จากเรื่องราวสะเทือนใจที่ทางเฟซบุ๊กแฟนเพจ “เส้นด้าย” จิตอาสากลุ่มหนึ่งที่คอยประสานหาเตียงให้กับผู้ป่วยโควิด-19 มาตลอด ล่าสุดทางแฟนเพจได้พูดถึงช่วงวินาทีชีวิตของคุณป้าวัย 59 ปี หรือ “น.ส.รัชนี ยงทางเรือ” ผู้ป่วยโควิด-19 ที่รอเตียงอย่างทรมานมานานเกือบ 6 วัน ในบ้านเช่าติดกับบ้านตัวเองที่เป็นร้านขายของชำ ภายในซอยเปรมสมบัติ ถนนประชาสงเคราะห์ แขวงดินแดง แขตดินแดง กทม. หลังทราบผลตรวจในวันที่ 13 ก.ค.64 และมีโรคประจำตัวความดัน กินยา Enalapril (อีนาลาพริล) 20 มิลลิกรัมมาหลายปี
โดยในช่วงเวลาประมาณ 22.00 น. ของวันที่ 17 ก.ค.64 ทางแฟนเพจเส้นด้าย ได้รับเรื่องจากการที่หลานสาว “คุณยูริ” โพสต์และมีคนแชร์พร้อมติดแฮชแท็ก #เส้นด้าย จึงมีการโทรไปสอบถามอาการ “ป้ารัชนี” เพราะตั้งใจไว้ว่าช่วงเช้าวันที่ 18 ก.ค.64 จะส่งทีมเข้าไปช่วยเหลือ เนื่องจากช่วงคืนของวันที่ 17 นั้น ยังมีมาตรการล็อกดาวน์อยู่ ซึ่งทีมงานยังไม่มีเอกสารขออนุญาตครบทุกคน ประกอบกับระบบราชการต่าง ๆ ก็ต้องรอทำในช่วงเวลาราชการเท่านั้น
กระทั่งทราบอีกทีตอนเช้าของวันที่ 18 ก.ค.64 ว่า “ป้ารัชนี” ได้เสียชีวิตจากการทนอาการป่วยโควิด-19 ไม่ไหวในเวลา 05.47 น. กลายเป็นว่าจากเดิมที่ตั้งใจจะเข้ามาช่วยเหลือ ก็กลายเป็นต้องเข้ามารับศพไปเผาที่วัดแทน
ล่าสุดวันที่ 19 ก.ค.64 ทีมข่าวอมรินทร์ ทีวี ได้ลงพื้นไปยังบ้านหลังดังกล่าว พบว่าห้องที่คุณป้าใช้นอนรักษาตัวและเสียชีวิต ยังคงอยู่ในสภาพเดิม ทั้งเก้าอี้ หมอน พัดลม กระดาษชำระ ขวดแอลกอฮอล์ ถังออกซิเจน ยังไม่มีการเคลื่อนย้ายใด ๆ เนื่องจากต้องรอในวันพรุ่งนี้ (20 ก.ค.64) จะมีเจ้าหน้าที่เข้ามาฉีดพ่นฆ่าเชื้อ
“คุณยูริ” หรือ “น.ส.สุวรรณี มิยากาว่า” อายุ 25 ปี หลานสาวที่คอยดูแลมาตลอดจนกระทั่งเสียชีวิต เปิดเผยว่า เดิมทีในครอบครัวมีสมาชิกทั้งหมด 5 คน โดยในบ้านอยู่ด้วยกันทั้งหมด 3 คนคือ ป้ารัชนี ผู้ตาย, นายธนบดี สวนมะพลับ น้องชาย อายุ 22 ปี และตน สาวนอีก 2 คน คือ น.ส.กันตินันท์ โชติจิรธนวัฒน์ พี่สาว อายุ 39 ปี, นายไกรลาศ ชานิคม สามีพี่สาว อายุ 41 ปี อาศัยอยู่ในคอนโดฯ ใกล้ ๆ ห่างกันประมาณ 100 เมตร
สำหรับไทม์ไลน์ก่อนที่ “ป้ารัชนี” จะเสียชีวิต มีดังต่อไปนี้
