ชวนย้อนไทม์ไลน์คดีนายกฯ 8 ปี เขย่าเก้าอี้ “บิ๊กตู่” สะเทือน ด้วยกติกาที่วางไว้เอง
วันนี้ (30ก.ย.) นับเป็นวันสำคัญในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทยเพราะจะเป็นวันที่ศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัยกรณีครบวาระการดำรงตำแหน่ง 8 ปี ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ซึ่งตามรัฐธรรมนูญปี 2560 กำหนดว่าสามารถดำรงตำแหน่งได้ไม่เกิน 8 ปี เพราะอาจนำไปสู่การผูกขาดอำนาจทางการเมือง ทั้งนี้เป็นที่จับตามองของสังคมว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะได้เดินหน้าไปต่อได้หรือไม่
ทีมข่าวอมรินทร์ออนไลน์ขอพาย้อนไปดูจุดเริ่มต้นของคดีซึ่งเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 17 ส.ค. ส.ส. ฝ่ายค้าน 171 คน ยื่นคำร้องต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อขอให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยการดำรงตำแหน่งนายกฯ 8 ปีของพล.อ. ประยุทธ์
22 ส.ค. คำร้องของฝ่ายค้านส่งถึงสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ
24 ส.ค. ศาลรัฐธรรมนูญมีมติ 9:0 รับคำร้องไว้วินิจฉัย และมีมติ 5:4 ให้ พล.อ. ประยุทธ์หยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าจะมีคำวินิจฉัย
1 ก.ย. สื่อหลายสำนัก อาทิ มติชน ไทยโพสต์ เครือเนชั่น รายงานว่าฝ่ายกฎหมายของ พล.อ. ประยุทธ์ส่งคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาต่อศาลแล้ว มีเนื้อหากว่า 30 หน้า
6 ก.ย. สื่อสังคมออนไลน์เผยแพร่เอกสารที่อ้างว่าเป็นความเห็นของนายมีชัย ฤชุพันธุ์ อดีตประธาน กรธ. มีเนื้อหา 3 หน้า ใจความสำคัญคือให้นับวาระดำรงตำแหน่งนายกฯ ของ พล.อ. ประยุทธ์ ตั้งแต่ 6 เม.ย. 2560 ซึ่งเป็นวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2560
7 ก.ย. เลขาธิการการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญแถลงปฏิเสธข่าวลือว่ามีการตัดสินคดีนี้แล้ว ยืนยันความเป็นอิสระของตุลาการทั้ง 9 คน พร้อมเปิดเผยว่าประธานศาลรัฐธรรมนูญกังวลใจกรณี “เอกสารหลุด” จึงสั่งตรวจสอบข้อเท็จจริง
ด้านสื่อกระแสหลัก/สื่อสังคมออนไลน์ เผยแพร่เอกสารที่อ้างว่าเป็นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาของ พล.อ. ประยุทธ์มีเนื้อหา 23 หน้า ใจความสำคัญคือการอ้างความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาคณะพิเศษ ที่มีอดีต กรธ. 7 คนรวมอยู่ด้วย โดยชี้ว่าการกำหนดวาระ 8 ปี หมายถึงนายกฯ ตามรัฐธรรมนูญ 2560 เท่านั้น นอกจากนี้ยังแจกแจงด้วยว่าความเป็นนายกฯ ของ พล.อ. ประยุทธ์ “ขาดตอน” จากวันที่รัฐธรรมนูญ 2560 บังคับใช้เมื่อ 6 เม.ย. 2560 จึงไม่อาจนับรวมระยะเวลาการเป็นนายกฯ ครั้งแรก กับการเป็นนายกฯ หลังรัฐธรรมนูญบังคับใช้ได้ ซึ่งเขาเรียกช่วงเวลานั้นว่า “เป็นการดำรงตำแหน่งตามบทเฉพาะกาล”
นอกจากนี้ ฝ่ายค้านยื่นหนังสือถึงประธานสภา ขอให้ส่งความเห็นและเอกสารหลักฐานเพิ่มเติมไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อประกอบการพิจารณาวินิจฉัยคดี “นายกฯ 8 ปี” เพื่อโต้แย้งคำชี้แจงของนายมีชัย หลัง “เอกสารหลุด” อ้างว่าบันทึกการประชุม กรธ. ครั้งที่ 500 เมื่อ 7 ก.ย. 2561 เป็นการจดบันทึกไม่ครบถ้วน ไม่สามารถนำมาอ้างอิงได้ ทว่าในบันทึกการประชุม กรธ. ครั้งที่ 501 เมื่อ 11 ก.ย. 2561 กลับมีเนื้อหารับรองการประชุมของกรธ. ครั้งที่ 500 ว่ามีความถูกต้องโดยไม่มีการแก้ไข ฝ่ายค้านจึงเห็นว่า “คำชี้แจงของนายมีชัยเข้าข่ายให้การเท็จต่อศาล”
8 ก.ย. ความเห็นและเอกสารหลักฐานเพิ่มเติมของฝ่ายค้านส่งถึงศาลรัฐธรรมนูญและมีการประชุมศาลรัฐธรรมนูญนัดพิเศษ สั่งให้เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรจัดส่งสำเนาบันทึกการประชุมและรายงานการประชุมกรธ. ครั้งที่ 501 วันที่ 11 ก.ย. 2561 ให้ศาลภายใน 13 ก.ย.
14 ก.ย. ประชุมศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาคดี “นายกฯ 8 ปี” ต่อ ก่อนกำหนดวันตัดสินคดีเป็น 30 ก.ย.
30 ก.ย. ศาลรัฐธรรมนูญนัดแถลงด้วยวาจา ปรึกษาหารือ และลงมติ และอ่านคำวินิจฉัยให้คู่กรณีฟัง เวลา15.00 น.
สิ่งที่น่าจับตา ไม่ว่าผลคำวินิจฉัยจะเป็นอย่างไรก็ตาม เส้นทางการเมืองของ พล.อ.ประยุทธ์หลังจากนี้ คงไม่ใช่เรื่องง่าย และน่าจับตาไม่แพ้กัน
Advertisement