณ์ว่าการถอดถอนเสาเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับงานมหกรรมสินค้านั้น ในช่วงปี พ.ศ.2562 ขณะมีตลาดสินค้าก็ยังมีเสาตั้งอยู่ แต่หลังจากมีการระบาดของโรคโควิดก็ไม่มีตลาดสินค้าแล้ว คงไม่มีการเอื้อประโยชน์ให้ผู้รับเหมาในการจัดงานแต่อย่างใด ซึ่งการจัดซื้อจัดจ้างเป็นงบประมาณเหมารวมกับถนน งบ 15.5 ล้านบาท เมื่อปี 2546 ราคาต้นละ 1 แสนบาท ซึ่งจะมีการติดตั้งใหม่หรือไม่นั้น ขึ้นอยู่ที่นโยบายของผู้บริหารชุดใหม่ ในเรื่องของปติมากรรมไฟฟ้า ถ้าถามว่าได้ผลประโยชน์คุ้มค่าหรือไม่นั้น ก็ถือว่าเป็นความสวยงามส่วนหนึ่งของจังหวัดตรัง เทศบาลนครตรังมีความสวยงาม เพราะการติดตั้งเสาไฟเป็นความสวยงามและเป็นประติมากรรมอย่างหนึ่ง เป็นความสวยงามที่เกิดขึ้นทางสิ่งแวดล้อม ภูมิศาสตร์ของประเทศ
สำหรับเสาไฟประติมากรรมหงส์ทอง ได้มีการก่อสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2546 บนเกาะกลางถนนคู่ขนานภายในสนามกีฬา ระยะทางยาวประมาณ 600 เมตร โดยใช้งบประมาณทั้งสิ้น จำนวน 15.5 ล้านบาท โดยแยกออกจากการก่อสร้างถนน เป็นการก่อสร้างเสาไฟฟ้าประติมากรรมหงส์ทอง มีรูปหงส์ทองอยู่บริเวณยอดเสา ราคาต้นละ 100,000 บาท จำนวน 30 ต้น รวมงบประมาณ จำนวน 3 ล้านบาท ซึ่งสร้างขึ้นในสมัย นายชาลี กางอิ่ม เป็นนายกเทศมนตรีในขณะนั้น ท่ามกลางการคัดค้านของชาวบ้าน เนื่องจากเห็นว่ามีราคาที่สูงเกินไป และในช่วงเวลานั้นถนนที่สร้างประติมากรรมหงส์ทองคำ เป็นเพียงถนนเพื่อเข้าสู่บ่อทิ้งขยะของเทศบาลฯ เท่านั้น ยังไม่มีสิ่งปลูกสร้าง หรืออาคารสำนักงานใด ๆ สองข้างถนนเป็นเพียงแค่กองขยะตลอดสาย
อย่างไรก็ตาม ทางชาวบ้าน และสมาชิกชมรมตรังต้านโกง ได้มีการเรียกร้องให้สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน หรือ สตง. พร้อมทั้ง สำนักงาน ป.ป.ช. ตรวจสอบอย่างจริงจังว่าเป็นใช้งานที่คุ้มค่ากับงบประมาณที่ใช้จ่ายไปหรือไม่ พร้อมทั้งการจัดซื้อจัดจ้างแพงเกินจริงหรือไม่ ข่าวคืบหน้าจะรายงานให้ทราบต่อไป