วันที่ 2 ก.ค.64 ได้ฉีดวัคซีนแอสตราเซเนกา เข็มแรก ส่วน “คุณยูริ” เดิมทีมีกำหนดฉีดวัคซีนวันที่ 7 ก.ค.64 แต่ถูกเลื่อนออกไปอย่างไม่มีกำหนด และคนอื่น ๆ อีก 3 คน ยังไม่มีกำหนด ดังนั้นทำให้มีเพียงแค่ “ป้ารัชนี” ที่ได้รับวัคซีน
วันที่ 6 ก.ค.64 เริ่มมีอาการท้องเสีย ถ่ายเป็นน้ำ นอนมากผิดปกติ แต่ครอบครัวยังคิดว่าเป็นเพราะผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีน
วันที่ 7-9 ก.ค.64 เริ่มมีอาการหนักขึ้น ถ่ายเป็นน้ำถี่ขึ้น ไม่สามารถควบคุมได้
วันที่ 10 .ค.64 ครอบครัวเอะใจถึงความผิดปกติของคุณป้า ที่นอนนานขึ้น เหนื่อยง่าย ซึ่งต่างไปจากเดิมที่มักจะเดินไปตลาด ไม่ก็เปิดยูทูบดู ทำให้ทั้ง 5 คนที่ไปมาหาสู่กัน จึงเดินทางไปตรวจหาเชื้อโควิด-19 แบบ RT-PCR ที่ห้องแล็บเอกชนแห่งหนึ่งย่านสุขุมวิท
วันที่ 13 ก.ค.64 ผลตรวจโควิด-19 ออกมา พบว่า “ป้ารัชนี” เป็นบวก พบเชื้อโควิด-19 โดยที่ไม่รู้เลยว่ารับเชื้อมาจากไหน แต่ป้ามักจะชอบไปเดินซื้อของในตลาดใกล้บ้านและชอบนั่งรถเมล์เล่น ในขณะที่อีก 4 คนเป็นลบไม่พบเชื้อ จึงทำการแยกป้าออกไปนอนในห้องเช่าโล่ง ๆ ติดกับบ้าน ซึ่งได้รับความอนุเคราะห์จากเจ้าของให้อยู่ฟรี พร้อมกันนี้คนที่เหลือก็ทำการแยกกันกิน แยกกันใช้ทันที จากเดิมที่เคยนอนห้องเดียวกัน 3 คน โดย “คุณยูริ” จะอยู่ชั้น 1 ของบ้าน และน้องชายจะอยู่ชั้น 2 ส่วนพี่สาวกับสามีก็กักตัวในคอนโดฯ แต่ทั้ง 4 คนไม่มีใครมีอาการอะไรน่าเป็นห่วง
วันที่ 14-16 ก.ค.64 ป้ารัชนียังคงมีอาการหนักขึ้น ไม่มีเรี่ยวแรง ลุกไม่ไหว เวียนหัว ปวดศีรษะ ร่างกายอ่อนเพลีย ไม่กินข้าว ต้องบังคับให้กิน แต่ก็กินได้น้อยมาก ๆ ท้องเสียตลอด เจ็บปวดตามร่างกาย
วันที่ 17 ก.ค.64 มีอาการเหมือนเดิม แต่จะหนักขึ้นตรงที่บังคับการอุจจาระไม่ได้ อุจจาระเลอะพื้น ลุกไม่ไหว ต้องใส่ผ้าอ้อมผู้ใหญ่ตลอดเวลา ช่วงเวลาประมาณ 19.00-22.20 น. เริ่มร่างกายอ่อนแรงลงเรื่อย ๆ เข้าห้องน้ำไม่ไหว ไม่มีแรง ไม่สามารถตอบสนองอะไรได้ ตาบวม หน้าบวม เหม่อลอย หายใจถี่ขึ้นร่วมกับต้องหายใจทางปาก นอนน้ำลายไหล สภาวะทิ้งตัว ต้องให้ออกซิเจน “คุณยูริ” ต้องสวมชุด PPE หน้ากากนามัย ถุงมือเพื่อเข้าไปดูอาการป้าในห้องเรื่อย ๆ ทุกชั่วโมง เพื่อจัดท่านอนให้หายใจสะดวก เพราะตลอดเวลาป้าจะดิ้นรนด้วยความทรมาน แต่อาการก็ไม่ดีขึ้น
