Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
รำลึก 1 เมษายน วันสิ้น "ครูเอื้อ สุนทรสนาน" หัวหน้าวงดนตรีสุนทราภรณ์

รำลึก 1 เมษายน วันสิ้น "ครูเอื้อ สุนทรสนาน" หัวหน้าวงดนตรีสุนทราภรณ์

1 เม.ย. 68
14:02 น.
แชร์

รำลึก 1 เมษายน วันสิ้น "เอื้อ สุนทรสนาน" หัวหน้าวงดนตรีสุนทราภรณ์ บุคลากรคนสำคัญของวงการเพลง

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2524 วงการเพลงไทยเกิดการสูญเสีย ครูเอื้อ สุนทรสนาน นักร้อง นักประพันธ์ และผู้ที่เคยเป็นหัวหน้าวงดนตรีสุนทราภรณ์ หลังตรวจพบก้อนเนื้อร้ายขนาดเท่าลูกเทนนิสที่บริเวณปอดด้านขวา ก่อนที่ท่านจะถึงแก่กรรมขณะอายุ 71 ปี เป็นความสูญเสียบุคลากรสำคัญของวงการเพลงครั้งใหญ่

ครูเอื้อเกิดเมื่อวันเสาร์ที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2453 ณ ตำบลโรงหีบ อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม มีชื่อเดิมว่า ละออ ต่อมา พ่อเปลี่ยนให้ใหม่เป็น บุญเอื้อ และได้มาเปลี่ยนอีกครั้งในสมัย จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็น เอื้อ มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน 3 คน ได้แก่ หมื่นไพเราะพจมาน (อาบ สุนทรสนาน) นางเอื้อน แสงอนันต์, และครูเอื้อ ได้รับพระราชทานนามสกุล สุนทรสนาน จากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นลำดับที่ 1978 เมื่อวันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2457

เส้นทางสู่สายดนตรี

ครูเอื้อเรียนหนังสือที่โรงเรียนวัดใหม่ราษฎร์บูรณะ ใน จ.สมุทรสงคราม ก่อนบิดาจะพาเข้ามาอยู่ในกรุงเทพ โดยมาพักอาศัยอยู่กับหมื่นไพเราะพจมาน พี่ชายซึ่งรับราชการเป็นคนพากย์โขนในกรมมหรสพ ได้เข้าเรียนที่โรงเรียนวัดระฆังโฆสิตารามจนจบชั้นประถม ซึ่งเป็นระยะเวลาเดียวกับที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงตั้งโรงเรียนพรานหลวงขึ้นที่สวนมิสกวัน และมีเปิดสอนวิชาดนตรีทุกประเภท ช่วงภาคบ่าย ครูเอื้อได้เลือกเรียนดนตรีฝรั่งตามความถนัดกับครูผู้ฝึกสอนคือ ครูโฉลก เนตตะสุต และ อาจารย์ใหญ่คือ อาจารย์พระเจนดุริยางค์ ที่เล็งเห็นว่ามีความสามารถพิเศษทางด้านดนตรี จึงให้หัดไวโอลินและแซ็กโซโฟน ทั้งยังให้เปลี่ยนมาเรียนดนตรีเต็มวัน

ด้วยความสามารถเป็นที่ประจักษ์ชัดต่อคณาจารย์ทั้งหลาย จึงได้ให้เข้ารับราชการประจำ กองเครื่องสายฝรั่งหลวงในกรมมหรสพ กระทรวงวัง รับพระราชทานยศเป็น เด็กชา และได้เลื่อนขึ้นไปเล่นวงใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ จนใน พ.ศ. 2475 ได้โอนไปรับราชการสังกัดกรมศิลปากรในสังกัดกองมหรสพ

โดยในระหว่างช่วงต้นทศวรรษ พ.ศ. 2470 ได้เริ่มกำเนิดวงดนตรีภายใต้การนำของหลวงสุขุมนัยประดิษฐ บุตรชายของ มหาอำมาตย์นายกเจ้าพระยายมราช โดยมีครูเอื้อเป็นหนึ่งในสมาชิกภายในวง ได้แสดงให้กับบริษัท ไทยฟิล์ม จำกัด ของพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล ในปี พ.ศ. 2479 แต่เมื่อบริษัทปิดตัวลง วงดนตรีตกเป็นของพระเจนดุริยางค์ (ปิติ วาทยะกร) ซึ่งเป็นผู้ควบคุมวงในขณะนั้น

ข้าราชการในกรมศิลปากร วิลาศ โอสถานนท์ อธิบดีในขณะนั้น ได้เห็นควรจะยกวงของครูเอื้อมาอยู่กรมโฆษณาการ โดยการโอนอัตรามาจากกรมศิลปากร และเปลี่ยนชื่อเป็น วงดนตรีกรมประชาสัมพันธ์ ซึ่งมีครูเอื้อเป็นหัวหน้าวงและใช้ชื่อ วงดนตรีกรมโฆษณาการ สำหรับแสดงในเวลาราชการ

เมื่อครั้งนำวงดนตรีไปแสดงที่โรงภาพยนตร์โอเดียนใน พ.ศ. 2482 สุรัฐ พุกกะเวส ซึ่งเป็นเลขานุการของโรงแรมรัตนโกสินทร์และในฐานะผู้จัด เห็นว่าเป็นการไม่เหมาะหากนำวงดนตรีของราชการไปบรรเลงในโรงภาพยนตร์เอกชน จึงหารือกันว่าควรใช้ชื่อวงเป็นอย่างอื่น จึงได้ชื่อ วงดนตรีสุนทราภรณ์ มาใช้ โดยมาจากการผสมผสานระหว่างนามสกุลของครูเอื้อและชื่อคนรักคืออาภรณ์ รวมกันแล้วก็ได้ชื่อวงว่า สุนทราภรณ์

ในชีวิตการเป็นนักดนตรี ครูเอื้อได้ฝึกหัดลูกศิษย์จนมีชื่อเสียงมากมาย อาทิ มัณฑนา โมรากุล, ล้วน ควันธรรม, เพ็ญศรี พุ่มชูศรี, วินัย จุลละบุษปะ, ศรีสุดา รัชตะวรรณ, จุรี โอศิริ, รวงทอง ทองลั่นธม, วรนุช อารีย์, รุ่งฤดี แพ่งผ่องใส, บุษยา รังสี, มาริษา อมาตยกุล, นพดฬ ชาวไร่เงิน, ศรวณี โพธิเทศ, ดาวใจ ไพจิตร และโฉมฉาย อรุณฉาน เป็นต้น

จนกระทั่งปลายปี พ.ศ. 2521 ครูเอื้อเริ่มมีอาการไข้สูงเป็นระยะ ๆ แพทย์ได้เอกซเรย์ตรวจพบก้อนเนื้อร้ายขนาดเท่าลูกเทนนิสที่บริเวณปอดด้านขวา จึงได้เริ่มรักษา แต่ก็ยังคงทำงานตามปกติ เดือนธันวาคม พ.ศ. 2523 สุขภาพของครูเอื้อทรุดลงเป็นลำดับ ก่อนจะถึงแก่กรรมในวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2524 สิริอายุ 71 ปี ครั้งนั้นพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานน้ำหลวงอาบศพและหีบทองทราย และทรงรับศพไว้ในพระบรมราชานุเคราะห์โดยตลอด และมีพิธีพระราชทานเพลิงศพ ณ เมรุด้านทิศใต้ วัดเทพศิรินทราวาสราชวรวิหาร ในวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2525

รางวัลแห่งเกียรติยศ

- ครูเอื้อได้รับโล่เกียรติยศพระราชทานในฐานะศิลปินตัวอย่าง (ผู้ประพันธ์เพลง) ในงานรางวัลแผ่นเสียงทองคำพระราชทาน ครั้งที่ 4 ประจำ พ.ศ. 2523 – 2524

- พ.ศ. 2550 กระทรวงวัฒนธรรม ได้เสนอต่อองค์การยูเนสโกในวาระครบรอบ 100 ปีชาตกาลเพื่อให้เป็นบุคคลสำคัญของโลก และได้รับการยกย่องในสาขาวัฒนธรรมดนตรีไทยสากล ใน พ.ศ. 2552

- พ.ศ. 2559 กระทรวงวัฒนธรรมได้ประกาศยกย่องเชิดชูเป็น บูรพศิลปิน สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ สาขาศิลปะการแสดง โดยมีการเชิดชูเกียรติศิลปินผู้ล่วงลับ ซึ่งมีคุณูปการต่องานด้านศิลปวัฒนธรรมของชาติอันเป็นที่ประจักษ์ต่อสังคม ควรค่าแก่การเคารพยกย่องซึ่งอนุชนรุ่นต่อมาได้พัฒนาและสืบทอดให้เจริญก้าวหน้ามาจนปัจจุบัน

Advertisement

แชร์
รำลึก 1 เมษายน วันสิ้น "ครูเอื้อ สุนทรสนาน" หัวหน้าวงดนตรีสุนทราภรณ์