วันที่ 18 ก.ค.64 เวลาประมาณ 02.00-03.00 น. “คุณยูริ” ก็เข้าไปดูป้าอีกรอบ พบว่าข้อมือข้างขวาของป้าสั่น 3-4 ครั้ง หายใจถี่ ไม่รู้เรื่อง จึงเอาเครื่องวัดออกซิเจนในเลือด 2 เครื่องมาวัดก็วัดไม่ได้ เพราะป้าขยับตลอด ต่อมาป้าก็เริ่มตัวเย็น จึงเอาเครื่องวัดอุณหภูมิร่างกายมาวัด พบว่าอุณหภูมิตกลงไปอยู่ที่ 34.7 ตนก็ตกใจ แต่ทำอะไรไม่ได้ จึงกลับไปที่ห้องกักตัว และดูอาการป้าผ่านกล้องวงจรปิด
เวลาประมาณ 05.00 น. ก็ตื่นมาดูภาพจากกล้องวงจรปิด พบว่าป้านอนแน่นิ่งเหมือนไม่ได้หายใจ ก็เลยเรียกผ่านกล้อง แต่ป้าก็ไม่ตอบ เวลา 05.47 น. “คุณยูริ” กับพี่สาวเข้าไปดู พบว่า “ป้ารัชนี” นอนเสียชีวิตอยู่บนพื้นในห้องที่แยกออกมารักษาตัว สภาพศพนอนคว่ำ มือ 2 ข้างยื่นไปข้างหน้า สวมเสื้อยืดแขนสั้นสีดำ สวมผ้าอ้อมผู้ใหญ่และมีผ้าห่มลายเสือวางอยู่ข้าง ๆ ช่วงบ่ายเพจเส้นด้าย ประสานรถมูลนิธิร่วมกตัญญูเข้ารับศพไปดำเนินพิธีฌาปนกิจศพที่ วัดกุนนทีรุทธาราม (วัดห้วยขวาง)
วันที่ 19 ก.ค.64 ช่วงเช้าครอบครัวไปเก็บกระดูก “ป้ารัชนี”
โดยปัจจุบัน คุณยูริ, น้องชาย, พี่สาว และแฟนพี่สาว แม้ว่าจะไม่มีเชื้อโควิด-19 แต่ก็มีความเสี่ยงสูง เนื่องจากใกล้ชิดกับผู้ป่วย จึงจำเป็นต้องกักตัวให้ครบกำหนด 14 วัน แล้วจะไปตรวจหาเชื้อโควิด-19 อีกรอบในวันที่ 24 ก.ค.64 ทั้งนี้ตลอดระยะเวลาที่รอเตียง คุณยูริได้ประสานไปยังหน่วยงานต่าง ๆ กว่า 20 แห่ง ซึ่งคำตอบที่ได้มาทั้งหมดเหมือนกันคือเตียงเต็มให้รอต่อไป ก็ทำใจรออย่างมีความหวัง ในขณะที่อีกใจหนึ่งก็เหนื่อยมาก ๆ ทรมานใจมาก ได้แต่ตั้งคำถามว่าทำไมต้องมาเจอกับภาวะแบบนี้ เพราะป้าก็ถามด้วยอาการอ่อนแรงตลอดว่า “พอจะได้เตียงบ้างไหม” ตนก็ต้องตอบเพื่อสร้างกำลังใจให้กับคุณป้าว่า “วันนี้ก็มียอดผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตเยอะนะ ไม่ได้มีแค่เรา”
กระทั่งวินาทีที่ตนเข้าไปเห็นป้านอนเสียชีวิตคาห้อง ตนก็สับสนไปหมด ได้แต่โทษตัวเองและหาข้อผิดพลาดว่าทำผิดตรงไหน การสูญเสียครั้งนี้ตนก็รู้เลยว่าความรู้สึกของคนที่พยายามช่วยผู้ป่วยเต็มที่แล้ว แต่ทำไม่ได้มันเป็นอย่างไร จึงอยากฝากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดการเรื่องเตียงให้เพียงพอ ไม่ใช่ให้ความหวังไปวัน ๆ เพราะหากมีผู้ป่วยที่อาการหนักพวกเขาจะลำบาก และที่สำคัญคืออยากให้คนที่มีอำนาจ เป็นกระบอกเสียงและรับฟังเสียงเล็ก ๆ ของชาวบ้าน
Advertisement